นพ.เจตน์ คาดสัปดาห์หน้า กฎหมายน้ำผ่านสนช. วาระแรก
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ คาดสัปดาห์หน้า กฎหมายน้ำผ่านสนช.ขั้นรับหลักการ ยันเป็นกฎหมายแม่บทที่เสนอเพื่อแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ เป็นธรรมบนพื้นฐานของการมีส่วนร่วม
วันที่ 22 ตุลาคม นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โพสต์ข้อความในเฟชบุคส่วนตัวถึงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทรัพยากรน้ำ พ.ศ… ที่เตรียมเข้าสู่การพิจารณาของสภาในสัปดาห์หน้า หลังจากกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาก่อนรับหลักการเสร็จแล้ว เป็นกฎหมายแม่บทที่เสนอเพื่อให้การแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำดำเนินการไปอย่างเป็นระบบและเป็นธรรมบนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของประชาชน แก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ การแย่งชิงน้ำ ปัญหาภัยแล้ง ปัญหาน้ำท่วมที่มีหลายหน่วยงานรับผิดชอบ
สำหรับร่างพ.ร.บ.นี้ มีทั้งหมด 9 หมวด 100 มาตรา คือ
1.ทรัพยากรน้ำสาธารณะ ให้หมายความรวมถึงน้ำในแหล่งน้ำที่ประชาชน ใช้หรือที่สงวนไว้ให้ใช้หรือโดยสภาพประชาชน อาจใช้ประโยชน์ร่วมกัน และให้หมายความรวมถึงแม่น้ำ ลำคลอง ทางน้ำ บึง แหล่งน้ำใต้ดิน ทะเลสาป ทะเลอาณาเขต พื้นที่ชุ่มน้ำ แหล่งน้ำตามธรรมชาติอื่นๆ แหล่งน้ำที่รัฐจัดสร้างหรือพัฒนาขึ้นเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน และแหล่งน้ำระหว่างปท.ที่รัฐอาจนำมาใช้ประโยชน์ได้
2.สิทธิในน้ำ กำหนดให้น้ำเป็นของส่วนรวม บุคคลมีสิทธิใช้น้ำได้เท่าที่จำเป็นแก่ประโยชน์ในกิจกรรมหรือที่ดินของตน และสามารถกักเก็บน้าไว้ได้ แต่ต้องไม่เป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนหรือความเสียหายแก่บุคคลอื่น
3.องค์กรบริหารจัดการน้ำ กำหนดให้มีองค์กรที่เกี่ยวข้อง 3 ระดับ ได้แก่ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ คณะกรรมการลุ่มน้ำและองค์กรผู้ใช้น้ำ
4.การจัดสรรน้ำ กำหนดให้การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ การใช้เพื่อดำรงชีพ การใช้เพื่อการพาณิชย์ และการใช้ในกิจการขนาดใหญ่ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มน้ำ โดยการใช้ประเภทที่สองและที่สาม ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ได้รับอนุญาต
5.ภาวะน้ำแล้ง กำหนดมาตรการในการป้องกันและแก้ไขโดยให้มีการจัดทำแผนรองรับภาวะน้ำแล้งไว้ล่วงหน้า ทั้งแผนกรณีปรกติซึ่งสามารถคาดหมายได้หรือแผนกรณีฉุกเฉินที่มีภาวะน้ำแล้งเกิดขึ้นโดยฉับพลัน
ภาวะน้ำท่วม กำหนดมาตรการในการป้องกันและแก้ไข โดยจัดให้มีการจัดทำแผนรองรับขึ้นไว้เป็นการล่วงหน้า ทั้งแผนกรณีปรกติซึ่งสามารถคาดหมายได้ว่าจะเกิดภาวะน้ำท่วมในระยะเวลาหนึ่งเวลาใดเป็นประจำ และแผนกรณีฉุกเฉินที่มีภาวะน้ำท่วมเกิดขึ้นโดยฉับพลัน และในการจัดทำแผนจะต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับการบริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดจากน้ำท่วม และกำหนดให้คกก.ลุ่มน้ำจะต้องจัดทำระบบเตือนภัยน้ำท่วมขึ้น
6.การอนุรักษ์และการพัฒนาทรัพยากรน้ำสาธารณะ กำหนดมาตรการไว้หลายประการ เช่น การคุ้มครองแหล่งต้นน้ำลำธาร หรือการกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ที่ดินที่มีเขตติดต่อ เพื่อมิให้เกิดอันตรายหรือความเสียหายต่อทรัพยากรน้ำสาธารณะ หรือการกำหนดห้ามการก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำ เป้นต้น
7.พนักงานเจ้าหน้าที่ ให้อำนาจเข้าไปในสถานที่หรือที่ดินเพื่อตรวจตรา รวมถึงการทำลายสิ่งกีดขวางอันอาจเป็นอุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่ด้วย ซึ่งเทียบได้กับอำนาจในการตรวจตราและตรวจค้นของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ
8.สภาพบังคับทางแพ่ง กำหนดให้บุคคลที่จงใจหรือประมาทเลินเล่อกระทำโดยผิดกม. ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพยากรน้ำสาธารณะ จะต้องรับผิดทางแพ่ง แต่ถ้าก่อให้เกิดมลพิษต่อทรัพยากรน้ำสาธารณะไม่ว่าโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ก็ต้องรับผิดชอบค่าเสียหาย
9.บทกำหนดโทษทางอาญา การฝ่าฝืนการใช้น้ำโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ในกฎกระทรวง หรือการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือการบุกรุกทรัพยากรน้ำสาธารณะ มีความผิดโทษจำคุกและโทษปรับที่สูง แต่ในกรณีที่ความผิดไม่ร้ายแรงมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ให้เปรียบเทียบเฉพาะค่าปรับ
ร่างกฎหมายคงผ่านการพิจารณาขั้นรับหลักการ ส่วนในรายละเอียดยังอาจมีการแก้ไขในชั้นกมธ.และในสภาตามขั้นตอนต่อไป