ก.อุตฯ ยันยังไม่เดินหน้าเหมืองแร่ทองคำ แม้จ่อสำรวจอีก 13 ราย
รมว.อุตสาหกรรมยันยังไม่เดินหน้าเหมืองแร่ทองคำ จนกว่าจะหาข้อยุติ-แก้ปัญหาให้ชาวบ้านได้ ระบุตั้งคณะกรรมการลงพื้นที่ตรวจสอบแล้ว ขอนักวิชาการ ชาวบ้าน ร่วมให้ข้อมูล เพื่อเป็นแนวทางกำหนดเงื่อนไขก่อนเดินหน้านโยบายเหมืองแร่ทองคำ
เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2558 คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนาวิชาการในหัวข้อ “กิจบ้าน การณ์เมือง” ณ ห้องประชุม 212 อาคารมหิตลาธิเบศร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงการดำเนินนโยบายเหมืองแร่ ว่า ขณะนี้มีชาวบ้านส่งเรื่องร้องเรียนเรื่องผลกระทบที่เกิดจากการทำเหมืองแร่ว่า พบสารแมงกานีส สารหนูในเลือด และมีชาวบ้านป่วยจากสารเหล่านี้ทำให้เกิดความกังวลหากมีการเดินหน้าดำเนินนโยบายเหมืองแร่ทองคำ ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุข และบริษัทที่ประกอบกิจการได้จ้างมหาวิทยาลัยรังสิตเข้าไปศึกษาสภาพแวดล้อมตามการร้องเรียนของชาวบ้าน และทางกระทรวงอุตสาหกรรมเองได้ตั้งคณะกรรมการลงไปตรวจสอบเพื่อที่จะได้มีข้อมูลมาสรุปว่าสุดท้ายแล้วจะดำเนินนโยบายเหมืองแร่อย่างไร
ดร.อรรชากา กล่าวว่า สำหรับนโยบาเหมืองแร่ทองคำนั้นเริ่มมาตั้งแต่ปี 2550 สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ นำไปศึกษาและผ่านคณะรัฐมนตรีในปี 2552 ผ่านมาแล้ว 6 ปีก็ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเอาข้อมูลมาคุยกัน โดยเฉพาะนักวิชาการจะต้องออกมาช่วย
"ปัจจุบันฟังความข้างเดียวไม่ได้ เวลาฝ่ายตรวจสอบลงไปตรวจสอบ ก็รายงานมาว่าทำถูกต้องตามหลักวิชาการทุกอย่าง ขณะที่ชาวบ้านก็บอกว่า มีคนป่วยเสียชีวิตจากการทำเหมือง น้ำอาบไม่ได้ ล่าสุดเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่มีค่าแมงกานีสมากที่สุดในประเทศ ตรวจสอบบ่อน้ำ 12 บ่อ พบเพียง1-2 บ่อเท่านั้นที่มีสารผิดปกติ ฉะนั้นประเด็นปัญหาเรื่องความเจ็บป่วยของชาวบ้านเกิดจากการทำเหมืองจริงหรือไม่จึงเป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยร่วมกัน ทั้งในส่วนของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ชาวบ้านที่สนับสนุน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข เอาข้อเท็จจริงที่แต่ละฝ่ายมีมาดูมาถกเพื่อแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้าน รวมทั้งจะได้เป็นข้อมูลในการสร้างเงื่อนไขว่าหากจะดำเนินนโยบายเหมืองแร่ ต้องมีมาตรการที่เข้มงวดอย่างไร"
รมว.อุตสาหกรรม กล่าวอีกว่า วันนี้มีที่รอสำรวจอีก 13 แห่ง แต่ยังไม่ได้อนุมัติ เพราะเกิดการร้องเรียน ทางกระทรวงพยายามที่จะแก้ปัญหาให้ชาวบ้านก่อนที่จะเปิดวงคุยกันทุกภาคส่วน ก่อนที่เดินหน้านโยบายเหมืองแร่ต่อไป