“ไพบูลย์” ระดมองค์กรชุมชนตั้ง “ศูนย์จัดการภัยพิบัติภาคประชาชน”
เครือข่ายองค์กรประชาชนตั้ง “ศูนย์ประสานงานจัดการภัยพิบัติ” รับมือน้ำท่วมระยะสั้น-ยาว ครบวงจร “ป้องกัน-เผชิญเหตุ-เยียวยา-พัฒนา” วิพากษ์โครงการสร้างประเทศไทยใหม่-จัดการน้ำ เป็นเรื่องใหญ่ที่รัฐบาลต้องเปิดกว้างถกเถียง เตือนอย่าลืมการมีส่วนร่วมประชาชน ยกความขัดแย้งคลองสามวาเป็นตัวอย่าง
วันที่ 9 พ.ย.54 ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เครือข่ายองค์กรภาคประชาชน อาทิ เครือข่ายสลัมสี่ภาค สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ สภาองค์กรชุมชนระดับตำบล-จังหวัด ร่วมประชุมและจัดตั้ง “ศูนย์ประสานงานจัดการภัยพิบัติ” โดยมีนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ประธานกรรมการมูลนิธิหัวใจอาสาเป็นประธานการประชุม
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ปัจุบันภัยพิบัติในประเทศไทยรุนแรงมากขึ้น ภาคกลางรุนแรงและยาวนานมากที่สุด ถ้าคิดในเชิงธรรมะต้องทำใจว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นเหตุเป็นผลที่มีเหตุปัจจัยทำให้เป็นเช่นนี้ อีกทั้งมีเหตุปัจจัยหลายอย่างมาจากการกระทำของมนุษย์ซึ่งสลับซับซ้อน ดังนั้นการจัดการภัยพิบัติเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีการทำให้ครบวงจรทุกขั้นตอน โดยการจัดตั้งศูนย์ประสานจัดการภัยพิบัติครั้งนี้เน้นการทำงานในระดับหมู่บ้าน ตำบล จังหวัด เพื่อให้ความช่วยเหลือกันเมื่ออุบัติภัยเกิดขึ้น
นายไพบูลย์ ยังกล่าวว่า การป้องกันระยะยาว ต้องสร้างความสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ชลอหรือลดจำนวนประชากรให้เข้ากับสมดุล อนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อมนุษย์ รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นที่ฐานที่ดีเกี่ยวกับการจัดการธรรมชาติ รวมถึงน้ำ ป่า อากาศ ทั้งระบบที่เชื่อมโยงบูรณาการ และการวางผังเมืองและผังชนบทที่ดี
การป้องกันระยะกลาง ต้องเลือกดำเนินการโครงสร้างพื้นฐานบางส่วนที่ดีเกี่ยวกับการจัดการธรรมชาติ เช่น การจัดทำแก้มลิงขนาดใหญ่ในบริเวณลุ่มน้ำต่างๆ การทำเหมืองฝายและประตูน้ำที่เหมาะสม การปรับหรือสร้างถนนและทางเดินของน้ำที่เหมาะสม ขณะที่การจัดการระยะสั้น ควรมีการสร้างกำแพงกั้นน้ำริมน้ำคูคลอง การปรับหรือพัฒนาระบบทางเดินน้ำใกล้ชุมชนทั้งในชนบทและในเมือง การปรับพัฒนาคูคลอง การปรับและพัฒนาอาคารบ้านเรือนให้สามารถป้องกันภัยพิบัติได้
“ชุมชนทุกแห่งควรมีศูนย์ประสานงาน ผมเรียกสั้นๆว่าศูนย์จัดการภัยพิบัติ จะได้จัดการทุกขั้นตอน ทั้งขั้นตอนป้องกัน เผชิญเหตุ เยียวยา การบรรเทาฟื้นฟู และการพัฒนา โดยมีการร่วมมือกันในชุมชน ร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือจังหวัด ทำให้ครบวงจร และในระยะยาวหวังว่าจะไม่หยุด เมื่อน้ำลดศูนย์นี้ก็จะดำเนินการต่อ”
ประธานกรรมการมูลนิธิหัวใจอาสา ยังกล่าวถึงกรณีรัฐบาลตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) และ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ(กยน.) ว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เป็นเจตนาที่ดี แต่ภาพลักษณ์จะจะออกมายังไงต้องดูกันต่อไป โดยเฉพาะกรรมการจัดการน้ำ ต้องมีวิสัยทัศน์ มียุทธศาสตร์มีวิธีการที่เหมาะสม ที่สำคัญรัฐบาลต้องไม่ลืมกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นระดับท้องถิ่น ระดับภาค ระดับชาติ ส่วนจะใช้กลไกอย่างไรก็เป็นรายละเอียดออกไป
“ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านยังไม่รู้จักคำว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนที่แท้จริง จัดการกระบวนการไม่เป็น มิเช่นนั้นจะไม่เกิดการทะเลาะเบาะแว้งขึ้น เช่น กรณีคลองสามวา เห็นได้ชัดเจน อีกทั้งการสร้างประเทศไทยใหม่และการจัดการน้ำอย่างบูรณาการเป็นเรื่องใหญ่มาก ที่ต้องมีการพูดคุยกัน และจะมีทางเลือกที่ต้องถกเถียงกันอย่างมาก” ดร.ไพบูลย์ กล่าว