สตง.ชงยุบเลิกกองทุนฯสตรีหมื่นล.ยุค'ปู' พบพฤติการณ์เอื้อปย.มุ่งนโยบายหาเสียง
เผยรายงานผลสอบ สตง.ชงครม. 'ประยุทธ์' ปรับระบบยุบเลิกกองทุนฯสตรียุค 'ยิ่งลักษณ์' หลังพบปัญหาเพียบใช้เงินหมื่นล้านไม่คุ้มค่า ระบบตรวจสอบใช้จ่ายเงินหละหลวม แถมมีพฤติการณ์เอื้อประโยชน์ เพิ่มภาระหนี้สินประเทศ มุ่งเน้นตอบสนองนโยบายการหาเสียงพรรคการเมืองมากกว่า
จากกรณี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 ซึ่งมีสาระสำคัญให้สํานักงานคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติ (สกพส.) ไปอยู่ในความดูแลของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และมีการเผยแพร่อย่างเป็นทางการในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2558 ที่ผ่านมา
(อ่านประกอบ : เผยแพร่ประกาศ‘บิ๊กตู่’ โอนกองทุนพัฒนาสตรี ยุค‘ปู’ ไปสังกัดกรมพัฒนาชุมชน)
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบการดำเนินงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีสำนักนายกรัฐมนตรี ที่จัดตั้งขึ้นในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ช่วงปี 2555-2557 โดยได้รับงบประมาณทั้งสิ้นเป็นเงิน 10,111.06 ล้านบาท พบข้อสังเกตสำคัญ 3 ประการ คือ 1.การจัดสรรเงินของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีไม่ตอบสนองต่อสภาพปัญหาที่เป็นเหตุผลความจำเป็นในการจัดตั้งกองทุนฯ 2. การดำเนินโครงการที่ผ่านการพิจารณาและอนุมัติจ่ายเงินสนับสนุนจากคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัด ส่วนใหญ่ไม่ประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกองทุนฯ 3. การบริหารจัดการเงินกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีของคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดหรือตำบล ไม่สอดคล้องตามระเบียบ ประกาศที่เกี่ยวข้องหรือไม่รัดกุม
สตง.ระบุว่า จากการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินในการดำเนินโครงการตามกิจกรรมและรายการใช้จ่ายเงินตามแผนงานโครงการที่ได้รับอนุมัติจาก คณะกรรมการก่องทุนฯ สตรีจังหวัด ( คกส.จ.) 13 จังหวัด ของกลุ่มสมาชิกสตรี จำนวน 133 กลุ่ม/โครงการ จำนวนเงิน 14.25 ล้านบาท ปรากฏว่าการดำเนินโครงการของกลุ่มสมาชิกสตรีส่วนใหญ่จำนวน 132 กลุ่ม/โครงการ คิดเป็นร้อยละ 99.25 ของโครงการที่ตรวจสอบ ไม่ประสบผลสำเร็จหรือไม่สามารถตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ ได้อย่างเป็นรูปธรรมหรือไม่มีความยั่งยืน
ขณะที่ผลจากการตรวจสอบการดำเนินงานของ คกส.จ. จำนวน 13 จังหวัด และ คณะกรรมการก่องทุนฯ สตรีตำบล (คกส.ต.) จำนวน 48 ตำบล พบว่า การพิจารณาจัดสรรเงินสนับสนุนโครงการที่สมาชิกขอรับการสนับสนุนไม่เหมาะสมหรือไม่เป็นไปตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยการพิจารณาและอนุมัติไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกันหรือมีพฤติกรรมที่น่าเชื่อได้ว่าเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในการเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเอง หรือผู้หนึ่งผู้ใด หรือพวกพ้องการใช้จ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน การส่งคืนเงิน มีข้อบกพร่อง เช่น การส่งใช้เงินคืนคกส.จ. ไม่เป็นไปตามวิธีการที่กำหนด ไม่จัดทำบัญชีกองทุนฯ หรือจัดทำแต่ไม่สามารถตรวจสอบยืนยันยอดการรับจ่ายเงินกองทุนฯ กับหลักฐานการรับจ่ายได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน หรือไม่มีการจัดเก็บหลักฐานหรือไม่มีหลักฐานการใช้จ่ายเงินให้ตรวจสอบ
นอกจากนี้ การจัดการข้อมูลหนี้และสัญญา การติดตามทวงถามหนี้ยังไม่เป็นระบบ เช่น ไม่มีการจัดทำฐานข้อมูลลูกหนี้ หรือจัดทำแต่ไม่ครบถ้วนเป็นปัจจุบันและไม่เป็นระบบที่สามารถใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการหรือทวงถามหนี้ได้ขาดการติดตาม ประเมินผลการดำเนินงานในทุกระดับ คกส.ต. ไม่มีการติดตาม ควบคุมกำกับดูแลสมาชิกที่ดำเนินโครงการในพื้นที่จริงอย่างต่อเนื่องจริงจัง ทำให้การใช้จ่ายเงินแผ่นดินจำนวนมากยังไม่เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า บางส่วนเกิดความสูญเปล่าที่ชัดเจน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สตง. ได้เสนอแนะแนวให้มีการทบทวนการจัดสรรเงินใหม่ และวางมาตรการควบคุมดูแลให้เป็นไปตามระเบียบโดยเคร่งครัด ส่วนกรณีพบว่า คกส.จ. บางรายมีพฤติกรรมที่น่าเชื่อได้ว่าเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในการเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ ได้แก่ การพิจารณาและอนุมัติเงินทุนหมุนเวียนสนับสนุนโครงการบ้านพักริมน้ำ หมู่ 9 ต.นายูง อ.นายูง จ.อุดรธานี และโครงการร้านจำหน่ายกาแฟสดและกาแฟโบราณ ต.คันโช้ง อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก ให้ประธานกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติสั่งการให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง และดำเนินการตามควรแก่กรณี รวมทั้งกำหนดมาตรการป้องกันและควบคุมมิให้พฤติการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีก
กรณีพบว่า การดำเนินโครงการของกลุ่มสมาชิกสตรีบางกลุ่ม/โครงการ มีการนำเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนฯ ไปแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนหรือไม่ได้นำเงินไปใช้ตามแผนงาน กิจกรรมหรือรายการที่กำหนดไว้ ให้ประธานกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติ สั่งการให้มีการติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามควรแก่กรณี รวมทั้งกำหนดมาตรการควบคุม ป้องกัน โดยอาจมีบทลงโทษที่เหมาะสม เพื่อให้มีสภาพบังคับและบังเกิดผลในเชิงป้องปราม และต้องประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มสมาชิกสตรีทราบอย่างทั่วถึง
สตง.ยังระบุด้วยว่า จากการตรวจสอบผลการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ยังไม่ได้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพ ประสิทธิผลในการใช้จ่ายเงินจำนวนมากให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า และมิได้เป็นไปเพื่อพัฒนาหญิงและชายให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับศักดิ์ศรี และคุณค่าความเป็นมนุษย์ และความเสมอภาคระหว่างหญิงและชาย ที่สำคัญ กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย โดยจัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นระเบียบภายในของหน่วยราชการโดยเฉพาะ
ดังนั้น เมื่อมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาบริหารจัดการกองทุนฯ ทั้งส่วนกลาง ระดับจังหวัด ระดับตำบล หากมีการปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบที่กำหนดไว้ หรือมีพฤติกรรมที่ส่อไปในทางที่มิชอบ และเกิดความเสียหายการดำเนินการจึงยังไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินการกับบุคคลหรือคณะบุคคลดังกล่าวได้อย่างไร หรือไม่สามารถดำเนินการได้อย่างทันท่วงที ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความเสียหายในการใช้จ่ายเงินงบประมาณจำนวนมาก ที่สำคัญงบประมาณแผ่นดินที่กองทุนฯ ได้รับการจัดสรรมากกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาท แต่การพิจารณาจัดสรรมิได้ผ่านกระบวนการพิจารณาของรัฐสภาโดยรัฐบาลที่ผ่านมาใช้จ่ายจากงบกลางซึ่งกระทำได้ง่าย การใช้จ่ายเงินจึงมีความเสี่ยงที่อาจถูกมองว่าเป็นการดำเนินการที่ตอบสนองนโยบายการหาเสียงของพรรคการเมืองมากกว่าเป็นไปเพื่อส่งเสริมโอกาสและเสริมสร้างศักยภาพของสตรีให้ได้รับความเป็นธรรม ให้มีความเท่าเทียมกันในโอกาส ให้ได้รับการพิทักษ์คุ้มครองอย่างแท้จริง
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน มีข้อเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาทบทวนเหตุผล ความจำเป็น และความเหมาะสมในการจัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ดังนี้
1. พิจารณาทบทวนความเหมาะสมในการคงอยู่ของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี โดยอย่างน้อยควรพิจารณาถึงเหตุผล ความจำเป็น ความซ้ำซ้อนของกองทุนหมุนเวียน องค์สตรีที่มีอยู่แล้ว จุดอ่อนจุดแข็ง ผลสำเร็จจากการดำเนินงานหรือการบริหารจัดการกองทุนฯ ความคุ้มค่าในการใช้จ่ายเงินแผ่นดินจำนวนมากกับประโยชน์ที่ได้รับที่ผ่านมา โดยให้นำรายงานการตรวจสอบผลการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีของ สตง. ไปประกอบการพิจารณาเป็นสำคัญ
2. กรณีพิจารณาทบทวน เหตุผลความจำเป็นแล้ว เห็นว่าการแก้ไขปัญหาสตรีอันสืบเนื่องจากการถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว การขาดโอกาสในสังคม การถูกเลือกปฏิบัติ ยังจำเป็นต้องมีการดำเนินการต่อไป และสมควรดำเนินการให้ตอบสนองต่อเหตุผลความจำเป็นดังกล่าวอย่างต่อเนื่องจริงจัง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเห็นควรยุบเลิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีที่จัดตั้งขึ้นโดยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พ.ศ. 2555 อันถือเป็นระเบียบปฏิบัติภายในหน่วยงานเสียก่อน เนื่องจากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของกองทุนฯ มิได้ตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาสตรีอันสืบเนื่องจากการถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว การขาดโอกาสในสังคมการถูกเลือกปฏิบัติ และไม่มีแนวโน้มว่าจะสามารถยกระดับและเสริมศักยภาพสตรีในทุกมิติให้เป็นไปอย่างเป็นระบบได้ ที่สำคัญได้ตรวจพบความเสียหายบางส่วนซึ่งเกิดจากข้อบกพร่องในการกำกับดูแลการนำเงินไปใช้ อันเป็นความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดผลเสียต่อการใช้จ่ายเงินงบประมาณต่อไปอีกเป็นจำนวนมาก รวมทั้งหากกองทุนฯ มีบทบาทเพียงเป็นแหล่งเงินกู้ของสตรีเพื่อนำเงินกู้ไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันมีสถาบันการเงินหรือกองทุนหลายแห่ง เช่น กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง สามารถรองรับและสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้สตรีได้อยู่แล้ว กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีที่มีในปัจจุบันจึงไม่มีความจำเป็น
หลังจากนั้นจึงเริ่มกระบวนการใหม่ โดยอาจจัดตั้งเป็นกองทุนหรือองค์กรในกระทรวงที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขอจัดตั้ง การดำเนินงาน และการประเมินผลการดำเนินการทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2557 หรือตราเป็นพระราชบัญญัติ เพื่อให้ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะองค์กรสตรีได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น พิจารณากลั่นกรอง อย่างละเอียดรอบคอบและการพิจารณางบประมาณสนับสนุนจะได้ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา
ทั้งนี้ การจัดตั้งกองทุนหรือองค์กรที่เกี่ยวกับการพัฒนาบทบาทสตรีขึ้นใหม่ ควรเป็นไปในลักษณะการต่อยอดจากองค์กรสตรีที่มีอยู่แล้วซึ่งทำงานด้วยจิตอาสาไม่มีค่าตอบแทน โดยอาจบูรณาการงานพัฒนาสตรีของกรมการพัฒนาชุมชนเข้ากับงานพัฒนาศักยภาพสตรีของสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ซึ่งเห็นว่าองค์กรสตรีของทั้ง 2 ส่วนงานมีประสบการณ์ ความรู้ ความเข้าใจในแนวทางการพัฒนาศักยภาพและบทบาทของสตรีหรือองค์กรสตรี มากกว่าคณะกรรมการระดับต่าง ๆ ของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ที่สำคัญที่สุดการดำเนินการในลักษณะดังกล่าวจะส่งผลทั้งการประหยัดงบประมาณ บุคลากร วัสดุอุปกรณ์ และระยะเวลาและเป็นการคงไว้ซึ่งการมีจิตอาสาของสตรีส่วนหนึ่งที่เสียสละเข้ามาทำงานโดยไม่หวังค่าตอบแทน ซึ่งเป็นค่านิยมที่ดี มิให้เสียไปด้วยการนำเงินและผลประโยชน์เข้ามาเป็นแรงจูงใจหรือเป็นตัวตั้ง จนนำไปสู่ความขัดแย้ง สำหรับการสนับสนุนงบประมาณควรเป็นไปในจำนวนที่เหมาะสม แต่ต้องเป็นไปในลักษณะที่ใช้เงินเป็นเครื่องมือในการพัฒนาโดยมีสตรีหรือองค์กรสตรีเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช้เงินเป็นตัวตั้งหรือเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาอย่างที่ผ่านมา
(อ่านประกอบ : เปิดรายงานสตง.แจงยิบ สารพัดปัญหากองทุนฯสตรี ยุคปู ผลาญงบหมื่นล.)