“อนามัยโลก”ชี้ไทยตายคาถนนที่ 2 ของโลก ศวปถ.แนะบังคับใช้กฎหมายจราจรเข้มงวด
องค์การอนามัยโลกเผยสถิติอุบัติเหตุบนถนนของไทยปีล่าสุด พบอัตราการตาย 36.2 คนต่อประชากรแสนคน สูงเป็นอันดับสองของโลก ตายด้วยมอเตอร์ไซค์สูงเป็นที่หนึ่ง ศวปถ.แนะต้องบังคับใช้กฎหมายกับพฤติกรรมเสี่ยงอย่างเข้มงวด
นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวถึงรายงานขององค์การอนามัยโลกปีนี้ Global Status Report on Road Safety 2015 ซึ่งมีตัวเลขคาดประมาณเสียชีวิตลดลงจากเดิม 26,312 คนต่อปี เหลือ 24,237 ต่อปี หรือลดลง 2,075 คน และถ้าประมาณการณ์ความสูญเสียที่ 6.2 ล้านบาทจต่อผู้เสียชีวิต 1 คน จะพบว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาไทยสามารถลดความสูญเสียลงได้ 12,865 ล้านบาท
นพ.ธนะพงศ์ กล่าวถึงข้อสังเกตสำคัญจาก Global Status Report on Road Safety 2015 พบว่า ไทยมีกฎหมายดีๆ เทียบเท่าสากล แต่มีปัญหาเรื่องการบังคับใช้ ซึ่งกฎหมายที่ควรถูกปรับแก้เพิ่มเติม ได้แก่ ความเร็วเขตเมืองต้องไม่เกิน 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เดิมสูงถึง 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กฎหมายเกี่ยวกับเข็มขัดนิรภัยที่นั่งตอนหลัง และเก้าอี้นิรภัยสำหรับเด็ก เป็นต้น
"ปัจจุบันไทยมีคนตายมากกว่าคดีจากอาชญากรรม 4-5 เท่า แต่คนที่ทำงานเพื่อแก้ปัญหา ยังสรุปคดีไปในทิศทางของความผิดพลาดส่วนบุคคล เช่นที่พบเห็นบ่อยครั้งคือข้อสรุปที่ว่า “ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย หรือทรัพย์สินเสียหาย” ซึ่งต่างจากคดีอาชญากรรมที่ทุกฝ่ายทั้งตำรวจและญาติจะทุ่มเทหาสาเหตุ เพื่อจับ “ผู้ร้ายตัวจริง” ทั้งๆ ที่ผลการศึกษาจากทั่วโลกก็ชี้ชัดว่า ถนนและสิ่งแวดล้อม เกี่ยวข้องอุบัติเหตุถึงร้อยละ 28 และยานพาหนะเกี่ยวข้องอีก ร้อยละ 8"
ผู้จัดการศวปถ. กล่าวอีกว่า การสรุปสาเหตุอุบัติเหตุเพียงความประมาทและเน้นไกล่เกลี่ยยอมความ โดยไม่ได้ระบุสาเหตุอื่นๆ ทำให้การแก้ปัญหาวนเวียนอยู่เพียงการรณรงค์สร้างจิตสำนึก จนกลายเป็นสูตรสำเร็จ
"การรณรงค์สร้างจิตสำนึกความปลอดภัย ไม่ใช่เรื่องที่ไม่สำคัญ แต่ไม่เพียงพอที่จะหยุดความสูญเสีย ถ้าตราบใดที่สาเหตุหลัก ได้แก่ สภาพถนนและสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย ยานพาหนะที่ปลอดภัย และ การบังคับใช้กฎหมายกับพฤติกรรมเสี่ยงที่จริงจัง ยังไม่เกิดขึ้น"
นพ.ธนะพงษ์ กล่าวอีกว่า ทำไมคนไทยคนเดียวกันที่ถูกกล่าวหาว่าไม่มีจิตสำนึกและวินัยความปลอดภัย แต่เมื่อข้ามไปต่างประเทศ เช่น มาเลเชีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ฯลฯ ก็เปลี่ยนเป็นคนละคน พร้อมที่จะเคารพและปฎิบัติตามกฎหมายขึ้นมาทันที ซึ่งคำตอบสำคัญ ก็คือ การถูกตรวจจับ-บังคับใช้กฎหมายและบทลงโทษที่จริงจัง ดังนั้น สิ่งที่ต้องช่วยกันผลักดันให้เกิดขึ้น คือ ทำให้สังคมไทย รับรู้และตระหนักว่าอุบัติเหตุทางถนน เป็นสิ่งที่ป้องกันได้ ไม่ใช่เรื่องเคราะห์กรรม และทำให้ผู้บริหารและผู้ที่ดูแลรับผิดชอบ ต้องเน้นการพัฒนาระบบจัดการที่เข้มแข็ง เพื่อแก้ไขที่รากปัญหา และไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่ซ้ำซาก โดยเน้นเรื่องการจัดการที่เข้มแข็งตามแนวทางที่องค์การสหประชาชาติเสนอไว้ ได้แก่ 1.เร่งผลักดันโครงสร้าง/กลไกจัดการที่เข้มแข็ง มีระบบงบประมาณ การบูรณาการการดำเนินงานตลอดทั้งปี พร้อมทั้งการติดตามกำกับอย่างจริงจังจากภาคนโยบาย 2.มีระบบข้อมูลการตายที่เชื่อถือได้ พร้อมทั้งการสอบสวนสาเหตุเชิงลึกในเหตุการณ์สำคัญที่ไม่ใช่การสรุปเพียง “ความประมาท” 3.มีการจัดการโครงสร้างถนน สิ่งแวดล้อม และ ยานพาหนะที่ได้มาตรฐานความปลอดภัย พร้อมมีระบบควบคุมกำกับและตรวจสอบ (Formal Audit) 4.มีการพัฒนากฎหมายและการสนับสนุนให้สามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 5.มีระบบการเรียนรู้เรื่องความปลอดภัย และออกใบอนุญาตขับขี่อย่างเป็นขั้นตอนและมีคุณภาพ (Graduate Licensing) และ 6.มีระบบดูแลช่วยเหลือฉุกเฉิน และการดูแลเยียวยาหลังเกิดเหตุได้อย่างมีคุณภาพ ฯลฯ
ทั้งนี้ สำหรับรายงานขององค์การอนามัยโลก Global Status Report on Road Safety 2015 ระบุว่า วัยรุ่น เยาวชน และกลุ่มเริ่มทำงาน (15-29 ปี) เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนเป็นอันดับ 1 รวมแล้วประชากรโลกเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนสูงถึง 1.25 ล้านคนต่อปี ในจำนวนนี้ผู้เสียชีวิต 90% อยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางถึงต่ำ โดยผู้เสียชีวิตเกือบครึ่ง (49%) เกิดกับกลุ่มจักรยานยนต์, จักรยาน และ คนเดินถนน
สำหรับประเทศไทย องค์การอนามัยโลก เปิดเผยข้อมูลว่ามีอัตราการเสียชีวิต 36.2 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน สูงเป็นอันดับ 2 (รองจากลิเบียที่เสียชีวิตถึง 73.4 คน) ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย 2 เท่า (เฉลี่ยทั้งโลก 17.5) แต่ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากรถจักรยานยนต์ 26.3 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน ซึ่งสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก