บอร์ดค่าจ้างเปิดช่องเลื่อนขึ้นค่าแรง 300บ.ต้นปีหน้า - ยอดแรงงานกระทบน้ำท่วมทะลุ 1 ล้าน
ปลัดแรงงาน ชี้บอร์ดค่าจ้างเปิดช่องเลื่อนขึ้นค่าแรง 300 บาทไป 1 ม.ค.56 ตามที่เอกชนร้องขอ แต่เชื่อแค่ 1 เม.ย.55 ภาคธุรกิจก็ฟื้นตัวจากน้ำท่วมแล้ว ชี้ผลดีระยะยาวกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ ด้านรองปลัดฯเผยล่าสุดแรงงานกระทบน้ำท่วมทะลุ 1 ล้านคน คนกรุงเก่าโอดถูกเลิกจ้าง-นายจ้างจ่ายไม่ครบ
นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างกลาง (บอร์ดค่าจ้าง) เปิดเผยกรณีที่ภาคเอกชนเสนอขอเลื่อนปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ไปวันที่ 1 ม.ค.56 เพื่อให้มีเวลาฟื้นฟูกิจการจากน้ำท่วม ว่าขณะนี้ยังยืนยันว่าการปรับค่าจ้างยังเป็นไปตามที่คณะกรรมการค่าจ้างกลางมีมติให้ปรับในวันที่ 1 เม.ย.55 อย่างไรก็ตาม บอร์ดได้เปิดช่องไว้ว่าหากมีความผันผวนทางเศรษฐกิจรุนแรง ก็สามารถทบทวนมติได้ ซึ่งการพูดถึงการเลื่อนเวลาปรับค่าจ้างขั้นต่ำในขณะนี้เร็วเกินไป ควรประเมินสถานการณ์หลังจากนี้ 6 เดือน
ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า โดยส่วนตัวเชื่อว่าการเลื่อนไปวันที่ 1 เม.ย.55 ยังเป็นระยะเวลาที่เหมาะสม สถานประกอบการยังมีเวลาฟื้นฟูกิจการและปรับตัวไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ขณะเดียวกันการปรับค่าจ้างขั้นต่ำจะส่งผลดีต่อภาคธุรกิจและเศรษฐกิจประเทศในภาพรวม เพราะทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อมากขึ้น ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งระยะยาวจะเป็นผลดีต่อประเทศ
“อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าจะส่งผลกระทบ หลังจากกลางปี 55 เศรษฐกิจโลก ทั้งอเมริกา ยุโรป และจีน มีสัญญาณชะลอตัว ซึ่งจะกระทบต่อธุรกิจส่งออก และในประเทศจะต้องอาศัยกำลังซื้อภายในมากขึ้น เพราะฉะนั้นการปรับขึ้นค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาท จะช่วยกระตุ้นให้มีการบริโภคอุปโภคภายในประเทศมากขึ้น เพราะคนไทยกว่า 90% บริโภคสินค้าที่ผลิตในประเทศ” นพ.สมเกียรติ กล่าว
ด้านนางสาวส่งศรี บุญบา รองปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าตั้งแต่ 1 ต.ค.–10 พ.ย.54 พบว่ามีสถานประกอบกิจการที่ประสบอุทกภัย 27,811 แห่ง มีลูกจ้างได้รับผลกระทบจากอุทกภัย 1,003,811 คน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ขอความร่วมมือสถานประกอบการ 27,124 แห่ง ครอบคลุมลูกจ้าง 972,829 คน เพื่อขออนุญาตให้ลูกจ้างมาทำงานสาย หยุดงานโดยไม่ถือเป็นวันลา และจัดสวัสดิการเรื่องรถรับส่ง และจัดที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ยังประสานหานายจ้างที่ไม่ประสบอุทกภัยรับลูกจ้างที่ประสบอุทกภัยไปทำงานชั่วคราว ตามโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน ซึ่งมีสถานประกอบกิจการตอบรับ 504 แห่ง กว่า 62,247 อัตรา ส่วนระยะยาวกระทรวงจัดหาตำแหน่งงานว่างรองรับ 132,257 อัตรา ส่วนกรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้จัดฝึกอบรมพร้อมทำอาหารแจกจ่ายประชาชนผู้ประสบภัยแล้วจำนวน 103,016 ชุด
ด้าน นายจำลอง ชะบำรุง ผู้นำแรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและใกล้เคียง กล่าวว่าสถานการณ์น้ำท่วม 1 เดือนที่ผ่านมา มีแรงงานมาร้องขอความช่วยเหลือกว่า 6,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องถุงยังชีพมากที่สุด นอกจากนี้ยังมีการร้องเรียนและขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการถูกนายจ้างเลิกจ้าง และการจ่ายค่าแรงไม่เต็มจำนวน
ขณะที่นางปราณี ไชยเดช แรงงานจังหวัด กล่าวว่า ยังมีสถานประกอบการ 89 แห่ง ที่จ่ายเงินช่วยเหลือตั้งแต่ร้อยละ 75 ของเงินเดือนขึ้นไปให้กับลูกจ้าง แม้โรงงานจะถูกน้ำท่วม ซึ่งช่วยเหลือลูกจ้างได้ 153,667 คน แต่ยอมรับว่าขณะนี้มีสถานประกอบการ 10 แห่ง ประกาศเลิกจ้างคนงาน 3,140 คน ซึ่งแรงงานจังหวัดเตรียมเข้าไปช่วยเหลือตามกฎหมาย .