ดร.สุปรีดา แถลงโชว์ผลการทำงานคะแนน KPI เกือบเต็ม ติงสตง.อย่าดูค่าแค่บางตัว
รักษาการผู้จัดการ สสส. แถลงครั้งแรก ยันภาพใหญ่อัตราการสูบบุหรี่ และดื่มเหล้าลดจริง ยันไม่ได้เจ้าเดียวที่รับผิดชอบเรื่องนี้ มี 21 หน่วยงานเกี่ยวข้อง ส่วนโครงการสวดมนต์ข้ามปี พีดสุดปี 55 ใช้เงินวันเดียว 30 ล้านจัดงาน แต่ปีต่อมาลดมาโดยตลอด โชว์ตัวเลขผลตอบแทนทางสื่อกว่า 260 ล้าน จนเกิดเป็นกระแสติดลมบน
วันที่ 27 ตุลาคม ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ รักษาการผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ กรุงเทพฯ ภายหลังเข้าชี้แจงต่อ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ในการประชุมศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า ในประเด็นข้อกล่าวหาทุจริต การทำผิดระเบียบ ไม่ถูกต้อง ทุกอย่างถูกเคลียร์หมดแล้ว เหลือเพียง 3 ประเด็นที่ไม่ใช่เรื่องการผิดระเบียบ ทุจริต แต่เป็นแง่มุมที่สังคมต้องถกเถียงกัน 3 ด้าน โดยให้คณะกรรมการของกระทรวงสาธารณสุขประกอบการพิจารณา ซึ่งไม่ใช่การแก้ไขกฎหมาย ทั้งเรื่องการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน ธรรมาถิบาล ระบบงบประมาณการเงิน และขอบเขตคำว่า สุขภาพ การสร้างเสริมสุขภาพ เป็นต้น
ดร.สุปรีดา กล่าวถึงประเด็นอัตราการสูบบุหรี่และดื่มเหล้าไม่ลดลง จนกระทั่งมีการสรุปภาพใหญ่ สสส.ทำงานไม่ได้ผลตามวัตถุประสงค์การจัดตั้งกองทุนฯ นั้น ถือเป็นคำใหญ่ ซึ่งสสส.ได้เคลียร์ไปว่า อัตราการสูบบุหรี่ และดื่มเหล้าว่า ภาพใหญ่ลดลง
“สสส.ร่วมรับผิดชอบ ประเด็นการสูบบุหรี่และดื่มเหล้า แต่สสส.ไม่ได้เจ้าเดียวที่รับผิดชอบเรื่องดังกล่าว บทบาทของเราคือการชวนคนมาทำเรื่องเหล่านี้ เช่น ภาษี ก็ต้องให้หน่วยงานทางภาษีสนใจ หากประสบความสำเร็จ ก็เป็นความสำเร็จร่วม” รักษาการ ผู้จัดการ สสส. กล่าว และว่า ในแผนยุทธศาสตร์ชาติในการควบคุมการบริโภคยาสูบ มี 8 ยุทธศาสตร์ย่อย มีหน่วยงานเกี่ยวข้องทั้งหมด 21 หน่วยงาน ในการลดอัตราการสูบบุหรี่ ฉะนั้น สสส.เป็นแค่ส่วนหนึ่ง ยังมีผู้เกี่ยวข้องอีกจำนวนมาก
ดร.สุปรีดา กล่าวถึงมาตรวัดความสำเร็จ (KPI) การทำงานของสสส.ที่ผ่านมา สสส.ได้คะแนน 4.77 จากเต็ม 5 อีกทั้งมาตรวัดความสำเร็จก็ได้ถูกรายงานไปที่กพร.และครม.แล้วเช่นกัน สตง.อาจไปดูบางค่าบางตัว และไปสรุปรวม สสส.ทำงานไม่ได้ผล
“ผมเข้าใจว่า บางคนรู้สึกว่า ในนิยาม สร้างสุขภาพ ในพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 กว้างมาก อะไรก็ใช่หมด แต่การทำงานคณะกรรมการ สสส.จะกำหนดเรื่องสำคัญๆ ลำดับความสำคัญสิ่งที่จะทำในแต่ละปี โดยมีงานวิชาการมารองรับ เรียกว่า แผนดำเนินการ คือการแปลงงานที่ต้องทำจากคำนิยาม รวมทั้งมีการอธิบายชัดเจนว่า ทำไมถึงเลือกทำ ยกตัวอย่าง ปี 2557 สสส.เลือกทำ 14 เรื่องใหญ่ อาทิ ปัจจัยที่ทำให้คนสุขภาพดี ไม่ดี ยาสูบ แอลกอฮอล์ อาหาร แผนประชากรเฉพาะกลุ่ม กลุ่มเด็กเยาวชน กลุ่มเปราะบาง สุขภาวะเชิงพื้นที่ เป็นต้น”
รักษาการ ผู้จัดการ สสส. กล่าวถึงโครงการสวดมนต์ข้ามปี ที่สตง.มองว่าใช้เงิน 30 ล้านบาทไม่คุ้มค่าและใช้เพียงแค่วันเดียวนั้น การลงทุนที่ทำไปนั้นได้ผลตอบแทนทางสื่อกว่า 260 ล้านบาท ที่สำคัญคือเกิดเป็นกระแส ซึ่งสสส.พยายามทำยุทธศาสตร์การทำงานด้วยการมองหาโมเดลทางเลือกเพื่อให้เกิดเป็นวัฒนธรรมใหม่ สสส.จุดไฟให้ติด เมื่อไฟติดแล้ว ไฟลามแล้วก็ค่อยๆถอยตัวออกมา
“คำถามที่หลายคนตั้งข้อสงสัยว่า 30 ล้านแพงไปหรือไม่ กับการจัดงานวันเดียว อยากจะบอกว่า ปี 2555 เป็นปีที่พีคที่สุด ขณะที่ปี 2557 เราใช้งบน้อยลง ขณะที่ปี 2558 แทบจะไม่ได้ลงทุน แต่กิจกรรมยังสามารถดำเนินต่อไปได้ ดังนั้นจึงอยากจะอธิบายให้สตง.ได้เข้าใจ โดยเราอธิบายให้กรรมการฟังแล้วไม่มีใครข้องใจในประเด็นนี้”
ส่วนที่กล่าวหาว่า คณะกรรมการในสสส.ไม่มีธรรมาภิบาลนั้น ดร.สุปรีดา กล่าวด้วยว่า เรื่องธรรมาภิบาล สสส.ได้เพิ่มกรรมการด้านธรรมาภิบาลขึ้นมา 1 ปีแล้ว นอกจากนี้ยังจะมีชุดมาตรการเพิ่มเติมเข้ามาอีก ซึ่งได้เสนอบอร์ดสสส.ไปเรียบร้อยแล้ว ที่สำคัญคือสสส.จะเป็นองค์กรนำร่องในการนำสัญญาคุณธรรม (Integrity Pact) เข้ามาใช้ เพราะเรื่องนี้เรามองเห็นเป็นเรื่องสำคัญ และยึดถือเรื่องการมีผลประโยชน์ทับซ้อนเป็นเรื่องสำคัญด้วยเช่นกัน