นักวิชาการชงกม.ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ร่วมกิจกรรมเสี่ยงโชคชาเขียว
นักวิชาการและเครือข่ายภาคประชาสังคม ร่วมเสนอพัฒนามาตรการการให้รางวัลด้วยการเสี่ยงโชค ห่วงเด็กและเยาวชนเป็นสำคัญ เผยผลสำรวจคนไทยกว่าครึ่ง ส่งSMS เสี่ยงโชคชาเขียวมากสุด สุดอึ้งทัศนคติอันตราย ไม่มองเรื่องนี้เป็นสิ่งพนัน เป็นเพียงการคืนกำไรร่วมสนุก
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ มีการประชุมคณะทำงานการพัฒนาข้อเสนอวิชาการมาตรการการให้รางวัลด้วยการเสี่ยงโชค จัดโดยศูนย์ข้อมูลนโยบายสาธารณะการลดปัญหาจากการพนัน มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ โดยมีนักวิชาการเครือข่ายภาคประชาสังคม และตัวแทนจากเจ้าหน้าที่รัฐเข้าร่วมการประชุม
ผศ.ศรัณยพงศ์ เที่ยงธรรม อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวถึงผลสำรวจประชาชนอายุ 25 ปีขึ้นไป ช่วงเดือน ส.ค 2557 ที่มีประสบการณ์ส่ง SMS เพื่อการเสี่ยงโชคสินค้า พบว่ากว่า 50 เปอร์เซ็นต์ มีประสบการณ์เคยส่งSMSเสี่ยงโชค โดยพบมากสุดเป็นสินค้าประเภทชาเขียว ความถี่ในการส่ง มีตั้งแต่ต่ำสุด 1 ครั้ง ไปจนถึงมากสุด 60 ครั้งต่อคน
ขณะที่ผลสำรวจทัศนคติ จากการร่วมเล่น ส่วนใหญ่เห็นว่า ไม่เกี่ยวข้องกับการพนัน มองเป็นเพียงกิจกรรมคืนกำไร และยินดีจะเสียเงินจากการส่ง SMS แม้จะรู้ว่าอากาศถูกจะน้อยก็ตาม เพราะถือเป็นการสร้างความสนุก
“ในหลายประเทศทั่วโลกมองเรื่องการให้รางวัลด้วยการเสี่ยงโชคถือเป็นสิ่งพนัน จึงมีทั้งตัวบทกฎหมายที่ครอบคลุมชัดเจนมาควบคุม ทั้งการกำหนดเงินรางวัลที่ต้องไม่สูงเกินกว่าตัวผลิตภัณฑ์ หรือการกำหนดภาษีให้สูง เพื่อลดการจูงใจที่จะทำให้ต่ำลง แต่เมื่อมามองในส่วนของประเทศไทย คนส่วนใหญ่มักมองเรื่องนี้เป็นเพียงความสนุก ไม่ใช่เป็นสิ่งพนัน ซึ่งถือเป็นค่านิยมอันตราย โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางในเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ที่ปัจจุบันมักเข้าถึงในส่วนนี้กันมากขึ้น จึงถึงเวลาแล้วที่เราต้องตระหนักถึงการป้องกันไม่ให้กลุ่มเปราะบางนี้เข้าถึงได้โดยง่าย เพราะผลวิจัยทางการแพทย์ชี้ชัดและยืนยันว่า การพนัน ส่งผลต่อสมองและพฤติกรรมของเด็กที่จะกลายเป็นผู้ใหญ่ติดพนันในอนาคตได้”
นายธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการ สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ องค์การแพร่ภาพกระจายเสียงสาธารณะแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในประเทศญี่ปุ่นเขามองเรื่องการให้รางวัลด้วยการเสี่ยงโชคถือเป็นสิ่งพนันชัดเจน และกำหนดเพดานเงินรางวัลต้องไม่เกิน 20 เท่าของตัวผลิตภัณฑ์ ไม่ใช่อย่างบ้านเรา ที่เมื่อเสี่ยงโชคได้รางวัลแล้วจะเปลี่ยนชีวิต ได้บ้าน ได้รถโดยทันที ถือเป็นสิ่งจูงใจให้คนมามัวเมากับสิ่งนี้มากขึ้น หรืออย่างในอเมริกา ถ้าจะให้มีการเสี่ยงโชคเพื่อได้รางวัล ก็จะเปิดโอกาสให้ผู้ที่จะเสี่ยงโชค ไม่จำเป็นต้องซื้อผลิดภัณฑ์ก็สามารถเข้าร่วมสนุกได้เป็นต้น
นายธาม กล่าวอีกว่า จากการศึกษาการควบคุมการให้รางวัลด้วยการเสี่ยงโชคในหลายประเทศ ที่ถือเป็นแบบอย่างที่ดี สามารถนำมาใช้กับประเทศไทยได้คือ การทำตลาดชิงโชคไม่ควรเกินปีละ 2 ครั้ง แต่ถ้าของรางวัลต่ำกว่ารวมต่ำกว่า 200,000 บาท สามารถจัดบ่อยได้ตามต้องการ ขณะที่การกำหนดรางวัลต้องมีมูลค่าไม่เกิน 20 เท่าของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งสถานที่จดทะเบียนขออนุญาตต้องที่เดียวกับที่ตั้งนิติบุคคล และสถานที่จับรางวัลต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ และสามารถตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังได้
"นอกจากนี้ระยะเวลาการชิงโชค ห้ามทำวันต่อวัน อย่างน้อยเว้นระยะสัก 1 สัปดาห์ ต้องมีการกำหนดโอกาส ที่เมื่อส่งเท่าไหร่ก็ได้รางวัลเดียว ไม่ใช่ใช้คำว่า ยิ่งส่งมาก ยิ่งมีโอกาสมาก ดังเช่นในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นการโหมโฆษณา กระตุ้นผู้เล่น เป็นต้น"
ด้านนพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน กล่าวว่า ในส่วนของกสทช.ต้องรอการยืนยันจากฝ่ายวิชาการก่อนว่า การส่ง SMS เสี่ยงโชค จะเข้าข่ายการพนันหรือไม่ หากเข้าข่ายการพนัน ก็จะมีการเสนอไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้มีการร่างกฎหมายเข้ามาควบคุม
“บริษัทที่ใช้กิจกรรมแบบนี้ฉลาดรู้ว่า กฎหมายยังไม่ได้มีการบังคับเท่าไหร่ ให้ส่ง SMS ฟรี แต่ได้กำไรจากกิจกรรมสูง เป็นกิจกรรมที่ไม่ได้ใช้เงินวางเดิมพัน แต่เป็นการซื้อโชค แถมของ ดังนั้นการตีความกฎหมายจากนิยาม การชิงโชคที่ไม่ชัดเจนในตัวพ.ร.บ.การพนัน 2478 มาจัดการกิจกรรมชิงโชคให้เข้ากับการพนันจึงลำบาก”นพ.ประวิทย์กล่าว
นายพงศ์ธร จันทรัศมี ผู้จัดการศูนย์ข้อมูลนโยบายสาธารณะการลดปัญหาจากการพนัน มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ประชุมมีข้อสรุปจากวงเสวนาใน 4 เรื่องสำคัญ บนพื้นฐาน หลักกัน fair and save คือ 1.ให้รางวัลด้วยการเสี่ยงโชค ที่ต้องมีความโปร่งใสในการออกรางวัลและการจับรางวัล มีการแจ้งรายละเอียดของกิจกรรมและหน่วยงานที่กำกับการจัดกิจกรรมชัดเจน 2.ความถี่ในการจัดกิจกรรมเสี่ยงโชค ไม่ควรสัปดาห์ละ 1 ครั้ง หรือ จำกัด 4 รอบใน 1 ปี 3. ต้องมีมาตรการป้องกันกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ที่ต่ำกว่า 20 ปี ที่ไม่ควรเข้าร่วมกิจกรรม และ4.เรื่องการขอใบอนุญาตจัดกิจกรรมเสี่ยงโชค ผู้จัดต้องจดทะเบียนในนามบริษัทของตัวเอง ไม่ใช่ การไปจ้างบริษัทอื่น มาจดทะเบียนดำเนินการแทนอย่างเช่นทุกวันนี้ เพราะหากมีการทำผิดเงื่อนไขของระเบียบกระทรวงมหาดไทย เจ้าของบริษัทจัดกิจกรรมที่แท้จริง ก็จะไปจ้างบริษัทอื่นมาดำเนินการกิจกรรมเสี่ยงโชคอีก ไม่สามารถเอาผิดของบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่แท้จริงได้ โดยข้อสรุปจากภาคประชาชนนี้ จะเสนอไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อแก้ในระดับของกฎหมายต่อไป