‘อัมมาร สยามวาลา’ :รัฐสภาต้องเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์ ตรวจสอบรัฐบาลใช้เงิน
“รัฐสภาในต่างประเทศจะเปรียบเหมือนญาณเฝ้าการเงินของประเทศ แต่รัฐสภาของไทยทุกสมัยกลับเป็นลูกไล่ของรัฐบาล ไม่ได้ทำหน้าที่ทะเลาะกับฝ่ายบริหาร ตรวจสอบการใช้จ่ายเงิน ซึ่งวัฒนธรรมเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้นในกระบวนการรัฐสภาของไทย”
วันที่ 29 ตุลาคม 2558 คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดสัมมนาวิชาการประจำปี 2558 ครั้งที่ 38 เรื่อง เหลียวหลัง แลหน้า เศรษฐกิจสังคมไทยในวาระ 100 ปี อาจารย์ป๋วย ณ หอประชุมศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย ชั้น 3 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ปาฐกถาพิเศษ ‘อาจารย์ป๋วย วินัยทางการคลังและประชานิยม’ ตอนหนึ่งว่า ช่วงปี 2501-03 ไทยกำลังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างมโหฬารเหมือนในปัจจุบัน ซึ่งการใช้เงินเกินความสามารถงบประมาณประจำปีจำเป็นต้องกู้เงิน
โดยสมัยนั้นเงินทองในประเทศเกินกำลังเงินออมในประเทศเหลือ จะไปกู้เงินจากธนาคารในประเทศไม่ได้ จำเป็นต้องกู้เงินจากต่างประเทศเข้ามา จึงเกิดกระบวนการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1-3 มีความชัดเจนมาก เกี่ยวกับการสำรวจ ทรัพยากรในประเทศ หรือความต้องการการลงทุน จึงต้องขอเงินจากต่างประเทศ มีธนาคารโลกเป็นพี่เลี้ยง
“ ปรัชญาต่าง ๆ ก็มาจากธนาคารโลก ซึ่งไม่แตกต่างจากปรัชญาที่อาจารย์ป๋วยมีอยู่ในใจ โปรดสังเกตว่า สมัยนั้นเราไม่เรียกว่า งบลงทุน แต่เรียกว่า งบพัฒนา เพราะมีเรื่องการศึกษาด้วย ซึ่งสันนิษฐานว่า อาจารย์ป๋วยมีส่วนมากน้อยแค่ไหน แต่ท่านสนใจเรื่องการศึกษามาอย่างสม่ำเสมอ”
นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวต่อว่า ไทยเริ่มลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ใช่เฉพาะวัตถุเท่านั้น แต่รวมถึงด้านการศึกษาด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้มีโครงการต่าง ๆ และกระบวนการกู้เงินเป็นโปรเจคไฟแนนซ์ซิงจากธนาคารโลก สอดคล้องกับวิธีการทำงานของธนาคารโลก และความต้องการของไทยขณะนั้น
เพราะฉะนั้นการลงทุนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1-3 แม้ประชาชนเริ่มตำหนิทำให้เกิดความลำบาก เขื่อนถูกสร้างขึ้นมา ต้องถูกขับไล่ที่ แต่ตอนนั้นพวกเราก็มีความสนุก เพราะไฟฟ้าเริ่มเข้าไปถึงชนบทมากขึ้น โดยเฉพาะสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
“เวลาไทยตัดสินใจทำอะไรแล้วมักได้ผลเร็ว อาทิ ภายใน 5 ปี การใช้ไฟฟ้าในชนบทเพิ่มขึ้นเป็น 80% สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้แสดงถึงกระบวนการพัฒนาที่เกิดขึ้น” ศ.ดร.อัมมาร กล่าว และว่าทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการใช้เงินเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเหมาะกับโปรเจคไฟแนนซ์ซิง โดยเป็นงานที่ธนาคารโลกถนัดในสมัยนั้น หลังจากนั้นธนาคารโลกเริ่มมั่ว ไทยเริ่มมั่ว เพราะความจำเป็นใช้ทรัพยากรจากต่างประเทศค่อย ๆ ลดลง
นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวอีกว่า สิทธิของรัฐบาลในการกู้เงิน โปรดสังเกตโปรเจคไฟแนนซ์ซิงไม่ผ่านกระบวนการงบประมาณ แต่เป็นเรื่องที่ผ่านสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) มีกระบวนการกลั่นกรองภายใน ร่วมกับต่างประเทศ ซึ่งคิดว่า การติดตามเรื่องต่าง ๆ ก็ติดตามโดยสภาพัฒน์ฯ แต่การกำกับควบคุมกลับไม่เข้มงวดเหมือนงบประมาณ
“ถ้าเป็นเงินกู้จากธนาคารโลก อาจารย์ป๋วย เคยกล่าวกับผมส่วนตัวว่า การให้ธนาคารโลกดูแลดีกว่าให้รัฐบาลไทยดูแล เพราะว่ามีความเข้มงวดกวดขันมากกว่า นี่คือประเด็นความซื่อตรงของท่าน ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เกิดขึ้นในสมัยนั้น”
แล้วงานรุ่นนี้ต้องสานต่อ คืออะไร ศ.ดร.อัมมาร บอกว่า ปัจจุบันเกิดช่องโหว่ของกระบวนการขึ้นในระบบการคลังของไทย หากรัฐบาลกู้เงินต่างประเทศมีกระบวนการติดตาม และเจ้าหน้าที่ต่างประเทศจะติดตามบางส่วน ถ้ามีโปรเจคไฟแนนซ์ซิงจะติดตามเข้มงวดมากกว่า แต่ระยะหลังไม่มีโปรเจคไฟแนนซ์ซิงมากเท่าไหร่ จึงไม่ต้องให้ต่างประเทศดูแลก็ได้ แต่ไทยต้องดูแลให้เข้มงวดเท่ากัน
ทั้งนี้ วิธีการงบประมาณ มีกระบวนการตามมาหลายอย่างในการตรวจสอบ เช่น กรมบัญชีกลาง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตามมาจากงบประมาณ
นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ สังเกตว่า ปัญหาคอร์รัปชันต่าง ๆ ของเงินหลวง เกิดขึ้นกับเงินนอกงบประมาณ องค์กรอิสระที่มีอิสระในการใช้เงินงบประมาณ มักถูกเพ่งเล็ง เล็ดลอดออกไปในกระบวนการบางเรื่อง ดังนั้น ไม่ได้หมายความว่าการตรวจสอบของ สตง.จะได้ผลเสมอไป
อาทิ โครงการรับจำนำข้าว ซึ่ง สตง. น่าสงสารมาก รัฐบาลถามว่า สตง.ทำอะไรอยู่ ปรากฏว่าไม่ได้ทำอะไร ต้องไปขอข้อมูล เพราะวิธีการเดียว ทันทีที่นำเงินกู้มาใช้ มีเงินใช้ และสิทธิเสรีภาพในการใช้เต็มที่ ทำให้ไม่ต้องมีบัญชี เพราะฉะนั้นกระบวนการรับจำนำข้าวจึงไม่มีบัญชีเป็นระบบ
“ธ.ก.ส.มีบัญชี กระทรวงพาณิชย์ก็ควรจะมีบัญชี แต่ตามหาลำบากมาก สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จึงเกิดขึ้น เพราะเป็นกระบวนการนอกงบประมาณที่เกิดขึ้นได้จากการที่รัฐบาลใช้เงินของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ”
ทั้งนี้ โครงการแรกที่เกิดขึ้นเท่าที่จำความได้ คือกองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลกู้เงินจากธนาคารออมสิน แต่โครงการนั้นค่อนข้างตรงไปตรงมา โดยจ่ายเงินเปล่าให้กองทุนหมู่บ้านบริหารจัดการกันเอง ถ้าการทุจริตจะเกิดขึ้นก็เกิดขึ้นกับกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งจะต้องดูแลกันเอง
โปรดสังเกตว่าการใช้เงินจำนวนนี้ แม้กระทั่งสมัยก่อน มีปัญหาสำคัญอันหนึ่ง คือ หลักการสำคัญของการคลังนั้น รัฐสภาต้องมีอำนาจกำกับควบคุมกำหนดเงินที่รัฐบาลใช้ และมีวิธีการงบประมาณยึดตามแนวปฏิบัติ
แต่ทันทีที่ใช้เงินกู้สำหรับโครงการ ไม่ว่าจะเป็น โครงการรับจำนำข้าว โครงการกองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้านบาท คล้ายกับโปรเจคไฟแนซ์ซิง แต่ว่ากู้จากสถาบันการเงินเฉพาะกิจในประเทศ ทำให้กระบวนการที่รัฐสภาต้องอนุมัติหายไป
ศ.ดร.อัมมาร กล่าวด้วยว่า เมื่อไม่อนุมัติ ทำให้กระบวนการทำบัญชี ซึ่ง สตง.ก็จะต้องตรวจความเป็นไปตามที่รัฐสภาอนุมัติหายไป ทำให้ผลที่ตามมา คือ เละ และวิธีการงบประมาณไม่อยู่ในกระบวนการเหล่านี้ ดังนั้นงานนี้ต้องสานต่อให้ครบ
“จำเป็นอย่างยิ่งเงินที่รัฐบาลกู้มาต้องผ่านกระบวนการรัฐสภา” เขาเน้นย้ำ และว่าปัญหาประชานิยมเกิดขึ้น ปัจจุบันมีช่องโหว่ รัฐบาลจะใช้กู้เงินจากธนาคารเฉพาะกิจ
ทั้งนี้ ไทยมีพลังการเงินในประเทศมากพอจะให้ธนาคารไทย ไม่ว่าธนาคารพาณิชย์ หรือรัฐวิสาหกิจเฉพาะกิจสามารรถกู้ได้ ดังเช่น กรณี ธ.ก.ส.ให้กู้เงินโครงการรับจำนำข้าว แต่ช่องโหว่เหล่านี้ หากไม่พิถีพิถัน จะเป็นปัญหาต่อไปได้ในอนาคต
“รัฐสภาในต่างประเทศจะเปรียบเหมือนญาณเฝ้าการเงินของประเทศ แต่รัฐสภาของไทยทุกสมัยกลับเป็นลูกไล่ของรัฐบาล ไม่ได้ทำหน้าที่ทะเลาะกับฝ่ายบริหาร ตรวจสอบการใช้จ่ายเงิน ซึ่งวัฒนธรรมเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้นในกระบวนการรัฐสภาของไทย”
จึงสนับสนุนให้รัฐสภารับบทบาทเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์ ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของรัฐบาลได้ผลคุ้มค่าหรือไม่ .