ยังมี ‘นักการเมือง-ข้าราชการ’ อีก 16 คน พัวพันคดีคืนภาษี 4.3 พันล.?
"ป.ป.ช.เลือก ‘เด็ด’เฉพาะ ระดับสูง กัน ‘ระดับล่าง’ เพื่อผลบางอย่าง ซึ่งจะต้องมีคำอธิบายต่อสังคมให้สิ้นสงสัย เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่าง และ มิให้ข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่สุจริตเกิดความรู้สึกว่า ‘ไม่เป็นธรรม’เกาะผู้มีอำนาจ คอร์รัปฯ ไม่ถูกลงโทษ มิฉะนั้นกระบวนการบังคับใช้กฎหมายจะถูกตั้งคำถาม"
คณะกรรมการป้องกันและปราบการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ได้มีมติเมื่อ 27 ต.ค.58 ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรงและคดีอาญาข้าราชการระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดคดีทุจริตคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มของกรรมสรรพากร 3.1 พันล้านบาท จำนวน 2 ราย
1.นายศุภกิจ ริยะการ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22
2.นายสาธิต รังคสิริ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากร
พฤติการณ์ของบุคคลทั้งสอง ตามคำแถลงของนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. สรุป ดังนี้
กรณี นายศุภกิจ ริยะการ (นายสิริพงษ์ ริยะการธีรโชติ) เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยฝ่าฝืนระเบียบแนวทางปฏิบัติของ กรมสรรพากร
1.ยุติการตรวจสภาพกิจการของบริษัทผู้ขอคืนภาษีเท็จ ไม่พิจารณาว่ามีการประกอบกิจการจริง
2.แต่ได้พิจารณาคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัทเท็จดังกล่าว เพื่อประโยชน์ของบริษัทที่ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม และเพื่อ ประโยชน์ของนายสาธิต รังคสิริ ที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เงินที่บริษัทขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้รับจากกรมสรรพากรโดยมิชอบ ได้นำไปซื้อทองคำแท่ง และนายสาธิต รังคสิริ เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในทองคำแท่งดังกล่าว
3.ทำให้ทางราชการได้รับความเสียหายจำนวน 3,146,175,475.93 บาท (เฉพาะสำนักงานสรรพากรพื้นที่ กรุงเทพมหานคร 22 )
กรณีนายสาธิต รังคสิริ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากร
ได้รับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการ สั่งคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นอย่างดีว่า บริษัทผู้ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้ง 25 บริษัท ไม่ได้เป็นผู้ส่งออกจริง ไม่มีความมั่นคง ไม่มีความน่าเชื่อถือ
1.ระงับเรื่องไม่ให้มีการตรวจสอบความถูกต้องตามแนวปฏิบัติของกรมสรรพากร เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงว่า ผู้ขอคืนภาษีเป็นผู้ประกอบการส่งออกจริงหรือไม่
2. เมื่อเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ตรวจสอบ พบว่า มีการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นจำนวนมากผิดปกติ และปฏิบัติไม่ถูกต้องตามระเบียบของกรมสรรพากร แต่นายสาธิต รังคสิริ กลับสั่งการไม่ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่
3.ระงับเรื่องไม่ให้มีการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีที่สำนักตรวจสอบภาษีกลางได้ตรวจสอบบริษัท ซึ่งอยู่ในระหว่างการเชิญผู้ชำระบัญชีมาพบเจ้าหน้าที่ เนื่องจากทั้งสองบริษัทได้แจ้งเลิก และจดทะเบียนเสร็จการชำระ บัญชีไว้แล้ว ทั้งนี้เพื่อไม่ต้องการให้พบข้อเท็จจริงว่าบริษัทดังกล่าวไม่ได้ประกอบการจริง
4.การไม่ดำเนินการ ตรวจสอบหรือไม่สั่งการให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงของนายสาธิตเป็นเหตุให้นายศุภกิจ ปฏิบัติหน้าที่โดยฝ่าฝืนระเบียบแนวทางปฏิบัติของกรมสรรพากร ให้กับบุคคลและกลุ่มบริษัทที่ร่วมกระทำความผิด หลายครั้งโดยทุจริต
5.ได้รับผลประโยชน์โดยได้นำเงิน ที่บริษัทขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้รับจาก กรมสรรพากรโดยมิชอบ จ านวน 179,869,250 บาท ไปซื้อทองคำแท่ง นายสาธิต รังคสิริ เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ ในทองคำแท่งดังกล่าว
ขั้นตอนต่อจากนี้ คณะกรรมการป.ป.ช.ส่งเรื่องหน่วยงานต้นสังกัดดำเนินการลงโทษ และส่งเรื่องให้อัยการส่งฟ้องต่อศาลยุติธรรม
เพื่อให้เห็นภาพ ขอไล่เรียงพฤติการณ์ของขบวนการนี้ดังนี้
ช่วงปี 2555 คนกลุ่มหนึ่งได้ตั้งบริษัทกระดาษ 30 บริษัท (เฉพาะในพื้นที่ บางรัก) ทุนจดทะเบียนแห่งละ 1-5 ล้านบาท อ้างว่าทำธุรกิจส่งออกแร่โลหะ ใช้ชื่อชาวบ้านถือหุ้น และเป็นกรรมการ (ส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ จ.พิจิตร) แล้วมาขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มต่อกรมสรรพากร และกรมสรรพากรได้คืนเงินในช่วงปี 2555 – 2556 จำนวน 25 บริษัท 3.1 พันล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินมากที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งกรมสรรพากร จากวงเงินเสียหายรวมประมาณ 4.3 พันล้านบาท (พื้นที่ จ.สมุทรปราการ เฉพาะ 5 บริษัท คืนเงินภาษีให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ 650 ล้านบาท)
ประเด็นหยิบยกในกรณีนี้ก็คือการที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลข้าราชการเพียง 2 คน ทำให้เกิดข้อสงสัยว่ามีผู้เกี่ยวข้องเพียงแค่นี้?
คอร์รัปชั่น (เงินภาษีประชาชน) 3.1 พันล้านบาท คนผิด 2 คนอย่างนั้นหรือ!
ถ้าย้อนกลับไปดูผลสอบสวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการของคณะกรรมการ 2 ชุดก่อนหน้านี้จะพบว่า ‘ไม่ใช่’
มีอีกเป็นพรวน
1.คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงของกระทรวงการคลัง มีนายประสิทธิ์ สืบชนะ ผู้ตรวจราชการ เป็นประธานกรรมการ สรุปเมื่อ 22 ส.ค.56 เบื้องต้นมีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง จำนวน 18 ราย แบ่งเป็นข้าราชการอำนวยการระดับสูง ซี 9 จำนวน 4 ราย และข้าราชการระดับปฏิบัติงานอีกจำนวน 14 ราย (ไม่เปิดเผยชื่อ)
2.คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชุดที่มีอธิบดีกรมสรรพากรขณะนั้น (นายสาธิต รังคสิริ) เป็นผู้แต่งตั้ง ซึ่งนายสาธิต แถลงข่าวในวันเดียวกัน (ห่างกัน 2 ชั่วโมง) ระบุกว้างๆว่ามีเจ้าหน้าที่สรรพากรเกี่ยวข้องจำนวน 10 ราย แต่ไม่สามารถระบุชัดเจนได้ว่าทั้ง 10 รายมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตด้วยหรือไม่ โดยให้เหตุผลว่าต้องรอข้อมูลการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) อีกครั้ง
ขณะที่ ผลสอบสวนของดีเอสไอมีเอกชนกระทำผิด 5 รายคือ 1.นายวีรยุทธ แซ่หลก หรือ นายธนยุทธ ดลธนโกเศศ 2.นางสาวสายธาร แซ่หลก 3.นายสุรเชษฐ์ มหารำลึก 4.นายประสิทธิ์ อัญญโชติ 5.นายกิตติศักดิ์ อัญญโชติ ฐานกระทำความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนโดยเจตนาหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม กระทำการใดๆโดยความเท็จโดยฉ้อโกง หรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดในทำนองเดียวกัน อันเป็นความผิดตามมาตรา 90/4(6) แห่งประมวลรัษฎากร และมาตรา 341 ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา (ความจริงยังมีบุคคลร่วมเครือข่ายจัดตั้งบริษัทอีกหลายคนในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ ไม่ถูกดำเนินคดี)
และเมื่อย้อนดูคำสั่งของ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ที่ 16/2558 ลงวันที่ 15 พ.ค.58 ย้ายข้าราชการการระดับสูงของกระทรวงการคลัง 6 คน ในจำนวนนี้ 5 คน คาดว่าเกี่ยวข้องกับคดีนี้
1. นายสาธิต รังคสิริ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวง
2. นายป้อมเพชร วิทยารักษ์ ผู้เชี่ยวชาญประจําภาค 7
3. นายศุภกิจ ริยะการ สรรพากรพื้นที่นราธิวาส จังหวัดนราธิวาส
4.นายพายุ สุขสดเขียว สรรพากรพื้นที่ปัตตานีจังหวัดปัตตานี
5. นายมานิตย์ พลรัตน์ สรรพากรอําเภอ สํานักงานสรรพากรพื้นที่สาขาเมืองตาก จังหวัดตาก
หากตั้งสมมติฐานว่า นายสาธิต และ นายศุภกิจ เป็น 2 ใน 18 คนตามผลสอบสวนของกระทรวงการคลังข้างต้น และถูก ป.ป.ช.ชี้มูลไปแล้ว
เท่ากับยังมีข้าราชการอีกอย่างน้อย 16 คน ยังไม่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูล?
ที่น่าสนใจ ในพื้นที่บางรัก จุดเกิดเหตุู ข้าราชการระดับรองลงมา ได้แก่ ผู้ช่วย สท. 22 หัวหน้าทีมกำกับดูแล หัวหน้าทีมย่อย 2 คน (แต่ละคนมีลูกทีม 4 คน) ทั้งที่บางคนยอมทำผิด เพื่อหวังไต่เต้าได้ตำแหน่งที่สูงขึ้น และยังเสวยสุขอยู่ในขณะนี้
และ ระดับ 8 - 9 อีก 3 คนที่มีรายชื่อในคำสั่ง หัวหน้า คสช.ที่ 16/2558 หายไปไหน?
กรณีนี้เป็นไปได้ใน 2 ทาง
หนึ่ง ยังมีคดีอื่นที่ ป.ป.ช.ยังสอบสวนไม่แล้วเสร็จ โดยเฉพาะกรณี ความเสียหายในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ ซึ่งกรมสรรพากรคืนเงินภาษีไปแล้วอย่างน้อย 650 ล้านบาท ไม่รวม พื้นที่ สมุทรสาคร และนนทบุรี
สอง ป.ป.ช.เลือก ‘เด็ด’เฉพาะ ระดับสูง กัน ‘ระดับล่าง’ เพื่อผลบางอย่าง ซึ่งจะต้องมีคำอธิบายต่อสังคมให้สิ้นสงสัย เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่าง และ มิให้ข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่สุจริตเกิดความรู้สึกว่า ‘ไม่เป็นธรรม’ เกาะผู้มีอำนาจ คอร์รัปฯ ไม่ถูกลงโทษ
มิฉะนั้นกระบวนการบังคับใช้กฎหมายจะถูกตั้งคำถาม
ในส่วนของการติดตามเอาทรัพย์สินคืน มีการอายัดทรัพย์สินผู้เกี่ยวข้อง 3 ราย รวมประมาณ 250 ล้านบาท มากสุดคือทองคำแท่งมูลค่า 179 ล้านของนายสาธิต กระนั้นเป็นเศษเสี้ยวของ 4.3 พันล้าน ยังไม่มีคำอธิบายว่าเส้นทางเงินอีก 4 พันล้านบาท หายไปไหน? ฟอกเงินเป็นทรัพย์สินอื่น หรือ โอนไปให้ใครในต่างประเทศ
ความจริงแล้วองค์ประกอบปกติของการคอร์รัปชั่นทั้งคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายที่มีความซับซ้อนสูง และ คอร์รัปชั่นแบบโบราณที่มีความเสียหายวงเงินสูง ผู้เกี่ยวข้องมี 3 ฝ่าย (stakeholder) คือ นักการเมือง (และคนใกล้ชิด) ข้าราชการ และ เอกชน
กรณีนี้จัดอยู่ในประเภทหลัง เห็นตัว ได้ตัวแล้ว 2 กลุ่ม แม้ยังไม่ครบเซ็ท ยังทำไม่สะเด็ดน้ำ
สำคัญที่สุด ยังขาด นักการเมือง จอมโจรเสื้อสูท ซึ่งอยู่ยอดบนสุดของสามเหลี่ยม คอร์รัปชั่น ครับ
อ่านประกอบ:
ป.ป.ช.เชือด'สาธิต-ศุภกิจ'คดีทุจริตคืนภาษี-พบเอาเงินไปซื้อทองคำแท่ง 179 ล.