แล้งนาน น้ำน้อย! นักวิชาการชี้เอลนีโญ ยาวถึงพฤษภาคม 2559
เอลนีโญกระทบไทย รุนแรงสุดพ.ย.2558-พ.ค.2559 นักวิชาการ แนะแผนระยะสั้นจัดระบบเตือนภัย จัดระบบสำรองน้ำ หาแหล่งน้ำสำรอง บ่อบาดาล รวมถึงจัดกติกาการจัดการน้ำในพื้นที่ รณรงค์ใช้น้ำอย่างประหยัด หามาตรการฉุกเฉินหากน้ำไม่พอจะให้ใครก่อนใครหลัง
วันที่ 26 ตุลาคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)จัดเวที “วิกฤติภัยแล้ง: ทางออกของการจัดการน้ำและอนาคตเกษตรไทย”ณ ห้องประชุม 1 สกว. ชั้น 15
ดร.ดุษฎี ศุขวัฒน์ อาจารย์บัณฑิตวิทยาลัยร่วมพลังงานและสิ่งแวดล้อม และศูนย์วิจัยระบบพยากรณ์อากาศรายฤดู มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวถึงข้อมูลสถิติฝนในประเทศไทย โดยย้อนไปดูข้อมูลฝน 30 ปี (ค.ศ.1981-2010) สำหรับประเทศไทยฝนจะตกมากในเดือนกรกฎาคม สิงหาคม กันยายน หลังจากนั้นเดือนพฤศจิกายน ธันวาคม มกราคม ฝนจะตกน้อย ขณะที่ทางภาคใต้ปริมาณฝนยังคงเยอะอยู่
“ข้อมูล 30 ปี ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีปริมาณฝนมากสุด เพราะได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ เป็นที่น่าสังเกตุภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไม่ใช่ภาคที่ปริมาณฝนน้อยที่สุด ปริมาณฝนยังมากกว่าภาคกลางเสียอีก แต่ที่เกิดความแห้งแล้งที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นลักษณะของพื้นดินที่ไม่อุ้มน้ำ”
ดร.ดุษฎี กล่าวถึงปริมาณฝนรวมปี 2557 แตกต่างไปจากค่าเฉลี่ย 30 ปี ปริมาณฝนรวมต่ำกว่าปกติ พอปี 2558 ฝนน้อยกว่าปกติอีกทำให้เกิดลักษณะความแห้งแล้งที่ชัดเจน ประกอบกับเมื่อดูสถิติพายุหมุนเขตร้อนที่เคลื่อนเข้าไทย ปีนี้มีเพียงลูกเดียว และส่วนมากจะเข้ามาทางภาคใต้ ฉะนั้นโอกาสที่จะมีพายุเข้ามาช่วยประเทศไทยตอนบนจึงมีโอกาสเกิดน้อย
สำหรับปรากฎการณ์เอลนีโญที่ส่งผลกระทบไทย (El NiNo) ดร.ดุษฎี กล่าวว่า จะมีความรุนแรงระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2558-พฤษภาคม 2559 หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลง ซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนาการพยากรณ์ฝนรายฤดู การพยากรณ์การเริ่มต้นการสิ้นสุดฤดูฝนในประเทศไทย รวมถึงการพยากรณ์ฝนทิ้งช่วง ผลการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศต่อมรสุมของเอเชียในอนาคตต่อไป
ขณะที่รศ. ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ หน่วยปฏิบัติการวิจัยระบบการจัดการแหล่งน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงสถานการณ์ภัยแล้งในประเทศไทย ในอดีตมีภัยแล้งรุนแรงทุก 5 ปี เช่น ปี 2538-2540,2543-2545,2548-2549,2552-2553,2557-2558 ปัจจุบันภัยแล้งมาเร็วขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้น้ำ ขณะที่ปริมาณฝนตกลดลง บวกกับลักษณะความถี่ของภัยแล้ง
รศ. ดร.สุจริต กล่าวถึงลักษณะพื้นที่เพาะปลูกนาปรัง เช่น ภาคเหนือในจังหวัดกำแพงเพชร ภาคกลาง ในจังหวัดสิงหบุรี อ่างทอง มีการปลูกข้าวเต็มพื้นที่ ยิ่งทำให้ความต้องการใช้น้ำสูงขึ้นเป็นพิเศษ อีกทั้งยังพบว่า ทางภาคเหนือปลูกข้าวประมาณ 2 ครั้งต่อปี ขณะที่ภาคกลางบางพื้นที่ 2 ปี 5 ครั้ง ดังนั้นแนวโน้มการปลูกพื้นกลายเป็นปัจจัยหลักของการขาดน้ำ ยิ่งสถานการณ์ที่ปริมาณฝนตกน้อยยิ่งได้รับผลกระทบ
ส่วนการจัดสรรน้ำ ปี 2554 ที่มีวิกฤติน้ำท่วมนั้น รศ. ดร.สุจริต กล่าวว่า มีการปล่อยน้ำไป 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตร หลังจากนั้นประเทศไทยมีปริมาณน้ำกักเก็บที่ต่ำมาโดยตลอด ส่วนหนึ่งมาจากการปลูกพืชในหลายพื้นที่ ยิ่งทำให้ปี 2556-2558 เราไม่สามารถรักษาปริมาณน้ำในเขื่อนได้ในเกณฑ์ที่สูง 45%
"การจัดสรรน้ำในฤดูแล้ง แผนจัดสรรน้ำ กับการระบายน้ำจริงก็ไม่ไปในทิศทางเดียวกัน เช่น ปี 2557 อ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตามแผนจัดการน้ำต้องปล่อยน้ำ 2,900 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปล่อยจริงถึง 4,113 ล้านลูกบาศก์เมตร ยิ่งทำให้สต๊อกน้ำในเขื่อนลดลง"
นักวิชาการจากจุฬาฯ กล่าวถึงแผนระยะสั้นด้วยว่า ต้องจัดระบบเตือนภัย จัดระบบสำรองน้ำ ทั้งแหล่งน้ำสำรอง บ่อบาดาล รวมถึงจัดกติกาการจัดการน้ำในพื้นที่ รณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัด หามาตรการฉุกเฉินหากน้ำไม่พอจะให้ใครก่อนใครหลัง เนื่องด้วยภาวะแล้งมีแนวโน้มต่อเนื่องถึงฤดูฝนปีหน้า
“ ปริมาณน้ำในปัจจุบัน ปกติฤดูแล้ง ณ เดือนพฤศจิกายน ควรมีปริมาณน้ำกักเก็บ 60% ค่อนข้างจะแล้งสามารถใช้อุปโภคบริโภคได้ ปริมาณน้ำกักเก็บ 80% สามารถทำนาปรังได้ ซึ่งวันนี้เกือบแทบทุกภาคมีปริมาณน้ำกักเก็บไม่ถึง 20%”รศ. ดร.สุจริต กล่าว และว่า ปัจจุบันปริมาณน้ำกักเก็บที่ยังดีอยู่ที่ภาคตะวันออก กับภาคใต้ ประเทศไทยจึงมีความเสี่ยงแล้งที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก และตะวันออกเฉียงเหนือ