ภาคี สสส.ย้ำจุดยืนการทำงานที่ผ่านมา เกี่ยวข้องสุขภาวะคนไทยทั้งสิ้น
เครือข่ายภาคี สสส. แถลงจุดยืน ย้ำ สสส. ต้องอิสระ ตรวจสอบได้ ประชาชนมีส่วนร่วม เผยที่ผ่านมาทำงานด้านสุขภาวะให้สังคมไทยมาโดยตลอด วอนอย่ามองเรื่องสุขภาวะเพียงแค่เรื่องกายภาพเท่านั้น
วันที่ 22 ตุลาคม 2558 เครือข่ายขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชนร่วมกันจัด แถลงข่าว ณ ห้องนมัสการ ชั้น 4 อาคารสภาคริสตจักรแห่งประเทศไทย เพื่อแสดงจุดยืนและร่วมสนับสนุนให้นิยามการเสริมสร้างสุขภาพของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ยึดตามกฏหมายปัจจุบัน และให้ สสส. เป็นกลไกอิสระ ที่ตรวจสอบได้ อย่างมีมาตรฐาน มีส่วนร่วม โดยในงานแถลงข่าวครั้งนี้มีตัวแทนจากองค์อิสระจากภาคส่วนต่างๆ อาทิ เครือข่ายงดเหล้า เครือข่ายผู้หญิง คนจนเมือง รวมไปถึงกลุ่มชาติพันธ์ุ ฯลฯ เข้าร่วม
นายคำรณ ชูเดชา จากองค์กรงดเหล้า ตัวแทนเครือข่าย กล่าวว่า จากประสบการณ์และบทเรียนในการทำงานกับ สสส. ทำให้พบว่า สสส. เป็นองค์กรนวัตกรรมของสังคมไทย โดยเป็นกลไกสนับสนุนให้เกิดยุทธศาสตร์แนวทางใหม่ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพของสังคมที่ซับซ้อนและสะสมมายาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการที่สร้างการมีส่วนร่วมของกลุ่มต่างๆ ที่หลากหลายที่กลไกภาครัฐเข้าไม่ถึง ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาและสร้างเสริมสุขภาพอย่างยั่งยืนด้วยตนเอง ซึ่งปรากฏผลลัพธ์ผลสำเร็จในหลายกรณีตามรายงานของสื่อมวลชนตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ทางเครือข่าย ได้ยื่นข้อเสนอต่อสังคมในประเด็น สสส. ดังต่อไปนี้
1. ขอสนับสนุนให้การดำเนินงานของสสส. มีขอบเขตการเสริมสร้างสุขภาพ ตามนิยามที่ระบุไว้ในพระราชัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 ซึ่งหมายถึง “การใดๆ ที่มุ่งกระทำเพื่อสร้างเสริมให้บุคคลมีสุขภาวะทางกาย จิต และสังคม โดยสนับสนุนพฤติกรรมของบุคคล สภาพสังคม และสิ่งแวดล้อมที่จะนำไปสู่การมีร่างกายที่แข็งแรง สภาพจิตที่สมบูณณ์ อายุยืนยาว และคณภาพชีวิตที่ดี”
ทั้งนี้เนื่องจากนิยามดังกล่าว สะท้อนแนวคิดสุขภาพแบบองค์รวม ที่ทั่วโลกยอมรับ เช่นการประเมินผล 10 ปี สสส. โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) และธนาคารโลก ชื่นชมการทำงานของ สสส. และขอให้เป็นต้นแบบขยายผลไปยังประเทศอื่นๆ ด้วย และจากบทเรียนของเครือข่ายที่ทำงานด้านนี้อย่างยาวนาน พบว่าสามารถคลี่คลายปัญหาสุขภาพที่มีความซับซ้อนอย่างได้ผล
2. ขอสนุบสนุนหลักการที่ให้ สสส. และองค์กรอิสระอื่นๆ เป็นองค์กรที่มีธรรมาภิบาล ตรวจสอบได้โดยกลไกและกระบวนการตรวจสอบการดำเนินการของ สสส. และองค์กรเหล่านั้น ก็ต้องเป็นไปอย่างมีระบบ มีมาตฐาน มีขั้นตอนที่ถูกต้องซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยต้องไม่เลือกปฎิบัติ เปิดเผยโปร่งใส ตามหลักธรรมาภิบาล ที่สำคัญยิ่งตะต้องเปิดโอกาสให้ผู้ถูกตรวจสอบและผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เครือข่ายต่างๆ ซึ่งทำงานเกี่ยวกับสุขภาพอยู่ทั่วประเทศได้มีโอกาสได้รับรู้และมีส่วนร่วมในการชี้แจงให้ข้อมูลอย่างเป็นธรรม และต้องให้สังคมได้มีส่วนร่วมรับรู้ข้อเท็จจริง
3. สสส. คือ องค์กรที่เป็นกลไกอิสระ เป็นบทพิสูจน์ว่าได้สร้างนวัตกรรมทางสังคมมากมาย สสส.คือกองทุนของภาคประชาสังคม แม้ว่าจะมีการปรับปรุงการทำงานของ สสส. ให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกหน่วยงานพึงกระทำอยู่เเล้ว แต่ควรคงไว้ซึ่งหลักการและเจตนารมณ์การทำงานของ สสส. ที่เป็นกลไกสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และให้มีความเป็นอิสระควบคู่กับกลไกการตรวจสอบที่มีมาตรฐาน โดยมีข้อมูลวิชาการที่เชื่อถือรองรับ และที่สำคัญให้ประชาชนเข้าถึงและมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง
ด้านนายจเด็จ เชาวน์วิไล ประธานเครือข่ายผู้หญิง กล่าวถึงการออกมาแถลงข่าวครั้งนี้ไม่ได้เป็นการออกมาปกป้อง สสส. แต่เป็นการออกมาเพื่อแสดงจุดยืนการทำงานของเครือข่ายภาคีในภาคส่วนต่างๆ ออกมาเพื่อเสนอให้สังคมได้เห็นว่า ที่ผ่านมาทำอะไรไปบ้าง ยกตัวอย่างเช่น กิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี หลายคนถามว่า เกี่ยวข้องกับสุขภาพอย่างไร
ประธานเครือข่ายผู้หญิง กล่าวว่า การสวดมนต์ เกี่ยวข้องกับสุขภาพ เพราะเมื่อคนหันมาสวดมนต์ ไม่ออกไปดื่มเหล้า ไม่ออกไปเที่ยวในช่วงปีใหม่ สุขภาพก็ดีขึ้น สถาบันครอบครัวก็ดีขึ้น แถมยังลดอุบัติเหตุได้อีกทาง
"สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่สังคมของเรายังมองมาไม่ถึง เราตีความสุขภาวะเพียงเรื่องกายเรื่องเดียว แต่เราลืมว่าสุขภาวะเกี่ยวข้องกับจิตใจด้วยเช่นกัน ซึ่งนั้นก็เป็นหน้าที่ของเราอีกเช่นกันที่ต้องออกมาชี้แจงในวันนี้"นายจเด็จ กล่าว และการที่ สสส. โดนตรวจสอบเห็นด้วยหรือไม่ ตอบได้เลยว่า เห็นด้วย และในส่วนขององค์กร ภาคีเครือข่ายก็พร้อมให้ตรวจสอบ อันไหนที่ไม่ดีต้องพร้อมปรับปรุงเเละแก้ไขกันต่อไป แต่การตรวจสอบต้องแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสด้วย ต้องไม่มีเรื่องการเมืองเข้ามาแทรกแซง
นายจเด็จ กล่าวว่า การที่องค์กรอิสระต่างๆ เข้ามาเป็นภาคีเครือข่ายกับ สสส. ก็เพราะว่า สสส. เป็นองค์กรที่จะเข้ามาช่วยเสริมเติมแต่งให้ศักยภาพของกลุ่ม องค์กรต่างที่ทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น หากไม่มี สสส. ยังทำงานต่อไปได้หรือไม่ ก็ยังทำต่อไปได้ เพียงแต่คนในกลุ่มอาจต้องลงขันในการทำงานเพิ่มมากขึ้น เพราะงานที่พวกเรากำลังทำนั้น คืองานที่ภาครัฐเข้าไปไม่ถึง พวกเราจึงต้องลุกขึ้นมาช่วยพลักดันในเรื่องต่างๆ ให้เดินหน้าต่อไป
|
|