มลพิษหมอกควันโจมตีใต้ตอนล่างอีกระลอก สั่งอพยพ 25 นักศึกษาไทยในอินโดฯ
สถานการณ์มลพิษจากหมอกควันในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างของไทย ซึ่งเป็นหมอกควันข้ามแดนอันสืบเนื่องมาจากการเผาพื้นที่พรุในเกาะสุมาตราและบอร์เนียว ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นปัญหามาระยะหนึ่งแล้วนั้น ล่าสุดสถานการณ์ได้ทวีความรุนแรงขึ้นอีกระลอก
โดยตั้งแต่วันพุธที่ 21 ตุลาคม 2558 ปริมาณหมอกควันและฝุ่นละอองในอากาศในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างของไทยพุ่งสูงขึ้น จนบางพื้นที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนอย่างมาก
ข้อมูลคุณภาพอากาศจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศในภาคใต้ของกรมควบคุมมลพิษ วันพุธที่ 21 ตุลาคม พบปริมาณฝุ่นละอองสูงเกินมาตรฐาน หรือเกินกว่า 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ได้แก่ ในพื้นที่จังหวัดสงขลา มีปริมาณหมอกควันและฝุ่นละอองหนาแน่นที่สุดอยู่ที่ 191 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จังหวัดสตูล 165 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จังหวัดปัตตานี 139 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และจังหวัดยะลา 138 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
วันพฤหัสบดีที่ 22 ตุลาคม แนวโน้มสถานการณ์แย่ลง โดยที่จังหวัดสตูลมีปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ 273 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จังหวัดสงขลาพุ่งไปถึง 369 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จังหวัดปัตตานี 273 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จังหวัดยะลา 172 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และจังหวัดนราธิวาส 123 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
วันศุกร์ที่ 23 ตุลาคม สถานการณ์ดีขึ้นเล็กน้อย กล่าวคือ จังหวัดสตูลมีปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ 228 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จังหวัดสงขลา ลดลงมาอยู่ที่ 278 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จังหวัดปัตตานี 168 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จังหวัดยะลา 173 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และจังหวัดนราธิวาส 138 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ทั้งนี้ ปริมาณฝุ่นละอองในอากาศที่เกิน 350 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถือว่าอยู่ในระดับกระทบต่อสุขภาพมาก ซึ่งเป็นสถานการณ์ของจังหวัดสงขลา ขณะที่ปริมาณฝุ่นละอองเฉลี่ยในสภาวะปกติของภาคใต้จะมีค่าไม่เกิน 40 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรเท่านั้น
ปลัดมท.สั่งรถน้ำฉีดละอองน้ำในชุมชน
นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า ได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่ประสบปัญหาหมอกควันทุกจังหวัด นำรถบรรทุกน้ำฉีดพ่นละอองน้ำในพื้นที่ชุมชนที่มีประชาชนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น พร้อมให้แจ้งผู้บริหารสถานศึกษาพิจารณาประกาศหยุดเรียนได้หากปรากฏคุณภาพอากาศอยู่ในระดับที่กระทบต่อสุขภาพของประชาชน และให้สถานีอนามัยและหน่วยบริการของกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่งแจกจ่ายหน้ากากอนามัยให้กับประชาชน
นอกจากนั้น ยังขอให้สถานีวิทยุและโทรทัศน์ในระดับท้องถิ่น สนับสนุนการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจต่อประชาชนเกี่ยวกับการป้องกันและดูแลสุขภาพ รวมถึงการหลีกเลี่ยงสถานที่ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจัด “ชุดปฏิบัติการตำบล” ออกเยี่ยมประชาชนด้วย
ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สั่งการให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร พิจารณาดำเนินการจัดทำฝนหลวงในพื้นที่ที้ได้รับผลกระทบจากหมอกควันโดยทันที
สงขลาสั่งปิดโรงเรียน-สนามกีฬาทั้งจังหวัด
นายฮาเล็ม เจะมาริกัน ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 16 สงขลา กรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า จังหวัดสงขลาถือว่าสถานการณ์อยู่ในขั้นวิกฤติ จึงเร่งให้นำน้ำไปพ่นในพื้นที่ชุมชนที่มีประชาชนอยู่อย่างหนาแน่น เพื่อลดปริมาณความหนาแน่นของหมอกควันลง รวมทั้งประสานของความร่วมมือให้โรงเรียนในพื้นที่จังหวัดสงขลาทั้งจังหวัดปิดการเรียนการสอน แม้ว่าในช่วงนี้จะเป็นช่วงปิดภาคเรียน แต่ทราบว่ามีบางโรงเรียนเปิดทำการเรียนการสอนอยู่ จึงได้ให้ปิดการเรียนการสอนไปก่อน เพื่อความปลอดภัยของเด็กนักเรียนจนกว่าสถานการณ์หมอกควันจะดีขึ้น
นอกจากนี้ยังขอให้ปิดสนามกีฬาต่างๆ เพื่อให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่ง ซึ่งเป็นอันตรายจากหมอกควันด้วย
นราธิวาสตั้งศูนย์เฉพาะกิจรับมือ
ที่จังหวัดนราธิวาส สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ได้เปิดศูนย์เฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันจากประเทศอินโดนีเซีย และลงพื้นที่แจกจ่ายหน้ากากอนามัยให้กับประชาชน พร้อมแจ้งให้ประชาชนติดตามรับฟังข่าวสารเป็นระยะ โดยหมอกควันที่เข้าปกคลุมพื้นที่มากขึ้นในขณะนี้ เนื่องจากอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดจากตอนล่างเข้าสู่ประเทศไทยด้านตะวันตก จึงทำให้หมอกควันจากเกาะสุมาตราพัดปกคลุมพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างมากขึ้น
ส่วนบรรยากาศการใช้ชีวิตของประชาชนในพื้นที่เขตเทศบาลเมืองนราธิวาส มีประชาชนนำหน้ากากอนามัยมาสวมปิดจมูกและปากเพื่อป้องกันฝุ่นละอองที่มาจากหมอกควันมากขึ้น เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่ต้องออกตรวจตรารถยนต์และรถจักรยานยนต์ตามถนนสายต่างๆ ก่อนเข้าตัวเมือง ก็ได้น้ำหน้ากากอนามัยมาสวมใส่เช่นกัน
อพยพ 25 นักศึกษาไทยในอินโดฯ
นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เปิดเผยว่า ได้ประสานไปยังเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ให้ดูแลและช่วยเหลือนักศึกษาไทยในอินโดนีเซียที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง โดยอพยพมายังที่ปลอดภัย
ทั้งนี้ มีนักศึกษาไทยที่ไปเรียนในประเทศอินโดนีเซียประเภททุนมูฮัมมาดียะห์ และนักศึกษาทุนจากกระทรวงการศาสนาของอินโดฯ ประมาณ 1,600 คน โดยเป็นนักศึกษาที่มาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน 1,200 คน และจากภูมิภาคอื่นราว 400 คน
สำหรับในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ศอ.บต.ได้เปิดสายด่วนอุ่นใจ หมายเลขโทรศัพท์ 1880 รับแจ้งและให้คำแนะนำประชาชนเกี่ยวกับปัญหาหมอกควันด้วย
ขณะที่ นายภาสกร ศิริยะพันธ์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงจาการ์ตา เปิดเผยว่า สถานทูตได้ช่วยเหลืออพยพนักศึกษาไทยจำนวน 8 คนออกจากเมืองปาลังการายา จังหวัดกาลิมันตันกลาง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษควันไฟป่าอย่างรุนแรง โดยอพยพไปยังเมืองบันจาร์มาซิน ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะกาลิมันตันแล้ว ทั้งหมดปลอดภัยดี และจะเดินทางโดยเครื่องบินมายังกรุงจาการ์ตาในวันเสาร์ที่ 24 ตุลาคม ส่วนนักศึกษาไทยอีก 17 คน พาสปอร์ตอยู่กับทางมหาวิทยาลัย ซึ่งทางสถานทูตได้ติดตามอย่างใกล้ชิดและพร้อมให้การช่วยเหลือทันทีที่ได้รับการประสานงาน โดยจัดสถานที่ให้พักในกรุงจาการ์ตาจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
นายดำรงค์ ใคร่ครวญ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า สถานการณ์ในมาเลเซียยังไม่ร้ายแรงถึงขนาดต้องอพยพคนไทยหรือนักศึกษาไทย โดยปริมาณหมอกควันและฝุ่นละอองในอากาศวันที่ 23 ตุลาคมดีขึ้นพอสมควร ข้อมูลจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมมาเลเซีย ระบุว่าปริมาณฝุ่นละอองในอากาศที่กัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของประเทศ อยู่ที่ 98 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนปีนัง 145 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และเปอร์ลิส 135 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 หมอกควันหนาที่สนามกีฬาจิระนคร อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
2 แผนที่แสดงทิศทางลมและจุดความร้อนจากหมอกควันในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน และไทย
3 แผนที่แสดงปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ โดยกระทรวงสิ่งแวดล้อมของมาเลเซีย