การประมูลคลื่น 4 G : ใครว่าโกงยกมือขึ้น
กสทช. ยืนยันให้ประมูลโทรศัพท์ในคลื่น 4G ทั้งหมด 4 สัญญา ประมูลและตัดสินวันละ 2 สัญญา รวมสองวันติดกัน ในวันที่ 11 - 12 พฤศจิกายน ศกนี้ จนถึงขณะนี้มีผู้เข้าร่วมประมูลเพียง 4 รายเท่านั้น ตามคาด
วันนี้คนไทยเข้าใจดีถึงความจำเป็นที่ต้องมีการประมูล เพียงแต่หลายท่านพยายามบอก กสทช. ว่า “ประเทศชาติจะได้ประโยชน์มากกว่า ถ้าการประมูลที่จัดเป็น 2 วันๆ ละ 2 สัญญาตามเดิมแต่ควรทิ้งระยะเวลาให้ห่างกันสัก 3 เดือน”เพราะจะทำให้เกิดการแข่งขันราคาในการประมูลมากขึ้นตามกลไกตลาดและสร้างรายได้เข้ารัฐเพิ่มขึ้นอีกหลายหมื่นล้านบาท ด้วยเหตุผล ดังนี้
1. ในธุรกิจการสื่อสารยุคดิจิตอลที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วอย่างนี้ ไม่มีใครอยากช้ากว่าคนอื่น ผู้ประกอบการย่อมต้องการเป็นผู้นำตลาด ทุกรายต้องชิงการได้เปรียบโดยเฉพาะเรื่องความเร็วในการเปิดให้บริการ
2. เราเคยเห็นบทเรียนมาแล้วจากการประมูลคลื่น 3 G ที่ผ่านมา “มีผู้เข้าแข่งขัน 3 ราย เพื่อชิงใบอนุญาต 3 ใบ” มีผลทำให้ราคาประมูล “ต่ำกว่าราคาประเมินไว้ถึงร้อยละ 27” ทำให้รัฐต้องสูญประโยชน์จากการเสียรายได้ไปหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งควรเป็นรายได้ที่นำไปพัฒนาประเทศได้อีกมาก
3. แม้ กสทช. จะอ้างว่าการเร่งประมูลจะทำให้ประชาชนได้ใช้บริการเร็วขึ้น แต่ในความเป็นจริงหากมีการเปิดให้บริการโดยผู้ชนะการประมูลรอบแรกสองรายบวกกับการที่มีผู้ให้บริการบางรายในระบบ 3 G เปิดให้การบริการบางส่วนด้วยระบบ 4 G อยู่แล้ว จึงเชื่อ “ประชาชนไม่ได้เสียโอกาส” แต่อย่างใด นักธุรกิจ 2 รายที่ได้สัมปทานทีหลังต่างหากที่จะเสียเปรียบการแข่งขันไป 3 เดือน
วันนี้ กสทช. ได้เชิญชวนให้บุคคลและองค์กรที่มีชื่อเสียงบางแห่งให้เข้าร่วมสังเกตุการณ์ในวันประมูลตามที่กำหนด ทำให้ผมนึกถึงเวลาประมูลสร้างตึก สร้างถนน สร้างสะพานที่เขาทำอีอ็อคชั่นกัน เกือบทั้งหมดเขาฮั้วกันเรียบร้อยตั้งแต่ก่อนวันประมูลแล้ว วันประมูลจึงเป็นเพียงการแสดงละครตบตาเป็นพิธีเท่านั้นเอง ไม่ได้ต่างอะไรกันเลย
โดยทั่วไปกฎหมายจะกำหนดว่าการกระทำใดที่ห้ามทำหรือทำไม่ได้เพราะถือเป็นความผิดในคดีคอร์รัปชัน แต่ที่ผ่านมาการกระทำบางอย่างแม้เข้าข่ายว่า “ฮั้ว” กัน หรือเป็น “คอร์รัปชันเชิงนโยบาย” กฎหมายยังเอาผิดไม่ได้
คอร์รัปชันเชิงนโยบาย มักเกิดขึ้นกับโครงการขนาดใหญ่ที่มีเงินจำนวนมากมาเกี่ยวข้อง การโกงต้องทำโดยสมรู้ร่วมคิดกันเป็นขบวนการระหว่างนักธุรกิจ นักการเมืองและข้าราชการระดับสูงซึ่งอาจมีคนเดียวหรือหลายคนในหน่วยงานหรือหลายคนจากหลายหน่วยงานมาร่วมมือกัน ในการทำโครงการนั้นๆ เขาจะอาศัยช่องว่างและอำนาจตามกฎหมาย พวกเขาจะหาเหตุผลมาอธิบายให้สังคมหลงเชื่อว่าได้ทำเพื่อประโยชน์ของสาธารณะและเป็นเรื่องที่ดีเลิศอย่างไร แต่มักเป็นการกล่าวอ้างถึงสิ่งที่จะได้ (Output) เพียงกายภาพ โดยไม่สนใจถึงผลสัมฤทธิ์ (Outcome) ความเสียหายหรือผลกระทบที่ตามมาในเชิงเศรษฐศาสตร์ในระยะยาว
ทั้งๆ ที่เบื้องหลังของโครงการมีการฉ้อโกง กอบโกยและสร้างความเสียหายให้กับส่วนรวม แต่พฤติกรรมที่อาศัยอ้างอิงกฎระเบียบเช่นนี้ ก็ดูถูกต้องและมีความชอบธรรมตามกฎหมาย(Legalize) ทุกวันนี้ ป.ป.ช. จึงได้นำหลักนิติเศรษฐศาสตร์มาใช้เพื่อวิเคราะห์ ประเมินและเชื่อมโยงพฤติกรรมของผู้มีอำนาจและผู้เกี่ยวข้อง กับผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับทุกตัวแสดงโดยศึกษาความเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ รวมถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประเทศชาติหรือผลประโยชน์ของส่วนรวมจากการกระทำทั้งหมดนั้นว่าเป็นอย่างไร ซึ่งแนวคิดนี้นับว่าก้าวหน้าและได้ผลดี
คอร์รัปชันแบบนี้เหล่าคนโกงนิยมทำกันมากในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา เพราะจับผิดยากและตักตวงผลประโยชน์ได้ครั้งละมากๆ แต่เชื่อเถอะครับถ้าประชาชนและกลไกของรัฐเข้าไปสืบสวน คุ้ยแคะกันจริงๆ รับรองจับได้แน่
เป็นห่วงแต่ว่าถ้าปล่อยให้มันโกงไปแล้วประเทศชาติก็เสียหายไปแล้ว จะย้อนคืนก็ไม่ได้...ทำไงดีครับ