อดีตสปช. ชี้ปฏิรูปสื่อ เจ้าของสื่อต้องร่วมมือด้วย
อดีต สปช. แนะสื่อควรมี "อาชีวปฏิญาณ" สร้างความตระหนักในจริยธรรม คุณธรรม ประชาชนควรมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังตรวจสอบ ชี้ปฏิรูปสื่อได้ เจ้าของสื่อต้องมีส่วนร่วมด้วย
วันที่ 28 ตุลาคม 2558 ศูนย์คุณธรรม (องค์กรมหาชน) ร่วมกับ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนา “ปลุกจิตสำนึกจริยธรรมสื่อ เพื่อจุดเปลี่ยนสังคมไทย” ณ ห้องเฟอร์จูน โรงเเรมแกรนด์เมอร์เคียว ฟอร์จูน เพื่อสร้างแนวทางจริยธรรมสื่อมวลชน ในสถานการณ์ปฏิรูป
นายมานิจ สุขสมจิตร อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และรองประธานคณะกรรมธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกล่าวถึง “ทิศทางสื่อไทย ในสถานการณ์ปฏิรูป” ว่า คุณธรรมจริยธรรมในเรื่องของคนทำสื่อ คนในวงการวิชาชีพสื่อ ต้องอยู่ในฐานะอย่างหนึ่งคือ อาชีวปฏิญาณ คนในวงการสื่อต้องปฏิญาณว่าจะอยู่ในกรอบจริยธรรมของวิชาชีพสื่อ ต้องถือเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญกว่าความสามารถในการหาข่าว ความสามารถในการเขียนบทความที่แม้จะเป็นที่นิยมในวงกว้างแต่หากไร้คุณธรรม จริยธรรม ก็ไม่มีความหมายอะไร
"วงการนี้มีทั้งคนดีและคนไม่ดี แต่คนเหล่านั้นที่ทำให้วงการเสื่อมเสีย ในสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เมื่อเราออกกรอบกันมา เราคิดว่าเราจะดูเเลกันเองได้ แต่ผลสุดท้าย ก็เป็นอย่างที่เราเห็น นั้นคือ เมื่อมีคนร้องเรียนเรื่องสื่อ แต่พอจะจัดการ ตัวบุคคลนั้นก็ลาออก ก็ไม่สามารถจัดการได้ เป็นวงวัฎจักรว่า ต้องมีกฏหมายให้สื่อทุกคนต้องเป็นสมาชิก มีใบอนุญาต แต่กรรมการสื่อ ก็ติงว่าจะเป็นนั้นไม่ได้ การมีใบอนุญาตก็ดี การที่จะให้คนหมดอาชีพ ก็ต้องใช้อำนาจรัฐ การให้อำนาจรัฐเข้ามานั้น หากรัฐดีก็ดีไป หากรัฐไม่ดีก็จะใช้อำนาจส่วนนี้เข้าไปจัดการสื่อต่อไป เพราะถึงแม้ยังไม่มีกฎหมายชัดเจน เราสามารถสังเกตเห็นได้ว่ามีการใช้กฎหมายบางมาตราเข้ามาจัดการสื่อ"
นายมานิจ กล่าวอีกว่า ในวงการสื่อ อาจจะได้ยินว่าสื่อเป็นฐานันดรที่ 4 อยากเรียนให้ทุกท่านทราบว่าเป็นการสอนที่ผิด เพราะคนที่มีฐานันดรนั้นหมายความว่าที่ศักดิ์ศรีที่สูงกว่าคนธรรมดา สื่อคือคนธรรมดา เพียงแต่มีหน้าที่แตกต่างกันออกไปเท่านั้นเอง นักข่าวที่เขียนข่าวต้องอยุ่ในกรอบจริยธรรมของวิชาชีพสื่อ หากเราบอกว่าสื่อเป็นฐานันดรที่ 4 เราจึงเห็นนักข่าวกร่างเยอะแยะเต็มไปหมด เราต้องทำความใจใหม่ เพราะเรื่องนี้เริ่มต้นจากจากอังกฤษเมื่อกว่า 200 ปีก่อน ซึ่งเราไม่มีการวิเคราะว่า คำพูดนี้เยาะเย้ยหรือไม่
"แต่ผมคิดว่า คำพูดนี้ไม่สามารถรับได้ เพราะให้รู้สึกว่าตนเองมีศักดิ์สูงกว่าคนอื่นอยากฝากให้อาจารย์อย่าไปสอนให้นักศึกษามองเรื่องนี้ เพราะไม่อย่างนั้นเราจะมีนักข่าวกร่างเต็มไปหมด"
นายมานิจ กล่าวถึงรัฐธรรมนูญที่ถูกคว่ำไปมีการกำหนดเอาไว้ในเรื่องนี้เพื่อช่วยกำกับคนทำงานไว้ว่า รัฐทุกภาคส่วนต้องมาอบรมให้คนเป็นพลเมืองดี ให้เป็นคนที่ยึดมั่นอยู่ในคุณธรม จริยธรรม เคารพสิทธิของผู้อื่น เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนอื่นนั่นคือส่วนของกฎหมาย
"อนาคต ประชาชนผู้บริโภคสื่อ จะมากำกับดูแลสื่อโดยเฉพาะยุคโซเชี่ยลมีเดีย ค่อนข้างได้ผล เมื่อสื่อไหนปฏิบัติไม่เข้าร่องเข้ารอย ก็มีการตรวจสอบในภาคประชาชน แต่การจะวิพากษ์ต่างๆ ประชาชนเองต้องมีความเข้าใจอยู่ด้วย เพราะที่ผ่านมาก็มีคนทั้งคนที่เข้าใจและไม่เข้าใจ" อดีตสปช.กล่าว และว่า ขณะเดียวกันคนทำสื่อต้องตั้งข้อรังเกียจ คนที่ละเมิดจริยธรรมผ่านวงการวิชาชีพเองด้วย ไม่ใช่ว่าเรื่องส่วนตัวก็เรื่องหนึ่ง เรื่องทำงานก็เรื่องหนึ่ง เอาหูไปนาเอาตาไร่ แบบนี้ทำให้คนโกงในบ้านเราสามารถอยู่อย่างเชิดหน้าชูตาได้ แถมยังมีคนกราบไหว้
พร้อมกับยกตัวอย่าง คนเล่าข่าวในโทรทัศน์ช่องหนึ่ง ไปมีเรื่อง ฉาวโฉ่ และเมื่อจะมีการดำเนินการ ทางช่องต้นสังกัดกลับบอกว่า จัดการไม่ได้ เพราะเป็นเจ้าของเรตติ้งของช่อง เป็นต้น อดีตสปช.กล่าวว่า การที่เราไม่รังเกียจคนชั่ว คนชั่วถึงอยู่ได้ในสังคมนี้ แถมคนสมัยนี้ยังบอกว่า โกงไม่เป็นไร แต่ให้เราได้ผลประโยชน์บ้างก็ดี ซึ่งแบบนี้ เป็นความคิดอันตราย เพราะฉะนั้นคนทำสื่อต้องไม่คบหาสมาคมคนแบบนี้ด้วย
อดีต สปช. กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า เมื่อตอนคิดทำปฏิรูปสื่อนั้น คิดร่วมกับอาจารย์ในภาควิชาทั้งหลายระดมความคิดกัน แต่เจ้าของสื่อกลับไม่ให้ความร่วมมือเลย เพราะหากจะปฎิรูปสื่อ ต้องมีเจ้าของสื่อมาร่วมระดมความคิดด้วย ไม่อย่างนั้นเราก็จะย่ำอยู่ที่เดิม แบบนี้คนทำสื่อต้องสร้างการตรวจสอบและอย่าไปคบค้าสมาคมด้วย ทำอย่างไรที่จะร่วมกันช่วยกันคิด ช่วยกันปฎิรูปให้เรามีสื่อที่อยู่ในคุณธรรมที่ดี