แก้ กม. สสส. ฤาจะกลายเป็นอ้อยเข้าปากช้าง
ใกล้สิ้นสุด! มหากาพย์กองทุน สสส. ตรวจสอบการใช้งบฯ ไม่ตรงวัตถุประสงค์ ศอตช.ชง ก.สาธารณสุข เปิดเวทีถก 3 ประเด็น หาทางออก ภาคประชาสังคม-นักวิชาการ ไม่เห็นด้วย โยกเบิกจ่ายเงินเข้าส่วนกลาง หวั่นถูกระบบราชการกลืน ทำงานไม่คล่องตัว
หลังจากตกเป็นข่าวในสื่อมวลชนมาหลายวัน สำหรับการเข้าตรวจสอบงบประมาณสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งถูกมองว่าใช้จ่ายไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ และหลายโครงการไม่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ
กระทั่งทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. แสดงสปิริตประกาศลาออกจากตำแหน่ง หลีกทางให้คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ตรวจสอบการทำงาน
ขณะที่ภาคีพันธมิตร สสส.ทั้งหลายได้ออกมาปกป้อง ยืนยันเสียงหนักแน่นทุกโครงการโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเกี่ยวข้องกับสุขภาพตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544
ล่าสุด ดูเหมือนคลื่นลมสงบ ใกล้จะได้ข้อยุติ เมื่อ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ออกมาเปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เพื่อพิจารณากรณีการใช้จ่ายงบประมาณของ สสส.
โดยมีผลสรุปให้แก้ไขกฎหมาย 3 ประเด็น ได้แก่ นิยามการสร้างเสริมสุขภาพกว้างเกินไป การใช้จ่ายงบประมาณ รวมถึงคณะกรรมการ สสส.จัดตั้งมูลนิธิ เพื่อมารับทุนจากองค์กร ซึ่งอาจทำให้ถูกมองว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน
ทั้งนี้ พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 มาตรา 3 กำหนดนิยาม “สร้างเสริมสุขภาพ” หมายความว่า การใด ๆ ที่มุ่งกระทําเพื่อสร้างเสริมให้บุคคลมี สุขภาวะทางกาย จิต และสังคม โดยสนับสนุนพฤติกรรมของบุคคล สภาพสังคม และสิ่งแวดล้อมที่จะ นําไปสู่การมีร่างกายที่แข็งแรง สภาพจิตที่สมบูรณ์อายุยืนยาว และคุณภาพชีวิตที่ดี
มาตรา 10 ระบุ กองทุนมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ และรายได้ของกองทุนไม่ต้องนําส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน
มาตรา 18 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในกิจการที่กระทํากับกองทุน หรือในกิจการที่ขัดหรือแย้งกับวัตถุประสงค์ของกองทุน หรือได้รับประโยชน์ในกิจการที่ขัดหรือแย้งกับวัตถุประสงค์ของกองทุน
ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เว้นแต่เป็นผู้ดําเนินกิจการอันเป็นสาธารณประโยชน์ และมิได้แสวงหากําไร
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ในฐานะผู้มีบทบาทในการร่าง พ.ร.บ.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศราว่า นิยาม “สร้างเสริมสุขภาพ” ครอบคลุมปัจจัยเสี่ยงหลัก เช่น พฤติกรรมดื่มสุรา สูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย
โดย 2 ปีที่ผ่านมา สสส.สนับสนุนงบประมาณ ร้อยละ 40 ส่วนที่เหลือเป็นปัจจัยเสี่ยงรอง เช่น คนพิการ ผู้สูงอายุ ที่กำลังถกเถียงกันว่า เข้าข่ายนิยามข้างต้นหรือไม่ ซึ่งขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละบุคคล
ส่วนกรณีคณะกรรมการ สสส.บางท่าน จัดตั้งมูลนิธิ เพื่อมารับทุนจากองค์กร กลายเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนนั้น เขาบอกว่า บางโครงการไม่มีคนปฏิบัติ ทำให้กรรมการบางท่านต้องจัดตั้งมูลนิธิขึ้นมาปฏิบัติงานแทน เนื่องจาก สสส.ให้ทุนแก่นิติบุคคลเท่านั้น เพื่อสามารถตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ
“การขอแก้ไข พ.ร.บ.ห้ามคณะกรรมการ สสส.เป็นประธานมูลนิธิรับทุนโครงการจากองค์กรสามารถทำได้” ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต กล่าว และว่า แต่โครงการ สสส.ไม่ใช่งานก่อสร้างหรือสงเคราะห์ แต่เป็นนวัตกรรม
ฉะนั้นการหาคนมาปฏิบัติงานในบางโครงการจึงไม่ใช่เรื่องง่าย!!
สิ่งที่น่ากังวลมากกว่า คือ แนวคิดการนำกองทุน สสส.เข้าไปสู่งบประมาณปกติ ซึ่งเขามองว่า จะส่งผลให้ทำงานยาก ประสิทธิผลลดลง เพราะเมื่อเข้าไปอยู่ในระบบราชการแล้วย่อมถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นการอนุมัติโครงการหรือกำหนดทิศทางงบประมาณ
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต จึงไม่อยากให้กองทุน สสส.เข้าไปอยู่ในระบบราชการ เพราะการทำงานขององค์กรต้องการความคล่องตัว ดังนั้น การนำงบประมาณกลับเข้าไปเท่ากับกำลังเดินถอยหลัง จึงต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน
“กฎหมายฉบับปัจจุบันมีช่องโหว่หรือไม่ ขึ้นอยู่กับมุมมอง ต้องตีความในวงกว้าง ซึ่งยืนยันเนื้อหามีความครอบคลุม จึงไม่จำเป็นต้องแก้ไข แต่รัฐบาลอาจให้แนวทางเน้นเพิ่มสัดส่วนงบประมาณแก่ปัจจัยเสี่ยงมากขึ้นเป็นร้อยละ 60 ก็ได้ และให้คณะกรรมการ สสส.มีหน้าที่กำกับดูแล” เขากล่าวในที่สุด
ขณะที่มุมมองนักวิชาการด้านกฎหมายอย่าง ศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ (มธ.) เห็นว่า เมื่อใดที่มีการนำกองทุน สสส.เข้าไปไว้ในงบประมาณปกติ จะเข้าสู่ระบบการเมืองทันที ซึ่งนักการเมืองต้องการอยู่แล้ว จึงไม่เข้าใจเหตุผลของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ทั้งนี้ หากสำเร็จก็เปรียบได้กับอ้อยเข้าปากช้าง
ส่วนป้องกันไม่ให้สนับสนุนการทำกิจกรรมขององค์กรภาคประชาสังคมนั้น เขากล่าวว่า ตราบใดที่นโยบายรัฐมุ่งส่งเสริมให้ชุมชนเข้มแข็ง ช่วยเหลือตนเองได้ หากไม่ส่งเสริมภาคประชาชนจะส่งเสริมภาคไหน เพราะองค์กรภาคประชาชนทำงานด้วยใจ เงินเดือนน้อย ทุ่มเทมาก ฉะนั้น ปล่อยให้เข้าไปอยู่ในระบบราชการจะไม่เหลืออะไร เป็นเพียงหน่วยราชการหนึ่งเท่านั้น
นักวิชาการ มธ. ยังยืนยันไม่ควรแก้ไขนิยามคำว่า “สร้างเสริมสุขภาพ” แต่กรณีคณะกรรมการกองทุนเป็นผู้รับทุนไม่ได้ จะแก้ไขก็ไม่มีปัญหา หากกังวลผลประโยชน์จะทับซ้อน อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจบางครั้งคนทำงานมีน้อย จึงต้องยอมให้มีหลักการนี้ปรากฏอยู่
ทั้งนี้ การแก้ไข พ.ร.บ.ไม่ตอบโจทย์ปัญหากองทุน สสส. เท่ากับการตรวจสอบการทุจริต หากยอมให้อยู่ภายใต้นักการเมือง เขามั่นใจปัญหาทุจริตจะตามมาในอนาคต
“การตรวจสอบทุจริตเข้มงวดเป็นสิ่งดี ไม่ควรมีข้อยกเว้น ใครทุจริตต้องรับผิดชอบ ไม่ว่าเป็นภาคประชาสังคมหรือภาคไหน ๆ ” ศ.วิริยะ กล่าว
|
ด้านท่าทีของ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ รักษาการรองผู้จัดการ สสส. ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 ถึงกรณีการแก้ไข พ.ร.บ. ว่า พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา และคณะกรรมการ ศอตช. ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องแก้กฎหมาย เพียงแต่มอบหมายให้นำ 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ ขอบเขตสุขภาพ ระบบบริหารงบประมาณ และธรรมาภิบาล ผลประโยชน์ทับซ้อน ไปพูดคุยในเวทีของกระทรวงสาธารณสุข
“ศอตช.ไม่ได้ผูกขาดต้องใช้วิธีใดในการจัดการหรือปรับปรุง 3 ประเด็นดังกล่าว ส่วนการแก้ไข พ.ร.บ.เป็นเพียงวิธีหนึ่งที่อาจเป็นไปได้ แต่ไม่ได้ย้ำว่า ต้องแก้ไข หากใช้จะทำให้ดูเป็นการปิดทางออกหรือเป็นวิธีที่ตายตัวเกินไป”
รักษาการ ผู้จัดการ สสส.ยังบอกว่า สำหรับการนำงบประมาณเข้าอยู่ในระบบงบประมาณแผ่นดิน หรือต้องผ่านรัฐสภาเห็นชอบ ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า ไม่ใช่ประเด็นปัญหา แต่ขึ้นอยู่กับการหาวิธีการใช้จ่ายงบประมาณอย่างไรให้เกิดการรัดกุม และไม่ว่าอยู่ภายใต้การบริหารงานแบบใด สสส.จะต้องมีความคล่องตัวในการบริหารงาน ซึ่งวิธีใดนั้นต้องกำหนดและตกลงให้ชัดเจนอีกครั้ง
กรณีที่มีข่าวอาจต้องแก้ไขมาตรา 10 หรือไม่ เขาระบุว่า ใน พ.ร.บ.เขียนไว้ชัดเจนแล้วว่า กองทุน สสส.มีฐานเป็นหน่วยงานของรัฐ ไม่ได้เป็นราชการหรือรัฐวิสาหกิจ และกฎหมายว่าด้วยวิธีงบประมาณยังบัญญัติว่า รายได้ของกองทุนไม่ต้องนำส่งรัฐ ซึ่งกฎหมายข้อนี้ปรากฏในกฎหมายอื่นอีกกับองค์กรที่ไม่ใช่ราชการ
ทั้งนี้ ถือเป็น พ.ร.บ.แม่บทพื้นฐานที่หลายหน่วยงานใช้ ดังนั้น การแก้ไขมาตรา 10 อาจต้องพลิกกฎหมายและแก้ไขกันอีกหลายส่วน และเมื่อจะทบทวนคงต้องหาหลักวิชาการ ประกอบด้วย
การแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ 3 ประเด็นที่เกี่ยวข้อง จะช่วยขจัดข้อกังขาของสังคมในเรื่องการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ หรือพากันถอยหลังลงคลอง คงต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้บริหารประเทศว่า เข้าใจนิยามมากน้อยเพียงใด .
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ดร.สุปรีดา แถลงโชว์ผลการทำงานคะแนน KPI เกือบเต็ม ติงสตง.อย่าดูค่าแค่บางตัว
ตรวจสอบ สสส. ฟังคำต่อคำ "พิศิษฐ์ VS นพ.วิชัย"
ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนคำยืนยันจากสสส.
นพ.อำพล ไขวิวาทะ "สุขภาวะ" แบบไหนสอดคล้องกับบริบทโลก-พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ 2550
'ทพ.กฤษดา' ทิ้งเก้าอี้ ผู้จัดการ สสส. เปิดทางให้ตรวจสอบการทำงาน
'ไม่ได้บอกทำผิด'พล.ร.อ.ณรงค์' ยันตรวจสอบสสส.หวังคลายข้อสงสัยให้สังคม
สารี อ๋องสมหวัง:ผลประโยชน์ทับซ้อน
เชิญผู้บริหาร สสส.แจง! คตร.-สตง.พบมีใช้งบไม่ถูกระเบียบ-บี้คนรับผิดชอบ
'อิศรา'ถาม 'ไพบูลย์' ตอบ! ปมสอบงบฯ สสส. 'อย่าผูกเรื่องสื่อขัดแย้งกับ รบ.'