'มวยเด็ก' พุ่ง 3 แสนพบทั่วประเทศ นักวิจัยชี้เสี่ยงสมองเสื่อม ไอคิวต่ำ
นักวิจัยชี้ นักมวยเด็ก เสี่ยงสมองทึบ ไอคิวต่ำ ส่งผลต่อชีวิตในอนาคต เสนอให้ปรับปรุงพ.ร.บ. มวย เพิ่มกติกา ยกระดับมวยไทยให้เป็นสากล ติงผู้ปกครองต้องไม่อ้างการชกแทนบุณคุณ
วันที่ 26 ตุลาคม 2558 คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี จัดประชุมเสวนางานวิจัย “การบาดเจ็บของสมองในนักมวยเด็ก” โดย ศาสตราจารย์แพทย์หญิงจิรพร เหล่าธรรมทัศน์ รองศาสตรจารย์นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ และดร.นายแพทย์วิทยา สังขรัตน์ นำเสนอผลการวิจัย เพื่อการขับเคลื่อนนโยบายคุ้มครองเด็กและเยาวชน ณ ห้องเรียนรวม คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
ศ.พญ.จิรพร กล่าวถึงการศึกษาวิจัยด้านสมองของนักมวยเด็ก ที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีลงมาพบว่า สมองได้รับความเสียหาย โดยลักษณะที่พบส่วนใหญ่คือใยประสาท และเซลล์สมอง ฉีกขาดออกจากกัน อันเกิดจากอันเกิดจากแรงกระแทกบริเวณศีรษะ
สำหรับการศึกษาครั้งนี้ เริ่มจากการนำเอากลุ่มตัวอย่างสองกลุ่ม ซึ่งเป็นนักมวยเด็ก และเด็กปกติในอายุและฐานะทางบ้านใกล้เคียงกัน มาแสกนด้วยเครื่อง MRI พบว่า สมองของนักมวยเด็กนั้น พบมีความผิดปกติตั้งแต่มีน้ำคั่งในสมอง ใยสมองที่ผิดปกติ รวมไปถึงการมีปริมาณของธาตุเหล็กในสมองเกินมาตรฐาน อันเกิดจากการเคยมีเลือดออกในสมอง การมีธาตุเหล็กสะสมอยู่มากในสมองนั้น จะส่งผลร้ายเพราะธาตุเหล็กจะเป็นตัวทำลายสมองต่อไป
ศ.พญ.จิรพร กล่าวว่า การเกิดภาวะเสียหายของใยประสาทและเซลล์ประสาท รวมไปถึงปริมาณธาตุเหล็กที่สูงนั้น ทำให้เกิดภาวะของสมองรวน และส่งผลทางด้านความจำ สมองเสื่อม รวมไปถึงภาวะน้ำในสมองมาก จนอาจสกัดกั้นการเจริญเติบโตในสมอง ซึ่งเด็กที่อายุน้อยสมองยังไม่เติบโตเต็มที่ กลับกันสิ่งเหล่านี้ไม่พบในสมองของเด็กปกติ แม้ว่าพวกเขาจะมาจากฐานะทางบ้านใกล้เคียงกัน โดยข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้ทำให้เห็นความต่างระหว่างนักมวยเด็กกับเด็กปกติอย่างมีนัยยะสำคัญ
"แม้นักมวยเด็กมีความชำนาญในการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะมือ และสายตาที่ดีกว่าเด็กทั่วไป แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่คุ้มกับการที่สมองต้องเสื่อมสภาพอย่างรวดเร็วก่อนวัย"
และจากผลการศึกษาด้านระดับสติปัญญา ศ.พญ.จิรพร กล่าวว่า ความฉลาดทางด้านสติปัญญาหรือ IQ ของนักมวยเด็กนั้นมี IQ มีการถดถอยอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะกับเด็กที่ต่อยมวยมานานกว่าห้าปี พบว่าระดับไอคิวเฉลี่ยอยู่ที่ 88 % ซึ่งต่ำกว่าค่ามาตรฐานถึง 10 หน่วย นั้นสะท้อนให้เห็นว่า ยิ่งชกนานสมองยิ่งบาดเจ็บมาก ทั้งใยประสาท เซลล์ประสาท หรือสมองส่วนที่เกี่ยวข้องต่อการเรียนรู้ ส่งผลต่อการเรียนรู้ต่อไปในอนาคต
“แทนที่เด็กคนหนึ่งจะสามารถเรียนในระดับที่สูงขึ้นไป กลับกลายเป็นว่า สมองถูกทำลายจนไม่สามารถพัฒนาเพื่อเข้าเรียนในระดับสูงๆ ได้ นั้นก็ส่งผลต่ออนาคตโดยรวม เพราะอายุของอาชีพมวยสั้นมาก"
ศ.พญ.จิรพร กล่าวถึงกติกาของมวยไทยนั้นที่ไม่มีกติกากำหนดว่า เด็กควรต่อยยกละกี่นาที เราใช้กติกาเดียวกับผู้ใหญ่ เมื่อเทียบกับต่างประเทศที่กำหนดชัดเจนว่าเด็กต้องไม่ต่อยเกิน 1.5นาที และต่อยเพียง 3 ยก พักระหว่างยก 2นาที รวมไปถึงระยะห่างต่อการชกแต่ละแมตช์ เป็นต้น
"จากการศึกษาพบว่า นักมวยเด็กนั้นร้อยละ 30 ขึ้นชกทุกสัปดาห์ รวมไปถึงการไม่มีอุปกรณ์ป้องกันตัวใดๆ เลย และอีกอย่างนั่นคือ เด็กนั้นจะความบริสุทธิ์ ยังไม่มีความคิดมายาเหมือนนักมวยผู้ใหญ่ ที่จะออกหมัดแต่ละที จะเข้าหาคู่ต่อสู้ต้องมีกระบวนท่า หรือลีลา แต่ในเด็กเมื่อขึ้นเวที ก็ปรี่เข้าหากันเลย เพราะเป้าของเขาคือ น็อคคู่ต่อสู้ให้ได้ และนั่นก็ส่งผลกระทบตามมาอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น"
แม้ว่าประเทศไทยจะมีพ.ร.บ. กำหนดเรื่องของอายุนักมวยอาชีพว่าเด็กจะลงทะเบียนเป็นนักกีฬามวยได้ต้องอายุ 15 ปี แต่พ.ร.บ.กีฬามวยไม่ได้ห้ามไว้ว่าเด็ก 3 ขวบห้ามขึ้นชก ไม่ได้เขียนว่ากี่ขวบห้ามชก นั้นเป็นช่องโหว่ ทำให้ทุกวันนี้เรามีเด็กที่ขึ้นชกอยู่กว่า 3 แสนคนทั่วประเทศ ซึ่งมากกว่าจากการสำรวจในปี 2007 ที่มีเพียง 100,000 คน หลายเท่าตัว
ศ.พญ.จิรพร กล่าวด้วยว่า การจะไปแก้ความเชื่อวัฒนธรรมที่มีอยู่ในสังคมมาเป็นร้อยๆ ปีคงทำไม่ได้ แต่ถ้าจะเริ่มต้องเริ่มจากวันนี้ ต้องทำความเข้าใจกับพ่อแม่เด็ก ค่ายมวย ต้องพลักดันให้เกิดการคุ้มครองที่จริงจัง เพราะตัวเลขจากงานวิจัยชี้ชัดแล้วว่าจะส่งผลอะไรต่อเด็กในอนาคตบ้าง หากเราบอกว่าเด็กคืออนาคตของสังคม เราต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ เราไม่ได้ห้ามไม่ให้มีการเรียนมวยไทยหรือต่อยมวย เพียงแต่มันมีช่วงเวลาที่เหมาะสมอยู่เท่านั้นเอง
ด้าน รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวว่า หลายคนเคยทักท้วงการต่อยมวยไทยนั้นไม่กระทบต่อสมอง เพราะกติกากำหนดไม่ให้ชกที่ศีรษะ แต่จากลงพื้นที่ก็พบชัดเจนเลยว่า ทุกแมตท์มีการกระทบกระเทือนทางสมอง เฉลี่ย 20 ครั้งต่อหนึ่งแมตช์ โดยเฉพาะกับเด็ก
ทั้งนี้ในรายงานระดับนานาชาติ ได้จัดลำดับของไทยเอาไว้ว่า เป็นประเทศที่มีการใช้แรงานเด็กที่ร้ายแรงที่สุด โดยเฉพาะการใช้แรงานเด็กต่อยมวย เพราะนักมวยเด็กคืออาชีพหนึ่งที่เป็นการหาเงินเลี้ยงชีพ เลี้ยงครอบครัว จึงถือว่า นักมวยเด็กนั้นเป็นแรงงานประเทเภทหนึ่ง
ขณะนี้ประเทศไทยยังอยู่ใน ระดับเทียร์ 3 ซึ่งจัดว่าอยู่ในกลุ่มประเทศใบเหลือง พอพูดถึงประเด็นนี้ เรามักจะไปแก้กับที่แรงานประมง แรงงานภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม เพื่อสร้างความเชื่อถือกลับมาให้ได้มาตรฐาน แต่กลับลืมในส่วนของ นักมวยเด็ก ซึ่งเป็นเรื่องถูกรายงานอย่างต่อเนื่องจากองค์ระดับนานาชาติ
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ยกตัวอย่างรายงานข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศชิ้นหนึ่งว่า "เขาไม่เคยเห็นการทารุณกรรมเด็กมากเท่านี้ในโลก และไม่น่าเชื่อว่า ขนาดพ่อแม่ยังเชียร์กันอย่างเมามันส์ เด็กบางคนมีพ่อแม่เป็นเทรนเนอร์ บางครอบครัวไม่ทำมาหากินอะไรเลย ฝากความหวังไว้กับลูกๆ ที่ขึ้นชกมวยอย่างเดียว"
"เมื่อถามถึงการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ เรากลับบอกว่าสิ่งนี้คือวัฒนธรรม แต่หากมองในกฎหมายของไทยเองอย่างพ.ร.บ. ควบคุมเด็กหรือในกฎหมายแรงงานก็ระบุเอาไว้ว่า ห้ามใช้แรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี แต่เราพบเด็กอายุ5-6 ขวบก็ต่อยมวยหาเงินเเล้ว ซึ่งนั่นก็ผิดฏกหมายอย่างชัดเจน สิ่งเหล่านี้จึงไม่สอดคล้องกับข้อกฎหมายเลย แต่เรากลับบอกว่าเป็นเรื่องของวัฒนธรรม"
ทั้งนี้ รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ถึงเวลาที่เราต้องแก้กฎหมายบางมาตราเพื่อสกัดและป้องกันปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นและผลอื่นๆ จะตามมา ซึ่งผลวิจัยก็ชี้ชัดเจนว่า การชกมวยในเด็กนั้นส่งผลอะไรบ้าง
"เราต้องไม่อ้างว่าต้องทำเพื่อตอบแทนคุณ เพราะไม่สอดคล้องกับข้อกฎหมายเลย"
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ยังเสนอด้วยว่า มวยเด็กต้องเป็นเพียงวัฒนธรรมและกีฬาสมัครเล่นเท่านั้น พร้อมมีกฎกติกาที่เหมาะสมตามอายุและในเด็กต่ำกว่า 9ปี สามารถแข่งได้เพียงแต่ต้องเป็นการแข่งขันแสดงท่าทาง ลีลาต่างๆ หรือการเตะเข้าเป้า ห้ามไม่มีการปะทะโดยในส่วนของเด็กอายุ 9-12 ปี สามารถแข่งปะทะได้ แต่ไม่มุ่งเป้าที่ศีรษะ และต้องใส่ Body Guard หรือ Head Guard เพื่อป้องกัน เป็นต้น
"เมื่อลองเทียบกฎกติกาของกีฬาอื่นๆ เช่น เทควันโด ที่เป็นกีฬาที่มีการปะทะเช่นเดียวกัน พบว่ามีกฎชัดเจนว่าต้องไม่พุ่งเป้าที่ศีรษะ ทำได้มีเพียงแต่เตะเท่านั้น หรือในกีฬาฟุตบอลซึ่งเป็นถือวัฒนธรรมของคนอังกฤษ ก็มีกฎห้ามไม่ให้เด็กต่ำกว่า 9ปีโหม่งบอลเช่นกัน เพื่อป้องกันความกระทบกระเทือนทางสมองนั้นเอง"รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าว และว่า การห้ามไม่ให้เด็กมีการต่อยมวยคงห้ามไม่ได้ มวยไทยเป็นกีฬาที่ควรอนุรักษ์และส่งเสริม แต่ต้องให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ ไม่ไปละเมิดสิทธิเด็ก ต้องมีการควบคุมอย่างจริงจัง
ภาพประกอบหัวเรื่องจากhttp://i.ytimg.com/vi/LZyhWjrWbrM/maxresdefault.jpg