ภาคประชาสังคมจี้ ก.ทรัพยากรฯ ยกเลิกประกาศเว้น EIA โรงไฟฟ้าขยะ
องค์กรภาคประชาสังคมจี้ ก.ทรัพยากรฯ ยกเลิกประกาศยกเว้น EIA โรงไฟฟ้าขยะ 10 เมกกะวัตต์ขึ้นไป หวังคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พร้อมทบทวน กม.ที่เกี่ยวข้อง ‘สมนึก จงมีศวิน’ เผยร่างแผนแม่บท ปี 59-64 พื้นที่ศักยภาพก่อสร้าง 53 แห่ง เปิดแล้วภูเก็ต-หาดใหญ่ ด้าน ผอ.มูลนิธิบูรณนิเวศ หวั่นงบฯ 1.7 แสน ล.สูญ กลายเป็นอนุสาวรีย์ สร้างภาระท้องถิ่น
วันที่ 28 ตุลาคม 2558 มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (Enlaw) ร่วมกับมูลนิธิบูรณะนิเวศ และเครือข่ายประชาชนศึกษาและติดตามปัญหาขยะ จัดเสวนาวิชาการ เรื่อง ยกเว้น EIA โรงไฟฟ้าขยะ:วิกฤตสิ่งแวดล้อมใหม่ของสังคมไทย ณ ห้องประชุม ชั้น 4 มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากรัฐบาลมีแผนแม่บทระดับชาติจัดการปัญหาขยะมูลฝอย และกำหนดแผนการสร้างโรงไฟฟ้าขยะ เป็นส่วนหนึ่งในแนวทางการแก้ไขปัญหา จึงมีความพยายามผลักดันให้เกิดโรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่ต่าง ๆ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติจึงมีมติประชุม ครั้งที่ 2/2558 วันที่ 10 มิถุนายน 2558
โดยให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมออกประกาศยกเว้นให้โรงไฟฟ้าขยะไม่ต้องจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment:EIA) แต่ให้กำหนดประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practice:CoP) สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิง ที่มีกำลังผลิตกระแสไฟฟ้าตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ ขึ้นไป
นายสมนึก จงมีวศิน ที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการ เครือข่ายเพื่อนตะวันออก เปิดเผยถึงเหตุการณ์ความเสียหายที่เกิดจากบ่อขยะในประเทศ โดยยกตัวอย่าง บ่อขยะแพรกษา พื้นที่ 150 ไร่ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ มีขยะกากอุตสาหกรรมไม่อันตราย และขยะกากอุตสาหกรรมอันตราย และบ่อขยะ ต.มาบไผ่ พื้นที่ 3 ไร่ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ที่มีกากอุตสาหกรรมอันตราย ซึ่งทั้งสองพื้นที่เคยเกิดเพลิงไหม้และส่งกลิ่นเหม็นรบกวน หากจะจัดการบ่อขยะจะต้องใช้เงินสูงถึง 200 ล้านบาท สำหรับบ่อขยะมาบไผ่ และ 1 หมื่นล้านบาท สำหรับบ่อขยะแพรกษา
ทั้งนี้ ข้อมูลกรมโรงงาน เมษายน ปี 2556 ระบุไทยมีโรงงานที่มีของเสียอุตสาหกรรมอันตราย 1.6 หมื่นแห่ง และจากข้อมูล ณ มีนาคม 2555-มีนาคม 2556 พบมีใบแจ้งขนออกกากของเสียอุตสาหกรรมอันตรายจากโรงงาน 2.75 ล้านตัน/ปี แต่กลับมีใบขนจริงหรือมีการนำไปบำบัดเพียง 9 แสนตัน เท่ากับว่า มีกากของเสียอุตสาหกรรมอันตรายหายไปจากระบบ 1.85 ล้านตัน
นอกจากนี้ยังมีโรงงานที่มีกากของเสียอุตสาหกรรมอีก 1.2 หมื่นแห่ง มีใบแจ้งขนออกจากโรงงาน 41.5 ล้านตัน แต่กลับมีใบขนจริงเพียง 12 ล้านตัน เท่ากับว่า มีหายไปจากระบบถึง 29.5 ล้านตัน ซึ่งมีคำตอบว่า กากอุตสาหกรรมปกติสามารถทิ้งร่วมกับขยะในชุมชนได้ เนื่องจากกฎหมายเปิดช่องไว้
นั่นแสดงว่า มีของเสียทั้งหมดหายไปจากระบบ 31.35 ล้านตัน/ปี หากกำจัดจะมีต้นทุนอย่างต่ำ 3,000 บาท/ตัน ยังไม่รวมค่าขนส่ง
ที่ปรึกษาฯ เครือข่ายเพื่อนตะวันออก กล่าวถึงแนวทางจัดการขยะของรัฐบาลปัจจุบันว่า ต้องการจัดการขยะค้างเก่าล้นประเทศให้หมดไปรวดเร็วที่สุด จึงต้องเร่งผลักดันโรงไฟฟ้าขยะ ตั้งคำถามว่า ตอบโจทย์ทุกข้อของรัฐบาลหรือไม่ ซึ่งจากการพูดคุยพบว่า โรงไฟฟ้าจะมีเฉพาะระบบเผาตรง ไม่มีระบบอื่น
อีกทั้งบางพื้นที่ไม่มีบ่อขยะ แต่กลับจะก่อสร้างโรงไฟฟ้า นอกจากนี้จะแก้ไขปัญหาขยะได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ เพราะการเผาย่อมเกิดสารโลหะหนักและสารไดออกซิน ซึ่งอาจสร้างปัญหารูปแบบใหม่ซ้ำเติมผู้อาศัยรอบพื้นที่บ่อขยะเดิมได้
“ร่างแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ พ.ศ.2559-64 กำหนดพื้นที่ที่มีศักยภาพเป็นโรงงานไฟฟ้าขยะ 53 แห่ง ทั่วประเทศ เปิดดำเนินการแล้ว 2 แห่ง ได้แก่ เทศบาลนครภูเก็ต เทศบาลนครหาดใหญ่ อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 3 แห่ง ได้แก่ กทม. เทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลตำบลแม่ขรี จ.พัทลุง เซ็นสัญญา MOU 2 แห่ง ได้แก่ เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา อบจ.ระยอง อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม 1 แห่ง ได้แก่ อบจ.ลำพูน ส่วนอีก 45 แห่ง ถูกคัดค้านจากชาวบ้าน เพราะไม่ไว้วางใจการจัดการที่ผ่านมา” นายสมนึก กล่าว
ด้าน น.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผอ.มูลนิธิบูรณนิเวศ กล่าวเพิ่มเติมถึงกรอบวงเงินงบประมาณ 6 ปี ทั้งสิ้น 178,600 ล้านบาท ประกอบด้วยงบประมาณของรัฐ 94,600 ล้านบาท และงบประมาณอื่น ๆ โดยเอกชนลงทุน 84,000 ล้านบาท แบ่งเป็น
ระยะสั้น พ.ศ.2559 รวมทั้งสิ้น 64,998 ล้านบาท ประกอบด้วย งบประมาณของรัฐ 32,598 ล้านบาท งบประมาณอื่น ๆ 32,400 ล้านบาท
ระยะยาว พ.ศ.2560-64 รวมทั้งสิ้น 113,602 ล้านบาท ประกอบด้วย งบประมาณของรัฐ 62,002 ล้านบาท งบประมาณอื่น ๆ 51,600 ล้านบาท
“แม้จะเป็นเพียงตัวเลข แต่กังวลจะก่อความเสียหายกับงบประมาณของแผ่นดิน ซึ่งการตั้งงบประมาณสูงขนาดนี้เพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ 53 แห่ง เชื่อว่า หลายแห่งจะใช้ไม่ได้ เป็นภาระของท้องถิ่น และกลายเป็นอนุสาวรีย์ ดังนั้นต้องช่วยกันติดตาม” ผอ.มูลนิธิบูรณนิเวศ ระบุ
ขณะที่นายไพโรจน์ พลเพชร อดีตคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า จะคัดค้านการแก้ไขกฎหมายยกเว้นการจัดทำ EIA โครงการโรงไฟฟ้าขยะอย่างถึงที่สุด จำเป็นต้องยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อพิสูจน์ว่า การออกกฎดังกล่าวไม่เป็นไปตามหลักการรับฟังความคิดเห็นอย่างเพียงพอ
ทั้งนี้ ปัจจุบันเราเห็นการผ่อนปรนให้เกิดการลงทุนมากขึ้น จนอาจทำให้มาตรการที่เข้มงวดตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 เปิดให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบลดน้อยลง อย่างไรก็ตาม ยืนยันเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นชีวิตหนึ่งของคน จะมีใครบังคับไม่ให้แสดงความคิดเห็นไม่ได้ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์พิเศษใด
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ช่วงท้ายกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคม และเครือข่ายที่ศึกษานโยบายตามแผนแม่บทการจัดการขยะ มีข้อเรียกร้องต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ยกเลิกประกาศฉบับที่ 7 พ.ศ.2558 และกำหนดโรงไฟฟ้าขยะมูลฝอยที่มีกำลังการผลิตตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ขึ้นไป ต้องจัดทำ EIA ตามเดิม เพื่อรองรับมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน จากกิจการที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ
พร้อมให้ทบทวนการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายให้เกิดประสิทธิภาพและการจัดการสิ่งแวดล้อมด้านขยะที่ยั่งยืน เช่น การคัดแยกขยะ การกำหนดมาตรฐานสิ่งแวดล้อม เพื่อควบคุมสารไดออกซิน ไอโลหะหนัก เถ้าเบา-หนัก ด้วย.