สสส. กับ การพัฒนาระบบความเป็นธรรมในสังคมไทย
หมายเหตุ :บทความนี้เขียนโดย ดร.สุนทรียา เหมือนพะวงศ์ ผู้พิพากษา
---------------------------------------------------
ในช่วงเวลานี้ มีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือที่เรียกชื่อย่อว่า "สสส." กันมาก ในประเด็นเรื่องวินัยทางการเงินหรือเรื่องการทำนโยบายผิดทิศทางต่างๆ ผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องควรตรวจสอบกันอย่างเต็มที่ หากพบข้อบกพร่องหรือผิดกฎหมายก็ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป
สำหรับประเด็นข้อขัดข้องกับเกี่ยวกับการทำงานของผู้บริหารสสส.บางคนหรือระบบการทำงานบางอย่างที่ไม่โปร่งใส หากจะมี ก็ต้องวิพากษ์วิจารณ์แก้ไขกันไป
เนื่องจากผู้เขียนได้เคยเกี่ยวข้องกับงานของสสส. อยู่บ้าง จึงอยากนำข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานร่วมกันมาเผยแพร่ เพื่อให้เกิดการต่อยอดทางความคิดกันในสังคม โดยเฉพาะเรื่องประเด็นการพัฒนาระบบความเป็นธรรมในสังคมไทย หลายหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมได้พยายามทำกันอยู่ รวมทั้งสสส. ด้วย ในฐานะหน่วยงานที่มุ่งสร้างสุขภาวะทางสังคม โดยมุ่งหมายในการบรรเทาความทุกข์ของผู้คนจากปัญหาความไม่เป็นธรรมต่างๆ
ผู้เขียน เขียนบทความนี้ขึ้นด้วยความมุ่งหวังที่จะชักชวนให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาช่วยกันทบทวนงานของสสส. ควบคู่กันไปกับการทบทวนงานขององค์กรอื่นๆ รวมทั้งหน่วยงานของท่านเองไปพร้อมกัน เพื่อช่วยกันสร้างสังคมไทยให้มีความเป็นธรรมที่อำนวยความสุขให้แก่คนไทยทุกคน (Fair Society, Healthy Life)
การร่วมงานกับสสส.
ผู้เขียนเคยมีโอกาสทำงานในสถาบันวิจัยรพีพัฒนศักดิ์ ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยของศาลยุติธรรม ตั้งแต่ยุคเริ่มต้นสถาบันวิจัยรพีฯ ได้จัดตั้ง "เวทีนิติศาสตร์เสวนา" (Judicial Dialogue) เพื่อเปิดพื้นที่ให้ฝ่ายต่างๆ ทั้งบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ภาคประชาชน และหน่วยงานต่างๆ ได้เข้าร่วมทำงานกับศาลในการพัฒนาระบบยุติธรรมของประเทศ ทำให้เกิดเครือข่ายการทำงานทางวิชาการหลากหลายรูปแบบ ทั้งเรื่องการพัฒนาบทบาทศาลตามรัฐธรรมนูญ การคุ้มครองสิทธิของประชาชนทางแพ่งและทางอาญา การพัฒนาระบบงานศาลในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การคุ้มครองเด็กและสตรี และการคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ด้วยความมุ่งหวังที่จะทำงานกับเครือข่ายต่างๆ อย่างกว้างขวาง
ศาลยุติธรรมจึงได้ร่วมงานกับหน่วยงานภายนอกและองค์กรภายในประเทศในการดำเนินการดังกล่าว ซึ่งหน่วยงานต่างประเทศ ได้แก่ องค์กร ICJ, องค์กร USAID, องค์กร UN-WOMENและมูลนิธิ Friedrich Naumann เป็นต้น สำหรับหน่วยงานภายใน ได้แก่ หน่วยงานหลากหลายภาคส่วน รวมถึงองค์กรสสส. ด้วย
(๑.) การพัฒนากระบวนการยุติธรรมสิ่งแวดล้อม
ในช่วงแรก สถาบันวิจัยรพีฯ ได้ร่วมกับศาลฎีกาและหน่วยงานจากต่างประเทศหลายแห่ง พัฒนากระบวนการยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม จนเกิดกิจกรรมกับแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลฎีกาและหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมที่หลากหลาย ต่อมาได้ร่วมงานกับองค์กรภาคีของสสส. ที่เข้ามาช่วยสนับสนุนงบประมาณและบุคลากร ทำให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการและงานวิจัยหลายเรื่อง ทั้งเรื่องการสำรวจปัญหามลพิษที่กระทบสุขภาพ การพัฒนาระบบการสืบสวนสอบสวนคดีสิ่งแวดล้อม การพัฒนาพยานผู้เชี่ยวชาญ รวมไปถึงการฝึกชาวบ้านให้จัดเก็บพยานหลักฐาน จนเกิดการพัฒนาความคิดและร่างกฎหมายเกี่ยวกับวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมและศาลสิ่งแวดล้อมตามลำดับ ซึ่งในปัจจุบัน สภาปฏิรูปแห่งชาติและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็ได้ให้ความสำคัญกับร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องดังกล่าว และมีการนำข้อมูลจากการศึกษาในเบื้องต้นเหล่านี้ไปปรับใช้ด้วย
(๒.) การพัฒนากระบวนการยุติธรรมด้านเด็กและเยาวชนและแก้ไขบำบัดฟื้นฟูอื่นๆ
ในเรื่องการพัฒนางานเกี่ยวกับระบบยุติธรรมด้านเด็กเยาวชน สถาบันวิจัยรพีฯ ได้รับเชิญจากท่านอธิบดีธวัชชัย ไทยเขียว แห่งกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ให้ร่วมจัดทำโครงการพัฒนาการปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม โดยร่วมกับฝ่ายอื่นๆ เช่น กรมคุมประพฤติ และโรงพยาบาลตุลาการเฉลิมพระเกียรติ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสสส. โดยตรงเป็นครั้งแรก ซึ่งในปีถัดมา แต่ละหน่วยงานได้พัฒนางานของตนกันต่อ โดยสำนักงานศาลยุติธรรมได้รับงบประมาณสนับสนุนให้ทำระบบฐานข้อมูลองค์กรเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ และการจัดทำโมเดลตัวอย่างเพื่อการทำงานแบบบูรณาการ จนถึงปีปัจจุบัน ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางและศาลเยาวชนสิบกว่าแห่งก็ยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสสส. ให้ทำโครงการบูรณาการความร่วมมือเพื่อให้เกิดการป้องกันและแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งมีทั้งเด็กเสี่ยง เด็กที่กระทำความผิด เด็กที่เป็นเหยื่ออาชญากรรม และเด็กที่เป็นพยานในศาล โดยต่อมาโครงการดังกล่าวได้รับงบประมาณจากภาครัฐให้ขยายผลการดำเนินการไปในหลายจังหวัดเพิ่มเติม และมีทำงานร่วมกับกระทรวงทบวงกรมต่างๆ โดยมีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ และกำลังอยู่ในระหว่างการทำและขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการ
จากการทำงานพัฒนาในเรื่องระบบการบำบัดร่วมกับสหวิชาชีพหลายฝ่าย ทราบว่าสสส. ยังขยายผลการทำงานไปยังหน่วยงานอื่นๆ จนเกิดเป็นการพัฒนาระบบบำบัดฟื้นฟูผู้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้เป็นไปตามหลักวิชาการ ทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตนักโทษหญิง หรือการทำแผนพัฒนาสตรีที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม เป็นต้น
(๓.) การปฏิรูประบบยุติธรรมเพื่อสุขภาวะของประชาชนไทย
เกี่ยวกับการปฏิรูปงานศาลและกระบวนการยุติธรรมในภาพกว้าง สถาบันวิจัยรพีฯ ได้เคยร่วมงานกับสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม ซึ่งเป็นหน่วยงานภาคีของสสส. เพื่อการพัฒนาระบบการจัดการความรู้ โดยทำการประชุมเชิงปฏิบัติการกับผู้พิพากษาหลายหน จนได้องค์ความรู้ไปพัฒนางานของศาล โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาระบบการเร่งรัดคดีในศาลสูง และสถาบันวิจัยรพีฯ ยังได้จัดกิจกรรมด้านการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่องกับภาคีเครือข่าย เช่น มูลนิธิเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น
นอกเหนือจากการได้ร่วมงานกับสสส. ในฐานะผู้แทนของสถาบันวิจัยรพีฯ แล้ว ผู้เขียนในฐานะส่วนตัวยังได้มีโอกาสได้รับทราบหรือมีส่วนในการช่วยพัฒนาโครงการเกี่ยวกับการปฏิรูประบบยุติธรรมในบางโครงการที่สสส. ให้การสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นโครงการพัฒนาแผนงานระบบยุติธรรมกับสุขภาวะ ที่จัดทำโดยท่านชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ที่มุ่งหมายพัฒนาระบบยุติธรรมอย่างเป็นองค์รวมโดยทุกฝ่ายในสังคม โครงการเครือข่ายวิชาการเพื่อสังคมเป็นธรรม ที่มุ่งเน้นการทำงานแบบกว้างเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ความเป็นธรรมทางสังคม และความเป็นธรรมทางสุขภาพ หรือโครงการพัฒนาแนวทางการจัดทำยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูประบบยุติธรรมโดยประชาชน ที่ผู้เขียนเองได้มีโอกาสทบทวนวิธีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมแบบเดิมๆ และมองเห็นทางเลือกแบบใหม่ๆ ที่เน้นการปฏิรูประบบยุติธรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ด้วยหวังว่าจะได้เกิดการพัฒนางานยุติธรรมด้วยกระบวนทัศน์ใหม่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทั้งระบบขึ้นในสังคมไทยอย่างแท้จริงในอนาคต
(๔.) การสร้างผู้นำรุ่นใหม่เพื่อพัฒนาสุขภาวะด้านต่างๆ
กิจกรรมอีกส่วนหนึ่งที่ผู้เขียนได้รับอนุญาตจากสำนักงานศาลยุติธรรมให้ไปเข้าร่วมเมื่อหลายปีก่อนเป็นการเข้าร่วมหลักสูตรพัฒนาศักยภาพผู้นำ ในโครงการเครือข่ายพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาวะ ทำให้มีโอกาสรู้จักผู้คนที่มีพลังในการขับเคลื่อนสังคมที่มาจากหลากหลายสาขาอาชีพ ทั้งที่เป็นแพทย์ เภสัชกร นักกฎหมาย ทหาร นักข่าว นักวิชาการ และนักพัฒนาเอกชน โดยได้เรียนรู้และพัฒนาการทำงานเพื่อสร้างสุขภาวะทางสังคมที่มีรูปแบบและวิธีการที่หลากหลาย รวมทั้งได้เห็นเครือข่ายการทำงานของกลุ่มแพทย์สามพรานหรือแพทย์ชนบท ที่จับกลุ่มทำงานกันมาอย่างยาวนานเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพแบบใหม่ๆ ผ่านการผลักดันให้เกิดการจัดตั้งองค์กรใหม่ เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ช่วยคุ้มครองหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้แก่ประชาชน การตั้งองค์กรสสส. เอง และ "องค์กร ส." อื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก จนเกิดการกระจายตัวในการทำงานพัฒนาระบบสุขภาวะของคนในสังคมไทยในด้านต่างๆ และก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมที่สำคัญในสังคมไทยดังที่ได้เห็นกัน
II. สิ่งที่ได้เรียนรู้จากสสส.
ในช่วงนี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสติดตามคำวิพากษ์วิจารณ์องค์กรสสส. จากบุคคลที่เกี่ยวข้องและสื่อต่างๆ ได้ยินทั้งความสำเร็จและข้อบกพร่อง ซึ่งผู้บริหารหรือผู้ที่เกี่ยวข้องคงจะต้องช่วยกันพลิกสถานการณ์ที่ถูกท้าทายจากฝ่ายต่างๆ นำพาสสส. ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐองค์กรหนึ่งให้เดินหน้าต่อไปอย่างถูกต้องและก่อประโยชน์แก่สุขภาวะของประชาชนชาวไทยดังที่กำหนดเป็นภารกิจหลักขององค์กรไว้
จากการทำงานร่วมกับสสส. ไม่ว่าจะโดยตรงหรือผ่านหน่วยงานภาคี ผู้เขียนได้เรียนรู้แนวคิดและวิธีการแบบใหม่ๆ หลายอย่าง ซึ่งเห็นว่าการพัฒนางานในแนวทางของสสส. น่าจะทำให้สังคมไทย รวมทั้งนักปฏิรูประบบยุติธรรมไทยได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน และหวังว่าข้อสรุปที่มีอยู่นี้ อาจจะเป็นประโยชน์แก่หน่วยงานที่จะต้องวางนโยบายและดำเนินการกับสสส. จะได้รับฟังข้อมูลอีกส่วนหนึ่งเพื่อประกอบในการพิจารณาดำเนินการต่อไป
ประเด็นสำคัญที่ผู้เขียนได้มีโอกาสเรียนรู้จากการทำงานกับสสส. และภาคีเครือข่าย น่าจะได้แก่เรื่องต่างๆ ดังต่อไปนี้
(๑.) การจัดระบบความคิด การกำหนดคำนิยาม และขอบเขตงานที่เป็นภารกิจแบบใหม่
สสส. และขบวนการปฏิรูปสุขภาพแนวใหม่ได้พยายามจัดระบบความคิดเรื่องการพัฒนาระบบสุขภาพ ทั้งผ่านการเรียนรู้จากปัญหาในการดำเนินการในอดีต และจากการเรียนรู้ความเคลื่อนไหวขององค์กรต่างๆ ที่เป็นสากล ทำให้เกิดการกำหนดคำนิยามและขอบเขตงานที่เป็นภารกิจแบบใหม่ที่กว้างขวางขึ้นจากเดิม โดยการทำการใคร่ครวญครุ่นคิดมองเรื่องที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นองค์รวมและจัดระบบความคิดแบบใหม่ ทำให้มีการขยายผลจากคำว่า "สุขภาพ" (Health) ไปสู่คำว่า "สุขภาวะ" (Well Being) ที่มีความหมายกว้างขวางขึ้น จากการพัฒนาระบบโรงพยาบาลและแพทย์ ไปสู่ระบบสุขภาพของกลุ่มคนต่างๆ ในวงกว้าง
มีการกระจายอำนาจการสร้างเสริม ป้องกัน รักษา ฟื้นฟู และเยียวยาสุขภาพไปยังแวดวงอื่น เริ่มตั้งแต่การลดละเลิกบุหรี่ เหล้า ซึ่งเป็นภารกิจตั้งต้น ขยายผลไปในเรื่องสุขภาวะทางกาย ทางจิตใจ ทางปัญญา รวมทั้งสุขภาวะทางสังคม ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพที่ปรากฏในกลุ่มคนด้อยโอกาสในสังคมประเภทต่างๆ โดยมีเป้าหมายที่การสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาพ บนพื้นฐานของการทำงานเชิงนโยบายผ่านปัจจัยโครงสร้างทางสังคมที่ส่งผลต่อสุขภาพ ตามกรอบข้อเสนอขององค์การอนามัยโลก ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวทางของการประชุมสมัชชาสหประชาชาติครั้งล่าสุดที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้ไปร่วมประชุมด้วย ที่เพิ่งประกาศเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ว่าโลกนี้จะไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Leave No One Behind)
ในเรื่องนี้ เมื่อเทียบกับระบบยุติธรรม จะเห็นได้ว่า ความพยายามในการปฏิรูปที่ผ่านมายังติดอยู่กับเรื่องการแก้ไขปัญหาในระบบศาล อัยการ และตำรวจ ซึ่งแม้จะได้มีความพยายามดำเนินการในหลายวิถีทาง รวมทั้งมีการปรับปรุงโครงสร้าง ตั้งองค์กรแบบใหม่เพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังเป็นเรื่องการกำหนดความหมายและคำนิยามแบบแคบที่เห็นว่าเรื่องความเป็นธรรมเกี่ยวข้องกับคดีความเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริง ปัญหาความไม่เป็นธรรมมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ตั้งแต่ในการปฏิบัติอย่างไม่ถูกต้องระหว่างบุคคลที่มีสถานะแตกต่างกัน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่เท่านั้น และปัญหาความไม่เป็นธรรมจากฝ่ายรัฐก็อาจจะมีอยู่ตั้งแต่ขั้นการทำกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ หรือขั้นการจัดสรรทรัพยากรของรัฐบาล ซึ่งอยู่นอกเหนือจากหน่วยงานยุติธรรมออกไปด้วย ปัญหาความไม่เป็นธรรมต้นทางไม่เคยถูกมองไปพร้อมๆ ความไม่เป็นธรรมปลายทาง
ดังนั้น การจัดระบบความคิด การกำหนดคำนิยาม และขอบเขตงานที่เป็นภารกิจแบบใหม่เพื่อการปฏิรูประบบยุติธรรมของประเทศ ก็อาจจำเป็นต้องถูกนำมาทบทวนในลักษณะเดียวกันกับปัญหาระบบสุขภาพดังกล่าว
(๒.) การพัฒนางานเชิงบูรณาการและการสร้างเครือข่าย
กฎเหล็กที่สำคัญของผู้ที่ได้รับทุนสนับสนุนของสสส.จะต้องดำเนินการ คือ การทำงานในเชิงบูรณาการและการสร้างเครือข่ายการทำงาน (Integration and Networking) ทำให้หน่วยงานต่างๆ ต้องพยายามพัฒนาแนวทางในการทำงานที่จะเชื่อมโยงกับฝ่ายอื่นๆ อย่างจริงจังมากขึ้น
ผู้เขียนเชื่อว่ากฎกติกาที่ตั้งไว้ในเรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องการเห็นข้อบกพร่องของการพัฒนางานต่างๆ ในสังคมไทย ที่แยกส่วนแยกแท่งจนมองไม่เห็นงานของส่วนรวม ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันคิดร่วมกันทำ ซึ่งวิธีการทำงานในลักษณะนี้ก็ไม่น่าจะขัดกับนโยบายประชารัฐที่รัฐบาลปัจจุบันได้ประกาศไว้ ที่มุ่งหวังให้ทุกๆ ฝ่ายได้มีเครือข่ายการทำงานเพื่อรวมพลังในการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริงนั่นเอง
แม้การพัฒนาในทางขวางน่าจะเป็นยุทธวิธีสำคัญที่ทุกภาคส่วนในสังคมจะได้นำไปใช้เพื่อขยายผลงานของตนให้กว้างขวาง แต่ในความเป็นจริงเรื่องนี้ยังมีข้อขัดข้องอยู่มาก โดยเฉพาะหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ที่มีความสัมพันธ์กันทางอำนาจในลักษณะของการตรวจสอบถ่วงดุลกันตลอดเวลา ทำให้ความร่วมมือและการประสานงานในการทำงานเป็นไปได้ยาก การแก้ไขกฎหมายแต่ละครั้ง หากมีเรื่องของอำนาจในการสั่งการ ก็จะเกิดข้อขัดแย้งและความหวาดระแวงระหว่างหน่วยงานเสมอว่าจะให้เป็นอำนาจของฝ่ายใด ทำให้ในภาพรวมขาดความเชื่อมต่อในการพัฒนางานทั้งระบบ นอกจากนี้หน่วยงานศาลและองค์กรอิสระมีธรรมเนียมปฏิบัติที่จะต้องแยกส่วนของตนออกไปอย่างอิสระ จนทำให้ขาดการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและการรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายอื่นๆ ยิ่งไปกว่านั้น ระบบงานราชการยุติธรรมทั้งระบบยังขาดพื้นที่การมีส่วนร่วมของฝ่ายประชาชนอย่างเพียงพอ ทำให้การปฏิรูประบบยุติธรรมไม่อาจพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนได้โดยง่าย
(๓.) การสร้างกลุ่มผู้นำเพื่อการขับเคลื่อนงาน
การได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการเครือข่ายพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาวะ ทำให้ผู้เขียนได้ไปเห็นกระบวนการสร้างผู้นำแนวใหม่ในกระบวนการพัฒนาสุขภาวะของสังคม ที่สสส.พยายามสนับสนุนให้เกิดขึ้น บนรากฐานความเชื่อที่ว่าการทำงานที่สลับซับซ้อนที่มีเนื้อหาครอบคลุมหลายส่วนไม่อาจดำเนินการโดยวีรบุรุษหรือวีรสตรีขี่ม้าขาวคนใดคนหนึ่ง ภาวะการนำแบบรวมหมู่ (Collective Leadership) จึงเป็นหลักการสำคัญที่สสส. และองค์กรภาคีพยายามสนับสนุนให้เกิดขึ้น ดังจะเห็นได้จากโครงการแบบใหม่ๆ เช่น การทำแผนงานเสริมสร้างศักยภาพผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคมและสุขภาพ หรือโครงการผู้นำเพื่ออนาคต ที่พยายามค้นหาเทคนิคแนวทางใหม่ๆ ในการสร้างผู้นำสังคมและชุมชนต่างๆ ให้มีอยู่อย่างเพียงพอในทุกหย่อมหญ้าในสังคมไทย
เมื่อเทียบกับการพัฒนาระบบยุติธรรมช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่าหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมยังตระหนักในเรื่องการพัฒนาบุคลากรและการสร้างผู้นำแบบใหม่น้อยเกินไป หรืออาจจะมีการดำเนินการอยู่บ้าง แต่หลักสูตรและวิธีการในการสร้างผู้นำยังไม่ก่อให้เกิดผู้นำในกระบวนการยุติธรรมที่มีความรู้ความคิดและจิตสำนึกในการทำงานพัฒนางานยุติธรรมเพื่อสังคม ที่จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริง ยิ่งไปกว่านั้น การระดมบุคคลที่มีความสามารถทางด้านสติปัญญาและผู้ที่มีประสบการณ์ในการทำงานจากพื้นที่หน้างานที่รับผิดชอบให้มาร่วมกันทำงานเชิงหมู่แบบคลังสมอง เพื่อมองภาพปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคมไทยแบบองค์รวม และร่วมกันวางแผนแก้ไขปัญหากำหนดทิศทางการปฏิรูประบบยุติธรรมทั้งระบบ อย่างมีความมุ่งมั่นและมีความต่อเนื่อง เพื่อพัฒนางานปฏิรูประบบยุติธรรมไทยให้เกิดผลขึ้นจริงอย่างมีความยั่งยืน ก็ยังไม่เคยเกิดขึ้นในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา
(๔.) การเลือกจุดยืนในการดำเนินการที่ชัดเจน
แม้หน่วยงานของรัฐควรจะเป็นกลางในการจัดทำภารกิจ แต่สิ่งที่ผู้เขียนเห็นในการดำเนินการของสสส. และองค์กรภาคี น่าจะเป็นการเลือกที่จะมีจุดยืนหรืออุดมการณ์ในการทำงานเพื่อคนระดับกว้างและระดับล่างของสังคม ซึ่งภาษาของนักพัฒนาในต่างประเทศ อาจจะเรียกได้ว่า เป็น Pro-Poor Movement ดังจะเห็นได้ว่าโครงการและแผนงานต่างๆ ของสสส. ยังเป็นเรื่องของการเปิดพื้นที่และเนื้องานใหม่ๆ ให้แก่กลุ่มคนต่างๆ ที่ยังขาดโอกาสในสังคม เพื่อทำให้กลุ่มคนที่ถูกหลงลืมในสังคมไทยได้มีสิทธิมีเสียงเพิ่มมากขึ้น ดังจะได้เห็นในเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไร้บ้าน เด็กข้างถนน เยาวชนในกระบวนการยุติธรรม กลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยว คนพิการ ผู้ติดเชื้อ คนหลากหลายเพศ หรือคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ซึ่งมิได้ซ้ำซ้อน แต่เป็นการสร้างเสริมงานของหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่หลักในการคุ้มครองสิทธิและสวัสดิการของบุคคลเหล่านั้น ที่อาจจะยังทำงานได้ไม่ครบถ้วน ทั้งโดยไม่มีงบประมาณเพียงพอ หรือยังไม่เห็นความสำคัญของเรื่องที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ สสส. เลือกเปิดพื้นที่ใหม่ให้คนที่ทำเรื่องใหม่ๆ เพื่อสังคมได้มีที่ยืน เช่น กลุ่มละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง การพัฒนาระบบการศึกษาและการเรียนรู้ทางเลือก หรือกลุ่มเยาวชนที่ทำงานศิลปวัฒนธรรมสะท้อนสังคม เพื่อให้เกิดจินตนาการและนวัตกรรมของสังคมแบบใหม่ๆ
การพัฒนางานในส่วนของระบบยุติธรรมไทยแม้จะได้พยายามดำเนินการกันมานาน แต่คนที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่ยังอาจไม่มีพื้นที่ที่ชัดเจนที่จะได้แสดงจุดยืนหรืออุดมการณ์ในการดำเนินงานที่เป็นเอกภาพ ด้วยองค์กรต่างๆ อาจจะขาดการเชื่อมร้อย หรือในส่วนขององค์กรราชการก็อาจจะทำงานกันไปตามหน้าที่โดยไม่จำเป็นต้องแสดงจุดยืนอะไร ยิ่งไปกว่านั้น การจัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรยุติธรรมระดับสูงของหลายองค์กร ที่พยายามเปิดพื้นที่ให้ฝ่ายอื่นๆ เข้าไปมีส่วนร่วม กลับกลายเป็นการพัฒนาแบบ Pro-Rich Approach ที่เปิดโอกาสให้บุคคลชั้นสูงในสังคม โดยเฉพาะบรรดาพ่อค้าแม่ค้านักธุรกิจรายใหญ่สามารถเข้าถึงตัวบุคลากรระดับสูงในกระบวนการยุติธรรมอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย การพัฒนาสังคมโดยอุดมการณ์ที่อยู่ตรงข้ามทิศกันเช่นนี้ คงจะเป็นเรื่องที่คนในสังคมไทยทั้งสังคมคงจะต้องมาช่วยกันค้นหาจุดสมดุลที่เหมาะสมกันต่อไปในอนาคต
บทสรุป
ผู้เขียนมิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะเขียนบทความนี้เพื่อออกมาปกป้ององค์กรสสส.จากการถูกตรวจสอบโดยฝ่ายต่างๆ และโดยส่วนตัวผู้เขียนมีความเชื่อมั่นว่าหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานต้องทำงานอย่างถูกต้องและมีธรรมภิบาลที่ดี
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่าประเด็นข้อถกเถียงหลายเรื่องที่เกี่ยวกับงานของสสส. เชื่อมโยงกับเรื่องยุทธศาสตร์การพัฒนาสังคมไทยในภาพรวมโดยตรง โดยเฉพาะเรื่องปัจจัยที่จะนำพาสังคมไปสู่ความสมบูรณ์ ซึ่งเรื่องสุขภาวะและเรื่องความเป็นธรรมก็เป็นตัวอย่างของเรื่องสำคัญที่ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันผลักดันให้เกิดขึ้น ผู้เขียนคงไม่ติดใจอะไร ถ้าผู้บริหารประเทศเลือกที่จะยุบองค์กรสสส. ทิ้งไป เพราะเห็นว่าสสส. ออกไปแย่งงานของกรมกองต่างๆ อย่างไม่ถูกต้อง
แต่ผู้เขียนคิดว่ารัฐไทยอาจจะต้องถามตนเองให้มากว่า หน่วยงานราชการไทยมีความจำเป็นต้องพื้นที่กลางที่จะทำให้เกิดการคิดสร้างสรรค์ มีนวัตกรรมใหม่ๆ ในสังคม โดยมีความยืดหยุ่นในการดำเนินการ และเปิดช่องทางให้ทุกฝ่ายในสังคมเข้าร่วมอย่างบูรณาการหรือไม่ และควรเป็นไปในลักษณะใด เพื่อให้สังคมไทยมีความเจริญรุ่งเรือง ผู้คนมีสุขภาวะ และไม่ทอดทิ้งบุคคลใดไว้ข้างหลังอย่างแท้จริง