สถาบันอนาคตไทยศึกษา เปิดรายงานยันชัดกทม.ทุ่มงบสูงในระบบขนส่งที่คนใช้น้อย
สถาบันอนาคตไทยศึกษา แถลงผลการศึกษา “10 ข้อเท็จจริงชีวิตคนกรุงเทพ” พบสารพัดปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตคนเมือง ชี้รถติด เพราะแก้ปัญหาแบบแยกส่วน แถมทุ่มงบไปกับแอร์พอร์ตลิงค์ บีอาร์ที ส่วนเรือด่วนเจ้าพระยา เรือคลองแสนแสบ คนใช้เยอะกลับไม่ค่อยลงทุน
วันที่ 30 ตุลาคม สถาบันอนาคตไทยศึกษา จัดแถลงผลการศึกษาในหัวข้อ “10 ข้อเท็จจริงชีวิตคนกรุงเทพ” ณ สถาบันอนาคตไทยศึกษา ห้อง 2407 ชั้น 24 อาคารดิออฟฟิศเศส แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งได้รวบรวมข้อเท็จจริงที่น่าสนใจเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตคนกรุงเทพ รวมทั้งปัญหาการบริหารจัดการที่เป็นอุปสรรคต่อการปรับปรุงคุณภาพชีวิตคน
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา กล่าวถึงที่มาของรายงานฉบับนี้ว่า มีจุดประสงค์เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการถกเถียงให้อยู่บนฐานของข้อเท็จจริง และก่อให้เกิดข้อเสนอแนะทางนโยบายที่เป็นประโยชน์กับการปรับปรุงคุณภาพชีวิตคนกรุงเทพ การตรวจสอบนโยบายที่ผ่านมา ส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่รัฐบาลกลาง ส่วนท้องถิ่นไม่ค่อยมีการตรวจสอบหรือประเมินผลนโยบาย รวมถึงมาตรการต่างๆ ที่ดำเนินการไป ทั้งๆ ที่กระทบผู้คนมากกว่านโยบายระดับมหภาค
“ขณะที่การประเมิน ทั้งจากนิตยสารต่างๆ ความน่าท่องเที่ยว กรุงเทพมหานครจะติดอันดับเสมอ ขณะที่ความน่าอยู่กลับอยู่อันดังรั้งท้าย จึงเกิดคำถามทำไม กรุงเทพเป็นเมืองน่าเที่ยว แต่ทำไมไม่น่าอยู่ แล้วทำอย่างไรบ้างให้กรุงเทพน่าอยู่กว่านี้”
ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวอีกว่า กรุงเทพมีความพิเศษกว่าจังหวัดอื่นๆ ควรเป็นแบบอย่างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในด้านความโปร่งใส ตรวจสอบได้ รวมถึงเรื่องการรับฟังเสียงความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เพราะเขาจะรู้ดีสุดปัญหาอยู่ตรงไหน ไม่ควรคิดแทนให้
“โดยปกติเรามักหวังหน่วยงานไปตรวจสอบภาครัฐ คือภาครัฐเอง เช่น สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แต่กลไกที่เปิดให้ผู้มีส่วนได้เสีย ร่วมตรวจสอบจะมีประสิทธิผลมากกว่า”
ด้านนางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ผู้จัดการฝ่ายวิจัย สถาบันอนาคตไทยศึกษา กล่าวถึงคุณภาพชีวิตที่คนกรุงเทพต้องเจอ มีตั้งแต่เช้ายันค่ำ โดยเริ่มจากปัญหารถติด ทำให้คนกรุงเทพต้องใช้เวลาเดินทางไม่ต่ำกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน อัตราความเร็วเฉลี่ยของรถยนต์ที่วิ่งบนถนนสายหลักของกรุงเทพ ในตอนเช้า อยู่ที่ 16 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือเท่ากับความเร็วของรถจักรยานปั่นในเมือง
สาเหตุที่แก้ปัญหาจราจรในกรุงเทพไม่ได้ นักวิจัย กล่าวว่า มีถึง 37 หน่วยงานทำงานเกี่ยวข้องกับจราจร บางครั้งก็ทำงานทับซ้อนกัน หรือไม่ก็ต่างคนต่างทำ ยกตัวอย่าง แค่เรื่องถนนอย่างเดียว มีทั้งกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท ส่วนกรุงเทพมหานครทำหน้าที่ซ่อมแซมถนน แม้แต่เรื่องสัญญาณไฟจราจร เป็นหน้าที่กรุงเทพมหานครติดตั้ง ซ่อมแซม บำรุงรักษา แต่ตำรวจจราจรเป็นผู้ควบคุมสัญญาณ ทำให้การแก้ไขปัญหาบางครั้งไม่ได้สอดคล้องกับปัญหาจราจร
ส่วนการลงทุนในระบบขนส่งสาธารณะ นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า จากรายงานฉบับนี้ที่พบคือ มีการลงทุนในระบบขนส่งมวลชนที่คนใช้ไม่มาก เช่น แอร์พอร์ตลิงค์ ลงทุน 3.3 หมื่นล้านบาท มีผู้โดยสารปีละ 17 ล้านคน ขณะที่ขบวนรถด่วน BRT ลงทุน 2.8 พันล้านบาท มีผู้โดยสาร 6 ล้านคนต่อปี เมื่อเทียบกับคนที่โดยสารเรือด่วนเจ้าพระยา และเรือคลองแสนแสบ มีมากถึง 29 ล้านคนต่อปี ดังนั้นการตัดสินใจลงทุนด้านระบบขนส่งมวลชนแต่ละอย่าง ยังไม่ได้ใช้ข้อมูลเป็นฐานในการตัดสินใจ
“ถ้ารถติดมาก ควรจะเดินแต่ทางเท้าในกรุงเทพ เดินลำบากเต็มไปด้วยแผงลอย ทั้งๆ ที่เรามีเจ้าหน้าที่เทศกิจ 3,200 นาย มากพอกระจายตามพื้นที่ได้ถึง 2 คนต่อ 1 ตารางกิโลเมตร”นางสาวศิริกัญญา กล่าว และว่า รายงานนี้จึงตั้งคำถามว่า ในย่านธุรกิจใจกลางกรุงเทพ พนักงานออฟฟิสอาจไม่ได้มีรายได้มากพอจะรับประทานอาหารในห้างสรรพสินค้า บางครั้งต้องออกมาเพิ่งร้านข้าวแกงแผงลอยข้างทาง ที่เป็นเสมือนสวัสดิการคนยากคอยบริการอาหารราคาถูก ทำไมเราไม่จัดสถานที่สำหรับแผงลอยได้ขายอย่างเป็นกิจลักษณะ เป็นระเบียบมากกว่านี้
นอกจากนี้ จากตัวเลขกรุงเทพมหานคร พบมีป้ายโฆษณากว่า 100,000 ป้ายต่อปี เฉพาะป้ายบิลบอร์ดมีราว 1,000 ป้ายทั่วประเทศ รวมถึงเป็นป้ายโฆษณาของกรุงเทพเอง ขณะที่การเก็บภาษีป้ายโฆษณาเหล่านั้น กรุงเทพมหานครเก็บภาษีป้ายได้เพียง 778 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งหากสามารถตัดงบประชาสัมพันธ์ของกรุงเทพเองลงได้ปีละ 377 ล้านบาท ก็สามารถนำไปสร้างจุดบริการด่วนมหานครได้ถึง 100 แห่ง หรือจ้างพนักงานกวาดถนนได้ถึง 3,500 คนในแต่ละปี
พร้อมกันนี้ ในรายงาน ยังพบว่า ชีวิตในกรุงเทพมหานครแพงจนคนต้องออกไปอยู่ชานเมืองมากขึ้น ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางยิ่งมากขึ้น ค่าโดยสารรถไฟฟ้านั้นแพงกว่าค่ารถโดยสารรถไฟในเมืองอื่นๆ เช่น โตเกียว ฮ่องกง และเซี่ยงไฮ้ เมื่อเทียบกับรายได้และค่าครองชีพ
ส่วนพื้นที่สาธารณะที่มีน้อย ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่กรุงเทพมหานครน่าเที่ยว คือมีแหล่งช้อปปิ้งมากมาย แต่กลับขาดพื้นที่ให้คนเมืองได้พักผ่อนนอกบ้าน สวนสาธารณะในกรุงเทพมหานครมีพื้นที่ที่คนเข้าถึงได้และใช้ได้จริง เฉลี่ย 2 ตารางเมตรต่อคนเท่านั้น คิดเป็นครึ่งหนึ่งของที่กรุงเทพมหานครประกาศไว้
เมื่อดูที่กำลังคนและงบประมาณ นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้รับงบประมาณ ปีละ 8 หมื่นล้านบาท มีข้าราชการและลูกจ้างกว่า 97,000 คน คิดเป็น 2 เท่าของจำนวนเจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นของโซล ประเทศเกาหลีใต้ และ 1.5 เท่าของจากาต้า ประเทศอินโดนีเซีย ฉะนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นและแก้ไม่ได้น่าจะเกิดจากการบริหารจัดการ
เมื่อดูเรื่องของการศึกษา ผลการดำเนินการงานโรงเรียนในสังกัดกทม. 438 แห่ง มีครูสังกัดประมาณ 14,000 คน ในรายงาน ยังพบว่า ผลการเรียนของเด็กนักเรียนในสังกัดกทม.สู้เด็กจากโรงเรียนสังกัดเทศบาล อบต.ทั่วประเทศไม่ได้ และขณะที่ผลการเรียนเด็กเป็นแบบนี้ รวมถึงคุณภาพชีวิตดานอื่นๆ เป็นแบบนี้ หน่วยงานของสังกัดกรุงเทพมหานคร กลับผ่านการประเมินผลการปฎิบัติราชการอยู่ในระดับดีมาก ได้รับการจัดสรรงบโบนัส 2.3 พันล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีการจัดสรรงบประมาณ 200 ล้านบาทต่อปี ในการจัดอบรมเจ้าหน้าที่ ซึ่งรวมงบดูงานทั้งในและต่างประเทศ 66 ล้านบาท
ที่สำคัญ รายงานชิ้นนี้ยังพบด้วยว่า ค่าก่อสร้างอาคารศาลาว่าการกทม. 2 สูง 37 ชั้น ดำเนินการมากว่า 20 ปีแล้ว ก็ยังไม่พร้อมใช้งาน โดยมีการจัดสรรงบประมาณก่อสร้างทั้งหมด 3 อาคาร รวมเป็นเงิน 9,957 ล้านบาท สำหรับพื้นที่ใช้สอย 97,000 ตารางเมตร เฉลี่ย 103,717 บาทต่อตารางเมตรพื้นที่ใช้สอย เรียกว่า สูงกว่ามูลค่าการก่อสร้างโครงการอาคารมหานคร ตึกที่สูงที่สุดในกรุงเทพ