เปิดแผนย้าย'หมอชิต' คมนาคม ชงพื้นที่ริมถนนแยกรังสิตถึงมธ.เหมาะสมสูงสุด!
เปิดแผนย้าย'หมอชิต' ล่าสุด! คมนาคม ชง ครม.ประยุทธ์ รับทราบความคืบหน้า ชี้จุดริมถนนแยกรังสิต ถึง มธ.เหมาะสม ส่วนนโยบายเลิกเก็บเงินค่าบริการสุขา เริ่มใช้ตั้งแต่ต้นปีแล้ว พร้อมสั่งปรับปรุงมาตรฐานใหม่ทั้งระบบ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ในช่วงกลางเดือนตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคม ได้รายงานผลการดำเนินงานโครงการย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (หมอชิต) และปรับปรุงห้องสุขาให้ถูกสุขลักษณะ ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบ โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
- โครงการย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (หมอชิต) เนื่องจากมีการก่อสร้างศูนย์คมนาคมพหลโยธิน ทำให้ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) จำเป็นต้องย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) หรือหมอชิต 2 ไปพื้นที่ใหม่
ในส่วนการจัดสร้างสถานีขนส่งผู้โดยสารย่อย (พหลโยธิน) สำหรับรถตู้โดยสารประจำทาง ได้มอบหมายให้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ทำการศึกษาและออกแบบโครงการให้สามารถรองรับจำนวนเที่ยววิ่งได้ 2,260 เที่ยวต่อวัน แบ่งพื้นที่เป็นชานชาลาประมาณ 8,800 ตารางเมตร แยกเป็นขาออก 215 ชานชาลา และขาเข้า 30 ชานชาลา ใช้พื้นที่ประมาณ 3,700 ตารางเมตร สำหรับจอดสำรองวิน 96 ช่อง ตัวอาคารสถานี 3 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 13,400 ตาราเมตร ซึ่งจะประกอบไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้โดยสารครบครัน
ส่วนโครงการย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ จตุจักร หรือ หมอชิต 2 เพื่อรองรับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต ที่คาดว่าจะมีประมาณ 28 ล้านคนต่อปี โดยใช้พื้นที่ประมาณ 80 ไร่ รองรับรถโดยสารประจำทาง จำนวน 138 ชานชาลา รองรับรถตู้โดยสารประจำทาง จำนวน 45 ชานชาลา มีพื้นที่จอดรถสำรองวิน ที่พักพนักงานประจำรถ และอาคารซ่อมบำรุงเบาพื้นที่ประมาณ 24,600 ตารางเมตร ตัวอาคารสถานีขนส่งฯ และมีพื้นที่ใช้สอยสำหรับผู้โดยสารและสำนักงานประมาณ 57,000 ตารางเมตร ทั้งนี้ สถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งใหม่จะมีความทันสมัยครบครัน ทั้งในด้านสาธารณูปโภค ร้านอาหาร สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมถึงระบบรักษาความปลอดภัยที่เป็นมาตรฐาน
สำหรับการจัดหาพื้นที่ในการก่อสร้างสถานีขนส่งแห่งใหม่นี้ ได้กำหนดปัจจัยที่จะนำมาวิเคราะห์ในการกำหนดที่ตั้งของสถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งใหม่ ได้แก่ ขนาดพื้นที่ไม่น้อยกว่า 80 ไร่ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของกรุงเทพฯ อยู่บนถนนสายหลัก หรือมีทางเชื่อมต่อสู่ถนนสายหลัก ตั้งอยู้ใกล้โครงการข่ายทางด่วน และทางขึ้น-ลงทางด่วน ตั้งอยู่ใกล้ระบบขนส่งมวลชนไฟฟ้า เรื่องราคาที่ดิน และมีความสอดคล้องกับเกณฑ์จัดตั้งสถานีขนส่งผู้โดยสารของกรมการขนส่งทางบก
จากการวิเคราะห์พบว่า พื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการจัดตั้งสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ แห่งใหม่ ได้แก่ พื้นที่บริเวณติดถนนพหลโยธินด้านเหนือ เริ่มจากแยกถนนรังสิต-ปทุมธานี ฝั่งขาออกจนถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) ซึ่งมีความเหมาะสมสูงสุด
- สำหรับการปรับปรุงห้องสุขาในถูกสุขลักษณะ เนื่องจากรัฐบาลได้มีนโยบายยกเลิกการเก็บค่าใช้บริการห้องสุขาภายในสถานีขนส่ง ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ทั่วประเทศ จึงได้มีการปรับปรุงรูปลักษณ์และมาตรฐานของการให้บริการห้องสุขา ภายในสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร) หรือ หมอชิต 2 เป็นการนำร่องของการให้บริการห้องสุขามาตรฐานใหม่เป็นที่แรก และได้ยกเลิกเก็บค่าใช้บริการตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา รวมถึงได้ปรับปรุงพัฒนาไปยังสถานีขนส่งแห่งอื่นด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมครม. ยังได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมไปศึกษาหาแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริหารรถโดยสารและลดต้นทุนของบริษัทขนส่ง จำกัด ใน 2 ประเด็น คือ 1. เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับสายการบินต้นทุนต่ำ ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน และ 2. การจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องในการให้บริการด้วย