ดร.ประกาศิตชี้พฤติกรรมคนเมือง บ่อเกิดปัญหาสุขภาวะ
ดร.ประกาศิตชี้พฤติกรรมคนเมืองคือสาเหตุหลักของปัญหาสุขภาวะ แนะหากจะแก้ ต้องจัดการเปลี่ยนพฤติกรรมเสียใหม่ สร้างสมดุลทั้งธรรมชาติและเวลามากขึ้น แจงสังคมไทยต้องไม่มองปัญหาแยกส่วน
เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2558 ในวงพูดคุย "วิกฤตสุขภาวะของคนเมือง" ซึ่งจัดขึ้น ณ รูทการ์เด้น ทองหล่อ (Root Garden) โดยในการพูดคุยครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. เป็นวิทยากรหลักในการให้ความรู้ด้านสุขภาวะและการปรับตัวเพื่อสุขภาพที่ดีของคนเมือง
ดร. ประกาศิต กล่าวถึงหลักของการสร้างเสริมสุขภาพ โดยเฉพาะคนเมืองนั้นคือ เรื่องพฤติกรรม เพราะโรคในปัจจุบันเกิดจากพฤติกรรมมากกว่าโรคที่เกิดจากเชื้อโรค เช่น ความดัน เบาหวาน โรคหัวใจ เป็นต้น โรคเหล่านี้เกิดจากพฤติกรรมความเป็นอยู่ ถ้าเราจะแก้ ต้องแก้ที่ตัวพฤติกรรมของเราเอง ถ้าอยากมีสุขภาพที่ดี ต้องเริ่มเปลี่ยนจากพฤติกรรม
"เวลาเราจะทำอะไรบ้างอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคน ต้องต้องทำนานๆ จนกระทั่งเขาเปลี่ยนเป็นนิสัย ต้องมองไปที่เงื่อนไขการดำรงชีวิต อย่างเช่น เด็กๆ ต้องนอนให้เต็มที่ กินอาหารเช้าที่ดี แต่ถ้าเงื่อนไขคือ โรงเรียนอยู่ไกลมากและรถติด ก็ต้องตื่นตั้งแต่ตีสี่ กินข้าวในรถ นอนในรถ ฉะนั้น เวลาที่เราบอกว่าจะสร้างเสริมสุขภาพ อยากให้คนเปลี่ยนพฤติกรรม การดำรงชีวิตให้ดีขึ้น ต้องถามย้อนกลับไปว่า เงื่อนไขการดำรงชีวิตคืออะไร"
ดร. ประกาศิต กล่าวอีกว่า ประเด็นต่อมาคือ ใครเป็นคนกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ไม่ใช่เเพทย์ ไม่ใช่พยาบาลแน่นอน หากเราจะเปลี่ยนพฤติกรรม ต้องเริ่มที่ตัวเงื่อนไข คนรณรงค์จะรณรงค์เพียงแค่ปลายเหตุไม่ได้ จะบอกแค่ออกกำลังกาย กินอาหารครบห้าหมู่ ไม่ได้ ต้องมองให้ลึกลงไปหลายระดับ
"ในเมื่อคนเมืองยังต้องออกแต่เช้า ฝ่ารถติดไปทำงาน ถามว่าจะเปลี่ยนพฤติกรรม ได้อย่างไร ในเมื่อเงื่อนไขยังเป็นอย่างนั้น" ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะฯ กล่าว และว่า เงื่อนไขที่ทำให้สุขภาวะของคนเมืองแย่ลง มี 2 อย่าง 1. คือการขาดสมดุลทางธรรมชาติ ยกตัวอย่างกรุงเทพอากาศเสีย มลพิษ น้ำเสีย ปัญหาขยะ สิ่งเหล่านี้ทำให้ขาดสมดุลทางธรรมชาติ ถ้าอยากปรับเงื่อนใข ต้องแก้ตรงนี้สร้างสมดุลให้เกิดขึ้นมา 2. เรื่องของสมดุลการใช้เวลา เดี๋ยวนี้การใช้เวลาเปลี่ยนไป เช่นเด็กที่แทนจะได้นอนเต็มอิ่ม ก็ต้องตื่นตั้งแต่ตีสี่ นาฬิกาชีวิตก็เสีย อย่างคนทำงาน ตื่นเช้า กลับดึก เป็นต้น
หากเราต้องการปรับเปลี่ยนสุขภาวะ ให้สมดุลกับสองสิ่งข้างต้น ดร. ประกาศิต
กล่าวว่า การไปแก้ไขปัจจัยข้างนอกอาจเป็นเรื่องที่ใหญ่ไป ก็เริ่มจากตัวเรา เช่น ในเรื่องเวลา มีเวลาน้อยไป ไม่มีเวลาออกกำลังกาย จะปรับอย่างไร สามารถทำได้อย่างเช่น การโยคะในออฟฟิต เป็นต้น นั้นคือการพยายามปรับสมดุลบางอย่าง
ทั้งนี้ ดร.ประกาศิต ยังกล่าวถึงขั้นตอนการทำงานของ สสส. แบ่งการทำงานเป็นสามระดับ ระดับแรก เรียกว่า การทำเชิงประเด็น ทำเรื่องงดเหล้า บุหรี่ การป้องกันอุบัติเหตุ เป็นต้น ระดับที่สอง คือการสร้างแฟลตฟอร์มต่างๆ เช่น งานสร้างเสริมสุขภาวะองค์กร (Happy Workplace) , โรคออฟฟิศซินโดรม (OfficeSyndrome)ร่วมกับภาคเอกชน ต่างๆ ระดับที่สาม กลุ่มประชากร ได้แก่ กลุ่มที่ทำเรื่องเด็ก เรื่องผู้สูงอายุ คนพิการ กลุ่มคนไร้บ้าน สามจังหวัดชายแดนใต้ เป็นต้น
"เวลาทำงานเช่นทำงานเชิงประเด็นอย่างเดียว อย่างการไปบอกให้คนเลิกเหล้า เลิกบุหรี่ แค่นั้นไม่พอ สิ่งที่ทางองค์กรทำคือ จำเป็นต้องสร้างระบบต่างๆ ขึ้นมา แล้วนำเอาประเด็นต่างๆ เข้าไป ขยายผลออกมาเป็นรูปแบบมากขึ้น เพื่อการทำงานต่อเนื่องและยั่งยืน เพราะฉะนั้นการทำงานทั้งหมดจึงรวมกัน ไม่ใช่ออกไปบอกอย่างเดียวว่า ออกกำลังกายดีอย่างไร ทานอาหารดีอย่างไร เท่านั้นไม่พอ"
ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า หากไม่มีการณรงค์จาก สสส. ทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงเองได้ แต่โดยธรรมชาติอาจเกิดขึ้นได้และไม่ได้และบางทีต้องใช้เวลานาน ดังนั้นบทบาทของ สสส. เปรียบเสมือน "ตัวเร่ง" ให้เกิดปฏิกริยาให้งานเหล่านั้นเกิดขึ้นจริง ช่วยกำกับทิศทางที่ควรจะเป็นไป เพราะหากต้องรอทางภาครัฐอาจต้องใช้เวลาในการร่าง ในการเบิกงบประมาณอย่างน้อยๆ ปีสองปี ดังนั้นจะมีหรือไม่มี งานรณรงค์และความรู้สึกในการเปลี่ยนแปลงยังคงอยู่เพียงแต่อาจใช้เวลานานกว่าเดิมเท่านั้นเอง