นักเศรษฐศาสตร์มธ.ชี้ไทยก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ต้องใช้เวลาถึง 52 ปี
นักวิชาการ มธ.หวั่นไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุไม่ทันก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง กระทบทุกอาชีพ โดยเฉพาะชาวนา ไร้สวัสดิการ ‘ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์’ ชี้จุดอ่อนไทยเริ่มประกันสังคมช้าไป เสี่ยงสถานภาพไม่มั่นคง เหตุคนวัยทำงานน้อย
วันที่ 29 ตุลาคม 2558 คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดสัมมนาวิชาการประจำปี 2558 ครั้งที่ 38 เรื่อง เหลียวหลัง แลหน้า เศรษฐกิจสังคมไทยในวาระ 100 ปี อาจารย์ป๋วย ณ หอประชุมศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย ชั้น 3 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
รศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ (มธ.)กล่าวตอนหนึ่งถึงประเด็นการเปลี่ยนผ่านของโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุว่า นับจากนี้ไปสัดส่วนของประชากรวัยทำงานจะลดลง และสัดส่วนของผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ภายในปี 2564 ผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไป จะมีจำนวน 14% ของสังคม และกลายเป็น 20% อีก 10 ปีถัดไป หรือปี 2574
การลดลงในตัวเองนี้ หมายถึง ระบบสวัสดิการสังคมถ้วนหน้าตามอุดมคติของอาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ จะเป็นจริงยากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อไทยก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางไม่พ้น ทำให้เป็นสังคมผู้สูงอายุก่อนร่ำรวย ขณะที่ภาระของสังคมในการจัดสวัสดิการรองรับ ไม่ว่าจะเป็น ระบบบำนาญ ค่าใช้จ่ายทางการศึกษา เพิ่มขึ้นแน่นอน
“คำถามหลัก คือ สังคมจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเร็วกว่ารายจ่ายด้านสวัสดิการหรือไม่ ซึ่งคำถามนี้กลับไปตอกย้ำความสำคัญของการยกระดับผลิตภาพการผลิต (Productivity) ของเศรษฐกิจ”
นักวิชาการ มธ. กล่าวต่อว่า ดร.สมชัย จิตสุชน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เคยคำนวณว่า หากนับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นไป Productivity ของแรงงานเพิ่มเฉลี่ย 4% ต่อปี เศรษฐกิจไทยจะก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ปี 2576 โดย 20 ปี ของการก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ใกล้เคียงกับเวลาที่ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์
ทางกลับกันหากผลิตภาพของแรงงานเพิ่มเฉลี่ย 7% ต่อปี เศรษฐกิจไทยจะก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง จะใช้เวลาเพียง 15 ปี แต่ปัจจุบันผลิตภาพของแรงงานเพิ่มเพียง 2% ต่อปี ดังนั้น จะก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางไปได้ต้องใช้เวลาถึง 52 ปี หรือปี 2602
“หากไทยไม่เปลี่ยนให้การขยายตัวของรายได้สูงกว่าปัจจุบันแล้ว เราจะรับมือกับการเปลี่ยนผ่านของโครงสร้างประชากรไม่ได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคมไม่เท่ากัน โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรม ที่เกษตรกรมีอายุเฉลี่ยสูงกว่าภาคอื่น” รศ.ดร.อภิชาต กล่าว และว่า เมื่อเจาะจงไปกลุ่มชาวนามีประมาณ 3.9 ล้านครัวเรือน จากภาคเกษตรกรรมทั้งหมด 6 ล้านครัวเรือน โดยชาวนาที่มีพื้นที่ต่ำกว่า 9 ไร่ คิดเป็น 1 ใน 3 ของครัวเรือนชาวนา ส่วนใหญ่ไม่ได้ยึดอาชีพทำนาเป็นหลัก
นักวิชาการ มธ. กล่าวถึงรายได้ของชาวนานอกภาคเกษตรกรรมสูงกว่าในภาคเกษตรกรรม และรายได้ดังกล่าวมักมาจากการทำงานไม่เป็นทางการ ฉะนั้นจึงไม่มีระบบสวัสดิการรองรับในปัจจุบัน คนกลุ่มนี้น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุจะหารายได้จากนอกภาคเกษตรกรรมได้น้อยลง
ด้าน ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ คณะวิทยาการจัดการ กลุ่มสาขาวิชาเศรษศาสตร์ ม.ขอนแก่น (มข.) กล่าวถึงแนวคิดระบบสวัสดิการสังคมของอาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ เป็นแบบสังคมประชาธิปไตย ไม่ถึงขั้นรัฐสวัสดิการแบบสแกนดิเนเวีย โดยให้มีการรักษาพยาบาล ค่ารักษาพยาบาลถูกและดี
ขณะเดียวกัน ท่านเคยกล่าวไว้ว่า เมื่อแก่ผมและเมียควรได้รับประโยชน์ตอบแทนจากประกันสังคม ซึ่งผมจ่ายบำรุงมาตลอด โดยแนวคิดนี้ยุคที่มีผู้สูงอายุเสียชีวิตตอน 60 ปี ไม่เป็นปัญหา ซึ่งคนส่วนใหญ่มักมีอายุไม่ถึงเพื่อรับบำนาญ มีเพียงคนส่วนน้อยเท่านั้น
นักวิชาการ มข. กล่าวว่า ประเทศไทยไทยเริ่มนโยบายประกันสังคมเลยจุดที่คนมีลูกจำนวนมากแล้ว แต่กลับมาถึงจุดคนอายุยืนขึ้น ซึ่งโครงสร้างประชากรลักษณะนี้ทำให้ประกันสังคมไม่มีความมั่นคง จึงต้องคิดกันต่อว่า เมื่อโครงสร้างประชากรเปลี่ยนไป ระบบประกันสังคมจะอยู่ไม่ได้ด้วยโครงสร้างประชากรสูงอายุ ควรมีการปรับอย่างไร ถือเป็นข้อคิดให้คนในยุคปัจจุบัน
ขณะที่ ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ กล่าวถึงปัญหาโครงสร้างประชากรไทย ไม่เฉพาะผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ยังมีความเหลื่อมล้ำระหว่างชายกับหญิงสูงขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ผู้หญิงกำลังครองประเทศ
“ผู้หญิงเรียนมหาวิทยาลัยมากกว่าผู้ชาย ไม่ว่าจะเป็นระดับปริญญาโท และปริญญาเอก ส่วนผู้ชายมักเรียนในสถาบันอาชีวศึกษา ดังนั้นถามว่าอะไรเกิดขึ้น” นักวิชาการ มช.กล่าว พร้อมกับยกตัวอย่างการสอนนักศึกษาได้สอบถามว่า หากเป็นผู้หญิงอายุ 35 ปี มีผู้ชายจบ ปวช. มารัก โดย 30% บอกรับรัก อีก 70% ไม่รับรัก หากผลเป็นจริงจะทำให้ภาวะเจริญพันธุ์หายไป ดังนั้นมหาวิทยาลัยต้องร่วมคิด มิเช่นนั้นจะเจอปัญหาสลับซับซ้อนมากขึ้น และหาคำตอบไม่ได้