นักวิชาการ มธ.เเนะร่าง รธน.ต้องถ่วงดุลอำนาจ-ปชช.เป็นศูนย์กลาง
มธ.เปิดเวทีถกแนวทาง ร่าง รธน. ฉบับใหม่ หวังเป็นส่วนหนึ่งหาทางออกประเทศ นักวิชาการเเนะต้องทำให้ ปชช.เป็นศูนย์กลาง ถ่วงดุลอำนาจ สร้างตระหนักรู้เรื่อง ปชต.
21 ตุลาคม 2558 มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ (มธ.)จัดเสวนาระดมความเห็นในหัวข้อ “รัฐธรรมนูญไทย : มองไปข้างหน้า” ณ หอประชุมศรีบูรพามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ศ. ดร. สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงผ่านทางสังคม การเมือง และการปกครองของประเทศ ขณะนี้ถือเป็นห้วงเวลาสำคัญที่เป็นรอยต่อการขับเคลื่อนประเทศชาติให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคง ทำให้ประเด็นการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก เนื่องจากรัฐธรรมนูญถือเป็นกฏหมายสูงสุดของประเทศ ดังนั้น โจทย์ใหญ่ของการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงอยู่ที่การเปิดกว้างให้ทุกฝ่ายได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะ
ด้าน รศ.ดร. ศุภวัสดิ์ ชัชวาลย์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญนับเป็นกฎเกณฑ์กติกาที่สำคัญ ในการกำหนด ความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างและสถาบันการเมืองต่าง ๆ ภายในระบบการเมือง ซึ่งการปฏิรูปจะสำเร็จได้หรือไม่ ปฏิเสธไม่ได้ว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเป็นเงื่อนไขสำคัญ
รัฐธรรมนูญที่ดีหรือเป็นที่คาดหวังสำหรับสังคมได้นั้น ควรมีเนื้อหาที่มุ่งเน้นให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยต้องมุ่งเน้นในการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน กระบวนการใช้อำนาจรัฐก็ต้องได้รับการกำกับและตรวจสอบให้เป็นการใช้อำนาจ ที่มีความเป็นธรรมเพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญยังอาจต้องมีส่วนช่วยให้การเมืองมีความโปร่งใส นักการเมืองมีคุณธรรมและจริยธรรมให้เพิ่มมากขึ้นด้วย
“กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญ ควรทำให้เกิดความสัมพันธ์และยึดโยงอยู่กับประชาชน เช่น อาจต้องมีกระบวนการับฟังความคิดเห็นและการทำประชามติ โดยเฉพาะการย้อนไปพิจารณาถึงบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับเก่า ที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยและมีความก้าวหน้า โดยนำเอาเนื้อหาเหล่านั้นมาปรับใช้ก็ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่เสียหายและสามารถกระทำได้” คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มธ. ระบุ
ขณะที่ ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ธรรมศาสตราภิชาน วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการร่างรัฐธรรมนูญว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อคนทั้งประเทศและเพื่อกำจัดเฉพาะบางกลุ่ม ซึ่งการร่างรัฐธรรมนูญของไทยในยุคแรกเริ่มเป็นไปเพื่อคนทั้งประเทศ แต่ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 แนวโน้มของเนื้อหาในรัฐธรรมนูญเป็นไปเพื่อกำจัดเฉพาะบางกลุ่ม
ส่วนเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญไทย ธรรมศาสตราภิชาน มธ. ระบุมี 2 ประการ คือ 1.กลัวอำนาจรวมศูนย์ เพราะฉะนั้นต้องกระจายอำนาจในประชาชน และ 2.กลัวคนโกงหรือพูดให้ง่ายคือกลัวฝ่ายตรงข้าม ดังนั้นโจทย์ของรัฐธรรมนูญต้องทำอย่างไรจึงจะแปลงเจตนารมณ์ออกมากให้เป็นความจริงได้ โดยให้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย และทางออกที่ดีต้องสร้างให้เกิดการถ่วงดุลอำนาจ อีกทั้ง ต้องทำให้ประชาชนมีความรู้สึกนึกคิดในประชาธิปไตยของตนเองด้วย
ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงจุดแข็งของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขต้องสมานหลักความชอบธรรมทางการเมือง3 ประการเข้าด้วยกัน คือ ความชอบธรรมเชิงประเพณีอันเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์, ความชอบธรรมทางกฎหมายและเหตุผลจากรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยเเละความชอบธรรมโดยพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
โดยหลักความชอบธรรม 3 ประการนี้ ทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากสงครามเย็น และวิกฤติอื่น ๆ มาได้ ดังนั้นการขยับหลักประชาธิปไตยออกห่างจากความชอบธรรมดังกล่าว ย่อมทำให้ระบบไม่เป็นประชาธิปไตย เกิดปัญหาเรื้อรัง และยืดเยื้อไม่จบสิ้นอย่างที่ไม่อาจหาข้อยุติจากเสียงข้างมากได้
ในส่วนของ รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก พูดถึงการมองไปข้างเพื่อรัฐธรรมนูญไทยไว้ว่า เนื้อหารัฐธรรมนูญต้องจัดให้สอดคล้องกับบริบทสังคมไทยและสามารถอยู่ร่วมได้ในเวทีโลก ถ้าเราจะบอกว่าการเลือกตั้งคือประชาธิปไตย การเลือกตั้งคือการได้มาซึ่งผู้แทนในระบบประชาธิปไตย แต่ไม่ใช่ทั้งหมด การเลือกตั้งควรมีรายละเอียดเพิ่มเติมจากนั้น เพราะฉะนั้นการจัดวางอำนาจรัฐไม่ได้จัดวางเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่จัดวางเพื่อให้ประชาชนสามารถมีตัวเเทนเข้าไปได้
"เวลาพูดถึงอำนาจรัฐมันคืออำนาจของพวกเราทุกคนนั้นคือประชาชน แต่ใช้ผ่านกลไกบ้างกลไก ที่เชื่อมโยงตรวจสอบ ถ่วงดุลกัน นั้นคือ ตุลาการ นิติบัญญัติและบริหาร" การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนั้นจะทำให้ง่ายไม่ได้ ต้องทำให้การแก้ไขยาก แต่คงไม่ใด้ยากจนแก้ไม่ได้เลย แต่ต้องกำหนดว่าเรื่องไหนแก้ไขไม่ได้เลย หากรัฐธรรมนูญออกโดยประชามติ ถ้าจะมีการแก้เพิ่มเติมต้องกลับไปสู่การทำประชามติ
ด้าน รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การร่างรัฐธรรมนูญในขณะนี้คาดจะมีหน้าตาไม่ต่างจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับไม่ผ่านสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพราะหากมองกรอบในการร่างรัฐธรรมนูญต้องเป็นไปตามมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว เช่นมาตรา 1 ระบุให้มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่เหมาะสมกับสภาพสังคมไทย
“ใครจะเป็นคนกำหนดสิ่งไหนเหมาะสมกับสภาพสังคมไทย เท่ากับประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของประเทศนั้น โดยการรับฟังเสียงข้างมาก และรับฟังเสียงข้างน้อยด้วย เพื่อนำไปตัดสินใจอย่างยุติธรรม” นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ กล่าว แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับเพิ่งโดนคว่ำไปนั้น กลับพบว่ามีลักษณะแปลกประหลาด หากเปรียบเทียบกับระบอบประชาธิปไตย
รศ.ดร.วรเจตน์ ยกตัวอย่างความแปลกประหลาดในร่างรัฐธรรมนูญฉบับก่อหน้า เช่น การกำหนดให้ สมาชิกวุฒิสภา (สว.)ไม่มาจากการเลือกตั้ง การกำหนดในนายกรัฐมนตรีมาจากคนนอกได้ เป็นต้น กรณีลักษณะนี้เชื่อว่า หลายส่วนจะยังคงอยู่ในร่างรัฐธรรมฉบับที่กำลังร่าง เพียงแต่อาจเปลี่ยนองค์ประกอบบางอย่างไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะมุ่งไปสู่ความไม่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น
สุดท้าย ผศ.ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเสริมว่า รัฐธรรมนูญควรมีเนื้อหาทำให้อำนาจถ่วงดุลกันได้ ซึ่งต้องเข้าใจว่าประชาธิปไตยไม่ใช่การปกครองของนักการเมืองที่เราเลือกเข้าไป แต่ประชาธิปไตยคือการปกครองตนเองของประชาชน โดยการปกครองตนเองได้ต้องมีการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน
โดยรัฐธรรมนูญ ปี 2540 เกิดความผิดพลาดประการหนึ่ง คือการให้อำนาจรัฐบาลมีความเข้มแข็ง ซึ่งกลายเป็นว่าเข้มแข็งมากเกินจริง จนทำให้เกิดองค์กรอิสระขึ้นมามากมายและองค์กรเหล่านี้ก็เข้าไปแทรกแซงโดยกระบวนการสรรหาของรัฐบาล ขณะที่รัฐธรรมนูญ ปี 2550 ช่วยแก้ปัญหา ในเมื่อองค์กรอิสระไม่มีความเป็นกลาง โดยให้ศาลเข้ามาเป็นกรรมการสรรหาองค์กรตรวจสอบ จนทำให้เกิดปัญหาอีกเช่นกัน
“ อำนาจตุลาการควรทำหน้าที่ของตัวเองไป และให้ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารถ่วงดุลอำนาจ ตรวจสอบซึ่งกันและกัน” รองอธิการบดีฯ มธ. กล่าว .