กรมทรัพยากรน้ำเปิดพื้นที่ภัยพิบัติโชว์ “ดาสต้าบอล” บำบัดน้ำเสีย เผยจดลิขสิทธิ์แล้ว
องค์การบริหารพื้นที่พิเศษท่องเที่ยว-กรมทรัพยากรน้ำ เผยจดลิขสิทธิ์ดาสต้าบอลบำบัดน้ำเสียฝีมือคนไทย เปิดพื้นที่ภัยพิบัติโชว์ประสิทธิภาพ ตั้งศูนย์ผลิตที่เกาะช้าง-วัดถ้ำกระบอก กระจายรายได้สู่ชุมชน
วันที่ 8 พ.ย. 54 องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(อพท.) ร่วมกับ กรมทรัพยากรน้ำ ลงพื้นที่ประสบอุทกภัย ที่วัดป่าธรรมโสภณ จ.ลพบุรี และวัดถ้ำกระบอก จ.สระบุรี เพื่อพิสูจน์ประสิทธิภาพของดาสต้าบอลในการบำบัดน้ำเสีย ในขณะที่กำลังมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการใช้อีเอ็มบอลในการบำบัดน้ำเสียว่าได้ผลจริงหรือไม่
ทั้งนี้สืบเนื่องมาจาก “โครงการดาสต้าบอลเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสเจริญพระชนมายุครบ 84 พรรษา” ที่ดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 5 ธ.ค. 53 – 5 ธ.ค. 54 และสามารถใช้ได้ผลในพื้นที่วัดสลักคอก, บ้านสลักเพชร, บ้านบางเบ้า ต.เกาะช้างใต้ จ. ตราด รวมถึง ต.คลองใหญ่ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด ซึ่งปัจจุบันดาสต้าบอลได้รับการจดสิทธิบัตรแล้ว
นายดำรงศักดิ์ แก้ววงษ์ไหม อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฎรำไพพรรณี ผู้คิดค้นวิจัยเรื่องดาสต้าบอล กล่าวกับศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา ว่าดาสต้าบอลเกิดจากสายพันธุ์แบคทีเรียที่สามารถกินสารอินทรีย์เป็นอาหาร รวมทั้งมีส่วนผสมของเพอร์ไลท์หรือหินภูเขาไฟในการช่วยปรับค่าความเป็นกรด –ด่างของน้ำให้อยู่ที่ PH5-8 ซึ่งจะช่วยทำให้แบคทีเรียสามารถทำงานได้ดีขึ้น
ส่วนสาเหตุที่จำเป็นต้องปั้นลูกดาสต้าบอลให้มีลักษณะกลม เนื่องจากต้องการสร้างบ้านให้จุนลินทรีย์มีอาหารเลี้ยงตัวเอง โดยได้รูพรุนจากลักษณะทางกายภาพของเพอร์ไลท์เป็นตัวช่วยเกาะยึด รวมทั้งเพิ่มน้ำหนักเมื่อจมลงสู่แหล่งน้ำ ส่วนแบคทีเรียที่ถูกใช้นั้นคือ บาซิลลัส ซึ่งเป็นชนิดที่เติบโตได้ดีกับน้ำเค็ม น้ำกร่อย และน้ำจืด เนื่องจากเพาะเลี้ยงมาจากเชื้อ ปม. 1 ของกรมประมง
สำหรับการใช้ดาสต้าบอลบำบัดน้ำเน่าเสียนั้น นายดำรงศักดิ์ กล่าวว่าผู้ประสบภัยควรใช้ดาสต้าบอล 1 ลูก ต่อน้ำเน่าเสีย 4 ลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ 4-6 ตารางเมตรในปริมาณน้ำที่ไม่ลึกมาก โดยเมื่อโยนลงไปแล้ว ดาสต้าบอลจะจมลงและละลายตัวภายใน 2 ชั่วโมง ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป 24 ชั่วโมง จะสังเกตเห็นน้ำเริ่มใสและกลิ่นเหม็นน้อยลง จนกระทั่งสามารถมองเห็นพื้นน้ำได้ภายใน 48 ชั่วโมง
“ดาสต้าบอล แตกต่างจากลูกบอลจุนลินทรีย์ทั่วไปตรงที่มีการคัดเลือกสายพันธุ์ ตลอดจนชนิดและปริมาณของส่วนผสมของน้ำทะเลในพื้นที่นั้น ๆ ผสมอยู่ เพื่อให้มีผลใช้จริงกับสภาพพื้นที่ใช้ ที่สำคัญยังเห็นผลได้ชัดเจนในเวลาอันสั้น และไม่มีส่วนผสมของดิน แต่ขอย้ำว่าควรใช้กับสภาพน้ำนิ่งเท่านั้น มิใช่นำไปโยนในน้ำที่ไหลเนื่องจากจุนลินทรีย์จะถูกพัดตามแรงน้ำหายไป จนไม่สามารถทำปฏิกิริยาได้” ผู้วิจัยดาสต้าบอล กล่าว
ด้านพันเอก ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่าโครงการดังกล่าวใช้แก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียตามแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ อีกทั้งยังเป็นการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศ ซึ่งชุมชนจะได้รับผลประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม พร้อม ๆ กัน
“เมื่อประเทศไทยประสบปัญหาอุทกภัย จึงมีนโยบายนำดาสต้าบอลมาใช้ในการแก้ปัญหา หลังจากมีการใช้และเห็นผลครั้งแรกที่วัดสลักคอก ต.เกาะช้างใต้ จ.ตราด ก่อนที่จะกระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ เช่น อยุธยา ปทุมธานี นครสวรรค์ ลพบุรี จนเมื่อมีความต้องการใช้มากขึ้น จึงได้มีการตั้งศูนย์การผลิตที่เกาะช้าง จ.ตราด และวัดถ้ำกระบอก จ.สระบุรี เพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชน” อพท. กล่าว
น.ส.ปิยะพร วงศ์บุดดา ชาวบ้าน อ. พระพุทธบาท จ. สระบุรี เปิดเผยว่าขณะนี้ตนและครอบครัวมีรายได้จากการปั้นดาสต้าบอล โดยหนึ่งกะละมังปั้นได้ประมาณ 500 ลูก มีต้นทุนกะละมังละ 100 บาท วันหนึ่ง ๆ เฉพาะคนเดียวก็ปั้นได้วันละ 300-400 บาท นับว่าเป็นรายได้ที่ดีทางหนึ่ง