สตง.เจออีก! ท่าเรือมารีน่า-กระบี่ใช้งบท่องเที่ยวเหลว-ให้เอกชนเช่ายาว 9 ปี
เจออีกแห่ง! สตง.ตั้งข้อสังเกตชงอธิบดีกรมการท่องเที่ยว พบท่าเทียบเรือมารีน่า-กระบี่ ส่อใช้งบท่องเที่ยวเหลว ไม่มีการเตรียมพร้อมด้านบริหารจัดการ ปล่อยเอกชนเช่ายาว 9 ปี ไม่มีระบบตรวจสอบ
จากกรณีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบงบประมาณโครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวของกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาระหว่างปี 2552-2557 จากทั้งหมด 361 โครงการ 2.6 พันล้านบาท ดำเนินการแล้วเสร็จ 141 โครงการ 914 ล้านบาท พบว่ามีอย่างน้อย 35% ที่ดำเนินโครงการล้มเหลว สร้างความเสียหายกว่า 324 ล้านบาทนั้น
(อ่านประกอบ : สตง.พบงบพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวปี’52-57 ล้มเหลว 35% เจ๊ง 324 ล.)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า สตง. ทำหนังสือตั้งข้อสังเกตถึงอธิบดีกรมการท่องเที่ยว กรณีการสนับสนุนพัฒนาท่าเทียบเรือพิเศษ (มารีน่า) จ.กระบี่ โดยไม่คำนึงถึงความพร้อมด้านการบริหารจัดการ
ข้อสังเกตของ สตง. ระบุว่า โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือพิเศษ (มารีน่า) จังหวัดกระบี่ โดยเทศบาลเมืองกระบี่ (ทม.กระบี่) ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกรมการท่องเที่ยวในปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 เป็นเงิน 41.95 ล้านบาท และ ทม.กระบี่จ่ายเงินสมทบอีกจํานวน 0.80 ล้านบาท รวมค่าก่อสร้างทั้งสิ้น 42.75 ล้านบาท ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2553
อย่างไรก็ดีจากการตรวจสอบ พบว่า ทม.กระบี่ ไม่สามารถบริหารจัดการท่าเทียบเรือหลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จได้ ทำให้ท่าเทียบเรือไม่ได้ใช้ประโยชน์เวลาประมาณ 7 เดือน เพราะไม่มีการเตรียมความพร้อมด้านแผนการบริหารจัดการและแผนด้านธุรกิจไว้รองรับ ขณะที่มีการเสนอโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกรมการท่องเที่ยว ประกอบกับลักษณะโครงการที่ดำเนินการเป็นโครงการเชิงธุรกิจขนาดใหญ่ และเป็นโครงการใหม่ซึ่ง ทม.กระบี่ ยังไม่มีความรู้ ประสบการณ์ รวมถึงบุคลากรที่ดำเนินการ ดังนั้นเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จจึงไม่สามารถดำเนินการเองได้ โดย ทม.กระบี่ ได้ให้บริษัทเอกชนเช่าดำเนินการตามสัญญา 9 ปี ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2553-30 ก.ย. 2562 ทำให้ไม่สามารถวัดความสำเร็จและความคุ้มค่าตามวัตถุประสงค์ที่โครงการกำหนดไว้ได้
นอกจากนี้สัญญาเช่ากับบริษัทเอกชนดังกล่าวซึ่งเป็นสัญญาเช่าระยะยาว อาจไม่มีความเหมาะสมเนื่องจากกระบวนการจัดหาผู้เช่าเป็นลักษณะการคัดเลือกโดยไม่ได้ดําเนินการให้มีการแข่งขัน หรือทําการประมูลใด ๆ (เป็นบริษัทเดียวกันกับบริษัทที่ทําการก่อสร้าง) อีกทั้ง ทม. กระบี่ ไม่มีระบบการควบคุมตรวจสอบรายได้ที่เกิดขึ้นจริงของบริษัทผู้เช่าซึ่งจะส่งผลต่อความไม่โปร่งใส หรืออาจเกิดความไม่เหมาะสมไม่ถูกต้องของการแบ่งสัดส่วนของรายได้ที่เกิดขึ้นตามที่กําหนดในเงื่อนไขสัญญา คือผู้เช่าจะการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวของกรมการท่องเที่ยว แบ่งรายได้ให้กับ ทม. กระบี่ ในอัตราร้อยละ 10.00 ของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่าย (ตั้งแต่ปีที่ 4–6) และเพิ่มเป็นร้อยละ 20.00 ของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่าย (ตั้งแต่ปีที่ 7–9)
รวมถึงการจัดทําเอกสารข้อเสนอโครงการของ ทม. กระบี่ ขาดข้อมูลสําคัญสําหรับกรมการท่องเที่ยวใช้ในการพิจารณาอนุมัติโครงการ ประกอบกับโครงการที่ขอรับการสนับสนุนเป็นโครงการขนาดใหญ่และเป็นโครงการใหม่ที่ยังไม่เคยมีการดําเนินการมาก่อน ทําให้กระบวนการพิจารณาอนุมัติโครงการเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ อาทิ ขาดรายละเอียดกิจกรรมและวิธีการดําเนินการ หรือแผนธุรกิจ สถิติข้อมูลเกี่ยวกับเรือสําราญซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของโครงการ ที่แสดงให้เห็นถึงความสําคัญ/ความจําเป็น ความพร้อม ที่ ทม. กระบี่จะทําการก่อสร้างท่าเทียบเรือเป็นต้น
ข้อเสนอแนะ ให้อธิบดีกรมการท่องเที่ยว พิจารณาดําเนินการ
1) สั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ ต้องให้ความสําคัญกับการจัดทํารายละเอียดข้อเสนอโครงการสําหรับโครงการที่จะขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกรมการท่องเที่ยว และต้องมีการพิจารณารายละเอียดและกลั่นกรองข้อมูลตามเอกสารข้อเสนอโครงการอย่างเคร่งครัดจริงจัง รวมถึงพิจารณาแผนด้านการบริหารจัดการ/แผนธุรกิจ ศักยภาพหรือความพร้อมของหน่วยงานที่ขอรับการสนับสนุนโครงการ โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่หรือเป็นโครงการใหม่ โดยคํานึงถึงความเป็นไปได้ในการดําเนินการของหน่วยงานที่ขอรับการสนับสนุนที่จะสามารถบรรลุผลสําเร็จตามวัตถุประสงค์อย่างคุ้มค่า
2) ให้มีการติดตาม ประเมินผลการดําเนินงานของท่าเทียบเรือพิเศษ (มารีน่า) และให้คําแนะนําต่อแนวทางการบริหารจัดการ และระบบการควบคุมการจัดเก็บรายได้ของบริษัทเอกชนให้เป็นไปโดยถูกต้อง ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่รัฐต่อไป
อ่านประกอบ :
ผลสอบ สตง.เฉลยจุดอ่อน! งบท่องเที่ยวเจ๊ง 324 ล.-ชงปลัดฯแก้ด่วน!
มี 73 โครงการท่องเที่ยวทำเจ๊ง 312 ล. สตง.พบบางแห่งทิ้งร้าง 3 ปีครึ่ง!
หมายเหตุ : ภาพประกอบท่าเทียบเรือมารีน่า จาก static.tlcdn2.com