“เครือข่ายองค์กรชุมชน” ความหวังในการจัดการภัยพิบัติไทย
ภาพการจัดการภัยพิบัติที่เราเห็นกันจนชินตาในสื่อมวลชน คือประชาชนมายืนรอรับของยาวเหยียด มาเรียกร้องต้องการทุกอย่าง มาพังทลายคันกั้นน้ำ ฯลฯ ในขณะที่ภาพผู้บริจาคทั้งหลายสง่างามอย่างยิ่ง แต่ภาพพจน์โดยรวมของ “ประชาชน” คือผู้รอรับการช่วยเหลือ ผู้ร้องขอ ผู้ตกเป็นเหยื่อ ผู้ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ฯลฯ
เราไม่ค่อยเห็นภาพอื่นๆของ “ประชาชน”ที่นอกเหนือไปกว่านี้หรือ??...
ชาวบ้านช่วยชาวบ้าน วัฒนธรรมเอื้ออารีในวิกฤติน้ำท่วม
เราทราบไหมว่า เครือข่ายองค์กรชุมชนใน จ.นราธิวาส ใช้เงินกองทุนของชุมชนระดับตำบลจำนวน 68 ตำบลๆละ 2,000 บาท จัดหาอาหารและสิ่งของเครื่องใช้เพื่อผู้ปะสบภัยในพื้นที่กรุงเทพฯและภาคกลาง กองทุนสวัสดิการชุมชนกว่า 100 กองทุน ในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ภูเก็ต ฉะเชิงเทรา ชุมชนบางบัว (กรุงเทพฯ) ใช้เงินกองทุนและรณรงค์ให้สมาชิกของกองทุน ออมเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย
สมาชิกโครงการบ้านมั่นคงกว่า 90,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ ช่วยผู้ประสบภัยครัวเรือนละ 30 บาท เครือข่ายชุมชนในพื้นที่ภาคอีสานบริจาคข้าวสาร เครือข่ายองค์กรชุมชน 14 จังหวัดภาคใต้ระดมข้าวปลาอาหารแห้งมากับรถ 28 คันเรือ 28 ลำช่วยผู้ประสบภัยในกรุงเทพฯ และภาคกลางระหว่าง 9- 13 พฤศจิกายนนี้
เครือข่ายชุมชนจังหวัดสุโขทัยกำลังทำปลาย่างจากแม่น้ำยมกว่าสองตัน เพื่อช่วยเหลือพี่น้องในภาคกลาง เครือข่ายลุ่มน้ำสาละวิน ภาคเหนือ เครือข่ายคนไทยพลัดถิ่นจากภาคใต้ เครือข่ายรักษ์อ่าวไทย ที่กำลังช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่เขตบางแค เครือข่ายองค์กรชุมชนที่โคราชส่งเรือ 50 ลำช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่กรุงเทพฯ
นี่คือวัฒนธรรมในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยของ “เครือข่ายภาคประชาชน” ที่ใช้ทรัพยากร แรงงาน อาหาร เงิน และสิ่งของบริจาคจากชุมชนถึงผู้ประสบภัยโดยตรง
ไม่ใช่สงเคราะห์ แต่ “ให้อย่างและรับอย่างมีศักดิ์ศรี”
ในขณะที่หน่วยงานต่างๆจัดตั้งศูนย์พักพิงผู้ประสบภัย ซึ่งเป็นการช่วยเหลือในลักษณะสงเคราะห์ แต่ขบวนองค์กรชุมชนกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานเพื่อแก้ปัญหาภัยพิบัติในระดับพื้นที่ ที่มีเครือข่ายชุมชน ผู้ประสบภัย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นคณะทำงานร่วมกัน
บางแห่งเป็นศูนย์พักพิง และจัดระบบของบริจาค บางแห่งเป็นศูนย์ประสานระหว่างผู้เดือดร้อนกับผู้บริจาค บางแห่งที่น้ำเริ่มลดศูนย์ประสานงานฯ จะร่วมกับผู้ประสบภัยสำรวจข้อมูลและวางแผนฟื้นฟูชุมชนร่วมกัน ปัจจุบันมีกว่า 58 ศูนย์ใน 17 จังหวัด ดูแลและจัดระบบเพื่อผู้เดือดร้อนในเบื้องต้นกว่า 20,000 ครัวเรือน
เช่น ศูนย์ประสานของขบวนชุมชนและหน่วยงานระดับเขตบางเขน เป็นความร่วมมือของแกนนำชุมชนในเขตบางเขน กรมทหารราบ 11 สำนักงานเขต และ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) เพื่อจัดระบบเรื่อง ข้อมูล ของบริจาค การประสานหน่วยบริจาค และกระจายของให้ผู้ประสบภัยอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีตัวแทนชุมชนทั้ง 8 โซนร่วมจัดทำและให้ข้อมูลผู้เดือดร้อน ศูนย์ประสานงานตำบลบ้านหลวง อ.ดอนพุด จ.สระบุรี ที่จัดระบบโดยสภาองค์กรชุมชนในพื้นที่ร่วมกับภาคประชาสังคม ผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้าน
ที่ศูนย์ประสานงานวัดเขาคีรี จ.นครสวรรค์ น้ำลดแล้ว นางอร่ามศรี จันทร์สุขศรี ผู้ประสานงานระบุว่าได้วางแผนฟื้นฟูชุมชนร่วมกับผู้ประสบภัย สำรวจข้อมูลความเสียหายโดยได้สำรวจบ้านเรือนที่ต้องต้องซ่อมแซม 14 ชุมชนในเขตเทศบาลนครสวรรค์ ที่ศูนย์ประสานงานตำบลดอนยอ จ.นครนายก สภาองค์กรชุมชนกับองค์การบริหารส่วนตำบล จะเริ่มฟื้นฟูเรื่องพืชผักในครัวเรือนที่เสียหายทั้งหมด และเร่งระดมเรื่องเมล็ดพืชผักพร้อมกับการทำความสะอาดชุมชน
วางแผนฟื้นฟูหลังน้ำลด – แผนที่ป้องกันภัยพิบัติระยะยาว
ขบวนองค์กรชุมชนในระดับจังหวัดหลายแห่ง ในพื้นที่ๆน้ำเริ่มลด ได้เริ่มทำงานกับชุมชนที่ประสบภัย สำรวจข้อมูลความเดือดร้อน และเรื่องที่ชุมชนต้องฟื้นฟูเป็นการเร่งด่วน หรือมีแผนในเชิงทิศทางแล้ว ได้มีการประสานความร่วมมือกับท้องถิ่น ภาคประชาสังคม หน่วยงาน และจังหวัดเพื่อดูข้อมูลความเดือดร้อนร่วมกัน และชุมชนวางแผนการทำงานคู่กับหน่วยงาน
เช่น ขบวนชุมชนจังหวัดสิงห์บุรี อุทัยธานี จะมีข้อตกลงในความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูชุมชน ระหว่างผู้ประสบภัย ท้องถิ่นและผู้ว่าราชการจังหวัด ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ขณะที่ภาคประชาชนในหลายพื้นที่ ได้ประกาศทิศทางการวางแผนเพื่อรองรับภัยพิบัติอย่างจริงจัง เป็นการทำงานร่วมกันของเครือข่ายชุมชนในพื้นที่เสี่ยงภัย ทั้งระดับตำบล จังหวัด ภาคและภูมินิเวศน์
พื้นที่ภาคใต้ ซึ่งได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติมาหลายครั้ง ทั้งสึนามิ ดินโคลนถล่ม วาตภัย อุกทกภัย ขบวนชุมชนได้ประชุมสรุปบทเรียนทั้งระดับตำบล จังหวัด และภาค โดยประกาศแนวทางรับมือภัยพิบัติ ซึ่งให้ความสำคัญกับวางแผนป้องกันในระดับตำบล จังหวัด และลุ่มน้ำให้ทุกตำบลที่เป็นพื้นที่เสี่ยงภัย จัดทำแผนโดยเริ่มจากแผนที่ทำมือเพื่อกำหนดจุดเสี่ยงภัย จุดปลอดภัย เส้นทางอพยพ การจัดทำข้อมูลชุมชนทั้งคนและสัตว์ โดยคำนึงถึงกลุ่มเสี่ยงที่ต้องอพยพในช่วงเกิดภัยเช่น ข้อมูลเด็ก คนชรา ผู้ป่วยเรื้อรัง คนพิการ การจัดให้มีชุดอาสาสมัครระดับตำบล ระบบเครื่องมือสื่อสาร คณะทำงาน และการสื่อสารให้ประชาชนทั้งตำบลมีส่วนร่วม
ตำบลถ้ำพรรณรา อ.ถ้ำพรรณรา จ.นครศรีธรรมราช ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติน้ำท่วมและวาตภัยมาหลายครั้ง ล่าสุดเมือเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กลุ่มเครือข่ายองค์กรชุมชนในพื้นที่ร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชน ได้ทำแผนป้องกันและรับมือภัยพิบัติและเปิดศูนย์ปฏิบัติการฯของตำบลถ้ำพรรณราไปแล้ว นายสุภาพร ปราบราย ผู้ประสานงานศูนย์ปฏิบัติการฯ ระบุว่ารายละเอียดของศูนย์ฯ มีแผนที่ทำมือ มีการจัดตั้งกองทุนภัยพิบัติระดับตำบล การจัดทำคู่มือผู้ประสบภัยและสื่อสารด้วยแผ่นไวนิลติดประกาศ ณ ที่ทำการทุกหมุ่บ้าน การจัดเตรียมเครื่องมือสื่อสารมีวิทยุเตือนภัยทุกหมู่บ้านๆละ 3 เครื่อง
มีทีมอาสาสมัครของตำบลที่ผ่านการอบรม ปฐมพยาบาลได้ พายเรือได้ มีใจอาสาและระเบียบวินัยจำนวน 20 คน และที่สำคัญคือการซ้อมแผน โดยศูนย์ปฏิบัติการระดับตำบล เป็นที่ทำงานของเครือข่ายองค์กรชุมชนในพื้นที่ทั้งสภาองค์กรชุมชน องค์กรการเงินชุมชน กองทุนสวัสดิการชุมชน ซึ่งมีการประชุมกันในทุกวันที่ 9 ของเดือน และน้ำท่วมกรุงเทพฯและภาคกลางในช่วงเวลานี้ ศูนย์ปฏิบิติการตำบลถ้ำพรรณราพร้อมอาสมัคร ได้ระดม เรือ อาหาร นมเด็ก มาช่วยผู้ประสบภัยในพื้นที่กรุงเทพฯและนนทบุรีแล้วถึง 3 ครั้ง
สิ่งที่เครือข่ายองค์กรชุมชนเห็นตรงกันในภัยพิบัติครั้งประวัติศาสตร์นี้คือ ต้องทำให้ทุกครอบครัว ทุกชุมชน ทุกจังหวัดพี่งตนเองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
พอช.ประมาณการว่าประเทศไทยมีองค์กรชุมชนไม่น้อยกว่า 250,000 องค์กร ในพื้นที่ประสบอุทกภัย 30 จังหวัดนั้นมีกองทุนสวัสดิการ 1,005 กองทุน มีสภาองค์กรชุมชน 528 แห่ง และมีองค์กรชุมชนไม่น้อยกว่า 12,000 องค์กร ทุกๆฝ่ายต้องช่วยกันเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เครือข่ายองค์กรชุมชนเหล่านี้จัดการภัยพิบัติทั้งระยะเตรียมการ เผชิญหน้า ฟื้นฟูหลังประสบภัยด้วยตนเองและจัดการให้เครือข่ายที่ไม่ประสบภัยไปช่วยเหลือเครือข่ายองค์กรชุมชนอื่นๆดังตัวอย่างที่กล่าวมาแล้ว
เราจึงจะฝ่าฟันความยากลำบากของอุทกภัยในครั้งนี้ไปด้วยกันได้