ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยภาคประชาชน นำ “กองเรืออาสา”ช่วยน้ำท่วมกรุง
เครือข่ายองค์กรชุมชน-ประชาสังคม ในนามศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยภาคประชาชน ตั้ง “กองเรืออาสา”ช่วยชาวกรุงอ่วมน้ำท่วม ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐตั้ง “กองทุนฟื้นฟูผู้ประสบภัย”โดยขบวนชาวบ้านจัดการเอง
วันที่ 10 พ.ย.54 ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคประชาชน กรุงเทพมหานคร (ศปช.กทม.) องค์กรเฉพาะกิจที่ร่วมกันของสภาองค์กรชุมชน เอกชน ประชาสังคม และภาคราชการ แถลงข่าวกองเรืออาสาและข้อเสนอต่อรัฐบาล
นายณัชพล เกิดเกษม ผู้ประสาน ผอ.ศปช.กทม. ระบุว่าภารกิจของ ศปช.กทม.จะมุ่งประสานงานให้การช่วยเหลือเฉพาะหน้า เช่น อาหาร ที่พักพิง โดยใช้กลไก “สภาองค์กรชุมชน” ส่งเสริมชุมชนสร้างเครือข่ายเพื่อชุมชนพึ่งตนเอง จัดการตนเองได้ และจะระดมความคิดออกแบบชุมชน กทม.อนาคตเพื่ออยู่กับน้ำได้อย่างยั่งยืน โดยที่ผ่านมาได้ประสานงานและมอบสิ่งของจำเป็นให้ผู้เดือดร้อน และร่วมกับ ศปภ.จัดตั้งกองเรืออาสาใน กทม.และปริมณฑลรวม 10 พื้นที่และจะขยายให้ครบในทุกเขต พร้อมจะขยายครัวชุมชน สนับสนุนชุมชนจัดทำ EM ball และจัดทำแผนการฟื้นฟูชุมชนหลังน้ำท่วม
หลังจากพิธีการมอบเรือให้กับชุมชนทั้ง 10 เขต นายสุรศักดิ์ อินทรประสิทธิ์ ตัวแทนสมัชชาสภาองค์กรชุมชนกรุงเทพมหานคร เครือข่ายสลัมสี่ภาค สมัชชาสภาองค์กรชุมชน เครือข่ายขบวนจังหวัดกรุงเทพมหานคร และคณะประสานงานพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อม ร่วมกล่าวแถลงการณ์ข้อเสนอต่อรัฐบาล ดังนี้
สถานการณ์น้ำท่วมปัจจุบันก่อความเสียหายบริเวณกว้างในพื้นที่ภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพฯ ทำให้ประชาชนเดือดร้อนอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน วิกฤตการณ์ครั้งนี้ทำให้มองเห็นความบกพร่องของระบบ เช่น การจัดศูนย์พักพิงขาดการเตรียมความพร้อม หน่วยงานของรัฐ เช่น การไฟฟ้านครหลวงขาดระบบเตือนภัย และทำงานล่าช้า ทำให้เกิดไฟฟ้าช็อตประชาชนเสียชีวิตจำนวนมาก
การทำงานของภาครัฐมีลักษณะตั้งรับ แก้ปัญหาเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ขาดการเตรียมการและแก้ปัญหาที่ต้นตอ การให้ข้อมูลที่ไม่ทันกาล สับสนและขัดแย้งกันระหว่าง กทม.กับรัฐบาล ทำให้ประชาชนตัดสินใจล่าช้าในการอพยพ ภาครัฐทำงานแบบสั่งการละเลยเสียงเรียกร้องของประชาชน ไม่ทำความเข้าใจกับประชาชนก่อน ทำให้ภาคประชาชนไม่เชื่อมั่นภาครัฐ กลุ่มเดือดร้อนต้นน้ำก่อการประท้วง และขัดขวางทำลายเขื่อนกั้นน้ำ
ภาคประชาชนตระหนักว่า ต้องพึ่งตนเองก่อน จึงได้จัดตั้งศูนยประสานงานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคประชาชน กรุงเทพมหานคร โดยรับการสนับสนุนจากผู้บริจาคและองค์กรภาคีต่างๆ เช่น เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคม สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ นิด้า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สถาบันพัฒนาการเมือง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ คณะกรรมการการสื่อสารและโทรคมนาคมแห่งชาติ ศูนย์ป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ
ชาวกรุงเทพฯซาบซึ้งต่อชาวบ้านต่างจังหวัดที่นำกองเรือและสิ่งของที่จำเป็นมาช่วยเหลืออย่างทันที สมัชชาสภาองค์กรชุมชนกรุงเทพมหานคร ขอบคุณสมาคมทันตแพทย์แห่งประเทศไทย ซึ่งได้ร่วมกับสภาองค์กรชุมชน และเครือข่ายชุมชนจังหวัดนครราชสีมา บริจาคเรือพร้อมเครื่องยนต์ 10 ลำ ศูนย์ป้องกันภัยพิบัติแห่งชาติบริจาคน้ำมัน 15,000 ลิตร เป็นการสนับสนุนการจัดตั้งกองเรืออาสาขึ้นในพื้นที่น้ำท่วมกรุงเทพฯ
เพื่อให้มีการแก้ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นอย่างทันท่วงที และมีมาตรการเยียวยาฟื้นฟูหลังน้ำลดภาคีเครือข่ายภาคประชาชน จึงขอเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐ ดังนี้
1.ให้รัฐเยียวยาครอบครัวที่บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติภัยน้ำท่วม อาทิ ไฟฟ้าช๊อต งูพิษ จรเข้กัด รวมทั้ง
การทำอัตวิบากกรรมตนเองเนื่องจากความเครียด
2.ให้มีผู้แทนเครือข่ายภาคประชาชนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการของรัฐในการเยียวยา ฟื้นฟูจากปัญหาน้ำ
ท่วม และการวางแผนแก้ปัญหาน้ำท่วมระยะยาว
3.ให้รัฐเข้มงวดการควบคุมราคาอาหาร 16 ชนิดให้เป็นจริง รวมทั้งควบคุมราคาค่าโดยสารทั้งรถ และเรือ
ในภาวะน้ำท่วมอย่างเป็นธรรม
4.ให้มีการจัดตั้ง “กองทุนฟื้นฟูผู้ประสบภัยน้ำท่วม” โดยให้ขบวนชาวบ้านเป็นผู้เสนอแผนและจัดการเเอง
ทั้งนี้เครือข่ายภาคประชาชนจะร่วมเป็นเครือข่ายป้องกันภัยพิบัติน้ำท่วม และยืนยันที่จะใช้สิทธิพลเมืองเข้าร่วมมือกับภาครัฐ ในการเยียวยยาฟื้นฟูความเดือดร้อนของประชาชนหลังน้ำลดอย่างเหมาะสมมีความเป็นธรรม รวมทั้งการวางแผนระยะยาวเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภัยพิบัติน้ำท่วมรุนแรงขึ้นอีกในอนาคต .