เปิด 17 โครงการ 109 ล.!คตร.อ้างไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์จัดตั้ง สสส.?
เปิดชื่อ 17 โครงการ 109 ล. เข้าข่ายถูกกล่าวหาไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์จัดตั้งกองทุน สสส. ในสำนวนสอบ 'คตร.' ชง 'พล.อ.ไพบูลย์' ชี้ขาด - "สวดมนต์ข้ามปี" ติดชื่อตามโผ ได้งบมากสุด 33 ล้าน
ปรากฎเป็นข่าวยืนยันทางการว่า ในวันที่ 26 ต.ค.2558 นี้ 'พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จะเชิญตัวแทนจาก 'สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)' เข้าชี้แจงข้อมูลเป็นทางการ ถึงการใช้จ่ายงบประมาณในช่วงที่ผ่านมา ที่ถูกตั้งข้อสังเกตและกล่าวหาว่า "ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์" เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในอนาคต ซึ่งอาจจะออกมาในรูปแบบการร่างระเบียบการใช้จ่ายเงินฉบับใหม่ ให้การใช้เงินมีความชัดเจน และคุ้มค่ามากขึ้น
ไม่ว่าผลการชี้แจงครั้งนี้ ของ สสส. จะออกมาเป็นอย่างไร
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า ขณะนี้คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ(คตร.) ได้สรุปรายชื่อโครงการที่ถูกกล่าวหามีการใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์การจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อย่างชัดเจน เพื่อเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พิจารณาอย่างเป็นทางการแล้ว ระหว่างปี 2553-2557 จำนวน 17 โครงการ รวมวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 109,345,340 บาท
ขณะที่ยอดงบประมาณ สสส.ที่ได้ระรับระหว่างปี 2553-2557รวม 17,937 ล้านบาท ดังนี้ 3,110 ล้านบาท 3,391 ล้านบาท 3,561 ล้านบาท 3,881ล้านบาท 4,064 ล้านบาทตามลำดับ
สำหรับ17 โครงการ ที่คตร.สรุปว่าไม่เป็นไปตามวัตถุจัดตั้งกองทุน สสส. แบ่งเป็นโครงการในปี 2553 จำนวน 1 โครงการ โครงการปี 2554 จำนวน 2 โครงการ ปี 2555 จำนวน 1 โครงการ ปี 2556 จำนวน 6 โครงการ และปี 2557 จำนวน 7 โครงการ สำหรับโครงการที่ปรากฎชื่อไปแล้ว คือ โครงการสวดมนต์ข้ามปี ซึ่งเป็นโครงการในปี 2557 ได้รับงบประมาณมากที่สุด 33,445,940 บาท
ส่วนโครงการอื่นๆ ที่ยังไม่ได้มีการเปิดเผยรายชื่อออกมาเป็นทางการ ได้แก่ โครงการที่เกี่ยวด้านที่ปรึกษา และเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการข้อมูลข่าวสาร (ดูรายละเอียดในตารางประกอบ)
ขณะที่ก่อนหน้านี้ตัวแทนจากกลุ่มเอ็นจีโอ และองค์กรที่ได้รับงบประมาณจากสสส. ต่างก็ออกมาแสดงจุดยื่นว่าการขออนุมัติและนำงบประมาณไปใช้จ่าย เป็นไปด้วยความโปร่งใสและคุ้มค่า
ตัวอย่างเช่น 'นายคำรณ ชูเดชา' ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังกลยุทธ์สุรา ออกมาชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการสวดมนต์ข้ามปี ว่า ที่มาของโครงการสวดมนต์ข้ามปี เดิมชื่อว่า โครงการ งดเหล้า สวดมนต์ข้ามปี ชีวีมีสุข แต่เพื่อสะดวกในการเรียกชื่อจึงตัดบางถ้อยคำให้กระชับขึ้น จัดตั้งขึ้นเพื่อสร้างพื้นที่กิจกรรมทางเลือกให้แก่ประชาชนในเทศกาลปีใหม่ภายหลังเกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้สถานบันเทิงซานติก้า
โดยตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา ได้สร้างปรากฏการณ์ให้ประชาชนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหันมาเข้าวัดสวดมนต์ข้ามปีแทนการฉลองในสถานบันเทิงมากขึ้น โดยเฉพาะคนวัยหนุ่มสาว เเละจากเดิมวัดจัดกิจกรรมประมาณ 30 แห่ง ขยายตัวเป็น 2 หมื่นแห่งในปัจจุบัน
เฉพาะตัวเลขผู้เข้าร่วมกิจกรรม ปี 2557 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง และพุทธมณฑล มีกว่า 10 ล้านคน
นายคำรณ ยังระบุด้วยว่า การสวดมนต์ข้ามปีเข้าข่ายนิยามการสร้างเสริมสุขภาพ ตรงและคุ้มค่า เพราะสร้างพื้นที่ให้ประชาชนเลือกจากเมาข้ามปีมาเป็นโครงการนี้ หากผู้ตรวจสอบมองไม่คุ้มค่าและยกเลิกโครงการ ก็ไม่มีผลกระทบ เพราะยังมีเครื่องมืออื่น ๆ ในการรณรงค์ ลด ละ เลิก การดื่มสุรา ในช่วงเทศกาลได้
สำหรับท่าทีของรัฐบาลนั้น ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังฯ เชื่อมั่นในตัวของ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมว่า เป็นคนตรงไปตรงมา แต่สิ่งที่อยากวอนขอ คือ ต้องรับฟังเสียงของประชาชน และเห็นด้วยให้ ผู้แทน สสส.เข้าชี้แจงข้อมูล เพราะการตรวจสอบต้องมีการรับฟังข้อมูลทั้งสองฝ่าย
“สสส.มีระบบกลไกการทำงานแตกต่างจากองค์กรอื่น โดยเป็นเพียงผู้กำหนดยุทธศาสตร์ เป้าหมาย และอนุมัติเงินทุน เท่านั้น แต่ผลการปฏิบัติงานจะต้องสอบถามจากภาคีซึ่งจะตอบคำถามได้ ดังนั้น ผู้ตรวจสอบจำเป็นต้องรับฟังข้อมูลให้รอบด้าน” นายคำรณ ระบุ
(อ่านประกอบ : เมื่อภาคประชาสังคมแจง 'สวดมนต์ข้ามปี' เข้าข่ายส่งเสริมสุขภาพ)
ขณะที่ นิยาม การสร้างเสริมสุขภาพ ที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 หมายถึง การใด ๆ ที่มุ่งกระทำเพื่อสร้างเสริมให้บุคคลมีสุขภาวะทางกาย จิต และสังคม โดยสนับสนุนพฤติกรรมของบุคคล สภาพสังคม และสิ่งแวดล้อมที่จะนำไปสู่การมีร่างกายที่แข็งแรง สภาพจิตที่สมบูรณ์ อายุยืนยาว และคุณภาพชีวิตที่ดี
ทั้งหมดนี้ คือ ความเคลื่อนไหวล่าสุด เกี่ยวกับการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ ของ สสส. ที่กำลังเข้าสู่ขั้นตอนชี้แจงข้อมูลในขณะนี้
(อ่านประกอบ : "สสส. VS คตร." ว่าด้วยเหตุผลตรวจสอบการใช้จ่ายงบเพื่อชาติ วัดใจ"บิ๊กตู่"?)