ใต้ป่วนหนักหลังบีอาร์เอ็นเปิดตัว? จับตาพูดคุยสันติสุขเมื่อมาเลย์ไร้เอกภาพ
สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อค่ำวันที่ 29 ตุลาคม 2558 นับเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ผู้ก่อการสามารถก่อเหตุรุนแรงได้พร้อมกันหลายอำเภอ มีบางเหตุการณ์ที่เกิดข้ามจังหวัด แต่ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดยะลา
ในความรู้สึกของคนทั่วไปที่ไม่ใช่คนในพื้นที่ และไม่ได้ติดตามข่าวสารจากชายแดนใต้อย่างเกาะติด อาจรู้สึกว่าสถานการณ์ในภาพรวมดูรุนแรงขึ้นในช่วงหลัง ซึ่งก็มีส่วนจริงหากพิจารณาในเชิงสถิติเหตุการณ์
ทว่าหากพิจารณาในรายละเอียดแล้ว พื้นที่ชายแดนใต้ยังคงมีความรุนแรงหล่อเลี้ยงอยู่เกือบตลอดเวลา บางส่วนที่ไม่ใช่เหตุลอบวางระเบิด แต่เป็นเหตุการณ์ประเภทยิงรายวัน ดูจะสะท้อนปัญหาอื่นๆ ที่นอกเหนือจากแนวคิดแบ่งแยกดินแดน เช่น อิทธิพลมืดผิดกฎหมาย การตั้งกลุ่มแก๊งในลักษณะโจรอิสระ หรือปัญหายาเสพติดที่ระบาดอย่างหนัก
กระนั้นก็ตามก็ต้องยอมรับว่า เหตุรุนแรงในลักษณะที่สะท้อนแนวคิดแบ่งแยกดินแดน ต่อต้านรัฐไทย หรือที่เรียกกันว่า “เหตุความมั่นคง” นั้น เกิดถี่ขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลังจากมีความเคลื่อนไหวของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่อ้างว่าเป็นแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น ออกมาแสดงท่าทีเรื่องการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งรัฐบาลไทยจัดขึ้นภายใต้การอำนวยความสะดวกของมาเลเซีย แต่บีอาร์เอ็นไม่ได้เข้าร่วมอย่างเป็นทางการ
ความเคลื่อนไหวหลักๆ มี 2 ครั้ง คือการเผยแพร่คลิปวีดีโอผ่านเว็บไซต์ YouTube เมื่อวันที่ 8 กันยายน และออกแถลงการณ์เป็นภาษาอังกฤษ พร้อมกับให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศ รวมทั้งสื่อภาษาอังกฤษของไทย เผยแพร่เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม
สาระสำคัญของการออกมาสื่อสาร ก็คือ การประกาศจุดยืนดำรงแนวคิด แนวทาง “ปลดปล่อยปาตานี” ซึ่งจะเรียกว่าเป้าหมายสุดท้ายยังคงเป็น เอกราช อิสรภาพ หรือเสรีภาพก็ได้
อีกประเด็นหนึ่งก็คือการไม่เชื่อมั่นในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ดำเนินการโดยรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ซึ่งเป็นรองโฆษกคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯด้วย กล่าวในแถลงการณ์ที่สะท้อนท่าทีของรัฐบาลไทยว่า ความเคลื่อนไหวของบีอาร์เอ็นเสมือนหนึ่งส่งสัญญาณให้กองกำลังในพื้นที่เร่งสร้างสถานการณ์ความรุนแรง
นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่มีน้ำหนักพอสมควรสำหรับอธิบายสถานการณ์ที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วงเกือบ 2 เดือนมานี้
หากตีกรอบเฉพาะเหตุรุนแรงช่วง 2 สัปดาห์หลังสุด ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งเกิดเหตุระเบิดรถ อส.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส เหตุระเบิดป่วนเมืองโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี และเหตุป่วนหลายอำเภอของจังหวัดยะลาล่าสุดเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม จะพบว่ามีปัจจัยเกื้อหนุนอื่นๆ ที่อธิบายได้เพิ่มเติมว่าทำไมถึงต้องเกิดเหตุรุนแรงในห้วงเวลาดังกล่าว
1.เป็นการก่อเหตุรุนแรงเชิงสัญลักษณ์ช่วงเทศกาลออกพรรษา โดยเฉพาะที่อำเภอโคกโพธิ์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “อำเภอ 3 วัฒนธรรม” มีการจัดประเพณีชักพระอย่างยิ่งใหญ่ทุกปี และปีนี้ก็จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 66 แล้ว
2.เป็นการก่อเหตุในช่วงใกล้ๆ กับวันครบรอบ 11 ปีเหตุการณ์ตากใบ หรือเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 85 ราย
3.เดือนตุลาคมเป็นช่วงของการสับเปลี่ยนกำลังพล ทั้งตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง โดยระดับหัว ปีนี้มีการเปลี่ยนตัวทั้งแม่ทัพภาคที่ 4 และผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงเปลี่ยนผู้บัญชาการทหารบกด้วย ซึ่งช่วงรอยต่ออาจมีช่องว่างให้ก่อเหตุรุนแรงได้ง่าย
4.เป็นปฏิบัติการท้าทายผู้บัญชาการทหารบก และแม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่ เนื่องจาก พลเอกธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก เคยเป็นผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส และฝากผลงานเอาไว้อย่างดีเยี่ยม
ขณะที่ พลโทวิวรรธน์ ปฐมภาคย์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในโครงสร้างปัจจุบัน ก็มีอำนาจเต็มในการบังคับบัญชากองกำลังในพื้นที่มากขึ้น เพราะกองทัพภาคอื่นๆ ที่ไม่ใช่ทัพภาค 4 ได้ถอนกำลังไปเกือบหมดแล้ว และทดแทนด้วยกองกำลังทหารพรานซึ่งขึ้นการบังคับบัญชากับกองทัพภาคที่ 4 ทั้งหมด กระจายอยู่ทั้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 12 กรมทหารพราน 172 กองร้อย กับอีก 9 กองบังคับหมวดทหารพรานหญิง
5.กำลังมีความพยายามปรับเปลี่ยนในแง่โครงสร้างหน่วยงาน ด้วยการดึงศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เข้าไปอยู่ใต้การบังคับบัญชาของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ซึ่งมีแม่ทัพภาคที่ 4 คุมเบ็ดเสร็จ ผิดกับยุคก่อนรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ ที่ ศอ.บต.มีอิสระในการบริหารงานและบริหารงบประมาณอย่างสูงตามกฎหมายใหม่ที่ออกมาเมื่อปี 2553
ย้อนกลับไปที่เหตุปัจจัยที่ฝ่ายความมั่นคงไทยให้น้ำหนักมากที่สุด ก็คือ การเปิดตัวแสดงท่าทีของบีอาร์เอ็น ซึ่งจะว่าไปแล้วการเปิดตัวครั้งนี้ถูกตั้งคำถามจากบางฝ่ายและภาคประชาสังคมบางส่วนไม่น้อย
ขณะที่การเปิดโต๊ะพูดคุยเพื่อสันติสุขของรัฐบาลไทยกับกลุ่ม “มารา ปาตานี” ซึ่งเป็น “องค์กรร่ม” ของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ 6 กลุ่ม แต่ไม่มีบีอาร์เอ็นเข้าร่วมในระดับองค์กร ก็ถูกตั้งคำถามอย่างมากในช่วงก่อนหน้านี้ว่าเป็น “ตัวจริงหรือไม่?”
ข้อมูลจากหน่วยงานความมั่นคงไทย ชี้ว่า “มารา ปาตานี” มาจากการจัดตั้งของมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข ซึ่งมี ดาโต๊ะ สรี อาหมัดซัมซามิน ฮาซิม เป็นหัวหน้า
ทว่าการตั้งองค์กร “มารา ปาตานี” ขึ้นมาเป็นตัวแทนพูดคุยกับรัฐบาลไทยนั้น มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของมาเลเซียบางส่วนไม่เห็นด้วย จึงมีความพยายามลดบทบาทของ “มารา ปาตานี” ด้วยการเปิดไฟเขียวให้ “บางปีก” ของบีอาร์เอ็น ออกแถลงการณ์ทั้งผ่านคลิปวีดีโอ เอกสาร และการให้สัมภาษณ์
ต้องไม่ลืมว่า แกนนำกลุ่มต่อสู้กับรัฐไทยส่วนใหญ่ล้วนพำนักอยู่ในมาเลเซีย จะเรียกให้ชัดๆ กว่านั้นว่าบางส่วนอยู่ใน “ความดูแล” ของเจ้าหน้าที่มาเลเซียก็ได้ ฉะนั้นการจะปรากฏตัว เปิดหน้า หรือแสดงท่าทีใดๆ ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่ามีเจ้าหน้าที่มาเลเซียบางส่วนรู้เห็นหรือเปิดไฟเขียว
แม้บทพูดผ่านคลิป เนื้อหาในเอกสาร หรือบทสัมภาษณ์จะไม่ได้ฟันธงตรงๆ แต่ก็ตีความได้ว่าไม่ได้นิยมชมชื่นหรือสนับสนุนกระบวนการพูดคุยที่มี “มารา ปาตานี” เป็นแกนนำ อย่างไรก็ดี วิธีการแสดงท่าทีของบีอาร์เอ็นไม่ได้มุ่งดิสเครดิต “มารา ปาตานี” แต่จงใจดิสเครดิตรัฐบาลไทยเป็นหลัก ซึ่งแน่นอนว่าผลที่จะได้รับจากมวลชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ย่อม “เป็นบวก” มากกว่าโจมตีกันเอง
สอดคล้องกับจุดยืนของบีอาร์เอ็นที่ค่อนข้างชัดเจนว่าไม่ต้องการพูดคุยกับรัฐบาลทหารของไทย แต่ต้องการพูดคุยกับรัฐบาลประชาธิปไตยซึ่งมีความอ่อนตัวในข้อเรียกร้องต่างๆ มากกว่า ขณะเดียวกันก็มองว่า “มารา ปาตานี” ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อให้ “คุยกันได้” กับรัฐบาลไทยที่มีโรดแมพจัดทำข้อตกลงสันติภาพร่วมกันในปี 2560
นี่คือความเคลื่อนไหวของฝ่ายหนึ่ง...
ขณะที่ฝ่ายดาโต๊ะซัมซามิน ในฐานะผู้อำนวยความสะดวก ก็พยายาม "ปิดจุดอ่อน" ทั้งหมดนั้น ด้วยการดึงแกนนำฝ่ายทหารบางส่วนของบีอาร์เอ็นเข้าร่วมใน “มารา ปาตานี” เช่น นายสุกรี ฮารี เป็นต้น
นอกจากนั้นยังมีความพยายามดึง “มะแซ อุเซ็ง” ซึ่งทางการไทยเชื่อว่าเป็นคีย์แมนสำคัญในการก่อเหตุปล้นปืนครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 มาร่วมโต๊ะพูดคุยในนามของ “มารา ปาตานี” ด้วย แต่ล่าสุดยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร
ปัญหาที่เกิดขึ้นในระดับโต๊ะพูดคุยซึ่งสะท้อนความไม่เป็นเอกภาพทั้งฝ่ายมาเลเซียเอง และฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ ทำให้หน่วยงานความมั่นคงวิเคราะห์ว่า สถานการณ์ที่ชายแดนใต้ห้วงเดือนที่ผ่านมาและนับจากนี้ไป จะปั่นป่วนรุนแรงยิ่งขึ้น
เพราะจะเต็มไปด้วยการสร้างเงื่อนไขต่อรองเพื่อชิงการนำ ทั้งในบริบทของผู้อำนวยความสะดวก และบริบทกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐเอง!
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพความรุนแรงที่ชายแดนใต้ เอื้อเฟื้อโดยเจ้าหน้าที่ชุดตรวจที่เกิดเหตุ
หมายเหตุ : ภาพแกนนำมารา ปาตานี โดย อับดุลเลาะ หวังหนิ