31 ต.ค.วันออมแห่งชาติ เลขาธิการมส.ผส.ระบุมีแรงงานนอกระบบ 2 ใน 3 ไม่มีหลักประกันรายได้
31 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันออมแห่งชาติ เลขาธิการมส.ผส. ชวนสมัครกองทุน กอช.สร้างหลักประกันรายได้ด้วยตนเอง หลังพบแรงงานนอกระบบในไทยมากถึง 2 ใน 3 ไม่หลักประกันนอกจากเบี้ยยังชีพ
พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) กล่าวว่า เนื่องจากวันที่ 31 ตุลาคมของทุกปี ได้ถูกระบุให้เป็นวันออมแห่งชาติ จึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนวางแผนการออมให้กับตนเองตั้งแต่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาวเพื่อที่เมื่อเราถึงวัยชราจะได้มีเงินไว้ใช้ไม่ขัดสน โดยสามารถเลือกออมให้กับตนเองได้ในหลายรูปแบบ โดยกองทุนการออมแห่งชาติที่รัฐบาลได้ประกาศใช้อย่างเป็นรูปแบบเมื่อวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมานั้นเป็นระบบการสร้างหลักประกันรายได้ให้กับคนไทยในวัยแรงงานที่ยังอยู่นอกระบบหลักประกันรายได้หรือระบบบำเหน็จบำนาญทั้งปวงให้กับคนไทยทุกคนในอีกรูปแบบหนึ่งด้วย
เลขาธิการ มส.ผส. กลาวอีกว่า ปัจจุบันคนที่อยู่ในแรงงานนอกระบบในประเทศไทยนั้นมีจำนวนมากถึง 2 ใน 3 ของจำนวนประชากรวัยแรงงาน ซึ่งในอดีตแรงงานเหล่านี้ไม่หลักประกันใด ๆ นอกจากเบี้ยยังชีพที่เป็นเบาะรองซับสุดท้ายที่รัฐจะช่วยทำให้เกิดคุณภาพชีวิตเมื่อยามที่ไม่มีรายได้ โดยเมื่อมีการเปิดกองทุนการออมแห่งชาติขึ้นมานั้นก็จะเป็นกองทุนที่จะเข้าไปเสริมให้แรงงานนอกระบบมีหลักประกันรายได้มากกว่าเบี้ยยังชีพที่จะต้องได้รับเพื่อยกระดับของการดำรงชีวิตอยู่เมื่อไม่ได้ทำงานและไม่มีรายได้แล้ว นี่คือหลักปรัชญาของการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ผู้สูงอายุแห่งชาติ ว่า คนที่เป็นผู้สูงวัยในวัยเกษียณแล้วจะต้องมีหลักประกันรายได้และจะต้องมีหลักประกันในการดูแลตนเองจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต
พญ.ลัดดา กล่าวต่อว่า เมื่อเราเป็นสังคมสูงอายุเต็มรูปแบบ นอกจากการพึ่งตนเองการพึ่งครอบครัวหรือว่ารัฐแล้ว การพึ่งตนเองจะต้องเป็นหลักที่สำคัญที่สุด ซึ่งหลักประกันรายได้ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นในช่วงที่ถึงวัยชราแล้ว จะต้องเกิดจากการสะสมการเก็บออมและการบริหารจัดการให้มีผลประโยชน์งอกเงยขึ้นมาตั้งแต่ในช่วงวัยแรงงานเพื่อที่จะทำให้มูลค่าของทรัพย์สินเงินทองที่ออมไว้มีจำนวนเติบโตขึ้นเพียงพอที่จะดูแลจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต โดยรูปแบบของกองทุนการออมแห่งชาติจะเข้ามาสนับสนุนการออมของแรงงานนอกระบบให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
"มีหลายฝ่ายที่กังวลถึงรูปแบบการบริหารและการดำเนินงานของกองทุนการออมแห่งชาติว่าจะเป็นไปในทิศทางใดในอนาคต คิดว่าในอนาคตกองทุนการออมแห่งชาติไม่น่ามีปัญหาเพราะวิธีการออกแบบกองทุนการออมแห่งชาติแตกต่างจากกองทุนประกันสังคม ซึ่งกองทุนประกันสังคมนั้นจะมีลักษณะเหมือนขันที่ทุกคนใส่เงินลงมาในขัน คนรุ่นใหม่ก็ใส่ลงมาในขันและคนที่เกษียณแล้วก็ล้วงเงินในขันนี้ออกไป แต่กองทุนการออมแห่งชาติออกแบบเป็นบัญชีรายตัว บัญชีใครบัญชีมัน ออกมาก็เป็นบัญชีของตนเองเหมือนบัญชีธนาคารเมื่อเราออมเงินเยอะเราก็จะมีเงินเยอะ แล้วก็จะนำเงินมาหมุนเวียนเพื่อที่จะจัดสรรให้สมาชิกได้บำนาญเมื่อถึงอายุ 60 ปีขึ้นไป และเป้าของกองทุนนั้นตั้งเกณฑ์ของอายุที่ต้องดูแลไว้ 80 ปี และหากสมาชิกอายุ 80 ปีคนใดยังมีชีวิตอยู่รัฐก็รับหน้าที่ดูแลตรงจุดนี้จนกว่าที่ผู้ออมจะเสียชีวิต แต่คนที่เสียชีวิตก่อนทายาทก็จะสามารถรับเงินในส่วนของตนเองไป คนที่เสียชีวิตแล้วก็ไปเกื้อหนุนคนที่เสียชีวิตช้า"
พญ.ลัดดา กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ข้าราชการและระบบประกันสังคมจะมีระบบมารองรับเมื่อสมาชิกไม่สามารถทำงานหารายได้ได้ แต่คนไทยที่เหลืออีก 2 ใน 3 นั้นไม่มีหลักประกันใดๆ ก็ต้องไปดิ้นรนขวนขวายหาเงินเลี้ยงชีพ
"พวกเราตัวแทนจากหลากหลายฝ่ายจึงคิดว่าควรจะมีสวัสดิการเกิดขึ้นเพื่อรองรับคนที่ไม่มีระบบใดๆรองรับ ซึ่งระบบสวัสดิการแบบนี้ต้องสร้างขึ้นมาตั้งแต่ที่ยังทำงานได้ ดังนั้นหากรัฐไม่จัดระบบต่างๆ ก็จะยังอยู่ตามอัตภาพซึ่งรัฐต้องยื่นมือเข้ามาจัดการในการที่จะทำให้ประชาชนสามารถที่จะสร้างหลักประกันได้ด้วยตนเอง ก็จะทำให้ทุกคนมีระบบหลักประกันรายได้ถ้วนหน้าและจะทำให้ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมไทยลดลงด้วย และสำหรับเงินออมที่สมาชิกจะได้มากหรือน้อยนั้นก็จะขึ้นอยู่กับศักยภาพและวินัยในการเก็บออมของสมาชิกเองด้วย"
ส่วนประเด็นเรื่องแรงจูงใจสำหรับแรงงานนอกระบบนั้น พญ.ลัดดา กล่าวว่า จะแตกต่างจากแรงงานในระบบที่มีระบบเงินเดือนที่แน่ชัด เพราะแรงงานในระบบนั้นกองทุนประกันสังคมก็จะสามารถหักเงินได้ทุกเดือนจากเงินเดือนที่เขาได้รับ แต่สำหรับแรงงานนอกระบบที่เป็นอาชีพอิสระที่รายได้ไม่แน่นอน ระบบการออมของกองทุนการออมแห่งชาติก็จะมีความยืดหยุ่นมากพอที่จะทำให้สมาชิกของกองทุนไม่ต้องออมต่อเนื่องก็ได้ แต่ทันทีที่มีการออมก็จะมีการเติมเงินซึ่งเป็นเงินสมทบจากรัฐ ซึ่งเหมือนเป็นการให้รางวัลสำหรับคนออมเพื่อที่จะสร้างหลักประกันร่วมด้วยช่วยกันระหว่างตนเองและรัฐ ก็จะทำให้สุดท้ายสมาชิกจะมีเงินออมหลังเกษียณที่จะจัดสรร ซึ่งต่างจากเงินที่นำไปฝากธนาคาร
"เมื่อมีระบบการบริหารจัดการงานของกองทุนการออมแห่งชาติมารองรับก็ทำให้เกิดการรันตีว่า เมื่อไม่มีรายได้เราจะมีเงินออมจากกองทุนการออมแห่งชาติมาดูแลเหมือนเป็นลูกหลานที่จะดูแลเราตลอดชีวิตได้”เลขาธิการ มส.ผส. กล่าว
ที่มาภาพ:http://www.thaitgri.org/index.php/public-shared/featured-me/296-2015-05-05-07-31-43