นักวิจัย สกว.ชี้เจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล อยุธยา เอียง เหตุดินอ่อน-อิฐเสื่อม
องค์พระเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล จ.อยุธยา เอียง 3.49 เมตร นักวิจัย สกว.หวั่นได้รับความเสียหาย จับมือกรมศิลปากร ศึกษาหาสาเหตุ ใช้เป็นข้อมูลบูรณะ ด้าน ผอ.สำนักสถาปัตยกรรม ยันโครงสร้างยังแข็งแรง ชงของบฯ หากพบความเสียหาย เสี่ยงถล่ม
วันที่ 20 ตุลาคม 2558 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดกิจกรรมสื่อสัญจรงานวิศวกรรมบูรณะโบราณสถาน วัดใหญ่ชัยมงคล และวัดไชยวัฒนาราม ณ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา นำโดย ศ.ดร.อมร พิมานมาศ ภาควิชาวิศวกรรมและเทคโนโลยีโยธา สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร ม.ธรรมศาสตร์ และ รศ.ดร.นคร ภู่วโรดม คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ในฐานะนักวิจัย รวมถึงนายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ ผอ.สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาภัยพิบัติอย่างต่อเนื่อง ทำให้สถานที่ต่าง ๆ ได้รับความเสียหาย โดยจากการสำรวจของคณะวิจัยชุดโครงการลดภัยพิบัติแผ่นดินไหวในประเทศไทย สกว. พบโบราณสถานเก่าแก่อายุหลายร้อยปีใน จ.พระนครศรีอยุธยา มีการเคลื่อนตัวขององค์เจดีย์เล็กน้อย จนอาจนำมาสู่ความเสียหายได้ หากไม่ได้รับการดูแล
โดยจุดแรก คือ การสำรวจการเอียงขององค์พระเจดีย์ วัดใหญ่ชัยมงคล เอียง 3.49 เมตร ศ.ดร.อมร พิมานมาศ กล่าวถึงสาเหตุว่า เกิดจากหลายสาเหตุรวมกัน ทั้งการทรุดตัวของชั้นดินหรือฐานอิฐที่เสื่อมสภาพ เกิดโพรง รอยแตกร้าว นอกจากนี้ปัญหาอุทกภัยก็เป็นส่วนทำให้ดินมีกำลังอ่อนลง และเร่งการทรุดตัวได้
ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นักวิจัย สกว.
ด้านหน้าองค์พระเจดีย์ วัดใหญ่ชัยมงคล
“โครงสร้างองค์พระเจดีย์แห่งนี้มีการก่อสร้างเน้นอิฐเป็นหลัก ในลักษณะสมมาตร ฐานใหญ่คล้ายปิระมิด ซึ่งเป็นโครงสร้างแข็งแรงที่สุดในสมัยนั้น แต่อิฐก็มีกำลังเพียง 1 ใน 10 ของคอนกรีต ทำให้การผสานกันไม่ดี เมื่อเวลาผ่านไป อิฐจึงเสื่อมสภาพ และยุบหรือทรุดตัวง่าย” นักวิจัย สกว. กล่าว และว่า ส่วนพื้นดินของ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นชั้นดินอ่อน รับน้ำหนักไม่ดี หากการกระจายไม่สมดุล จะส่งผลให้เทไปสู่จุดใดจุดหนึ่งได้ โชคดีที่องค์พระเจดีย์มีฐานใหญ่ ดังนั้น ไม่ถล่มลงมา แต่อาจสะสมการเอียงตัวเรื่อย ๆ
ศ.ดร.อมร กล่าวต่อว่า การป้องกันจะต้องหยุดการทรุดตัวและทำให้อิฐแข็งแรงมากขึ้น โดยใช้ปูนเกร๊าท์ (Grout) ซึ่งเป็นปูนอัดแรงดัน เข้าไปอุดช่องว่างของเนื้ออิฐ ทำให้เกิดการผสานกัน และใช้ซีเมนต์ปั่นกับดิน เพื่อทำให้ชั้นดินที่อ่อนตัวแข็งแรง แต่การดำเนินงานต้องวิเคราะห์ก่อนว่า การทรุดตัวที่เกิดขึ้นขององค์พระเจดีย์ในเเต่ละจุดเกิดจากอิฐเสื่อมสภาพหรือชั้นดิน เพื่อประหยัดการใช้งบประมาณในการบูรณะ
องค์พระเจดีย์ ด้านทิศตะวันออก วัดใหญ่ชัยมงคล ครั้งบูรณะ เมื่อปี 2522
กิตติพันธ์ พานสุวรรณ ผอ.สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร
ด้านนายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ กล่าวว่า องค์พระเจดีย์ วัดใหญ่ชัยมงคล ยังมีความมั่นคงอยู่ จึงยังไม่มีการตั้งงบประมาณเพื่อบูรณะ ยกเว้นอาจตั้งงบประมาณเพื่อตรวจสอบหรือติดตามความเคลื่อนไหวขององค์พระเจดีย์ โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญแขนงต่าง ๆ ที่มีความรู้เข้ามาช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม หากมีสิ่งบอกเหตุน่าจะก่อให้เกิดความเสียหาย ก็จำเป็นต้องบูรณะ เพื่อความมั่นคงแข็งแรงมากขึ้น
“เจดีย์จะมีความเสี่ยงได้รับความเสียหายต้องเอียงเกิน 1 ใน 3 จากจุดศูนย์กลาง จึงจะเริ่มปรับปรุงได้ แต่เราต้องดูความปลอดภัยในส่วนอื่น ๆ ประกอบด้วย แต่ปกติแล้วความเสี่ยงจะเกิดขึ้นกับเจดีย์ตั้งอยู่พื้นที่ริมน้ำหรือลาดเชิงเขามากกว่า แต่พื้นที่ราบเหมือนวัดใหญ่ชัยมงคลยังไม่พบอันตราย นอกจากกรณีฝนตกหนัก อุทกภัย” ผอ.สำนักสถาปัตยกรรม กล่าว
หลังจากนั้น ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่จุดที่ 2 วัดไชยวัฒนาราม ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อสำรวจการเคลื่อนตัวขององค์เจดีย์และพระปรางค์ พบเจดีย์บรรจุพระอัฐิเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) พระราชโอรสองค์ใหญ่ ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เกิดการสไลด์และรอยแตกของเจดีย์ชัดเจน นอกจากนี้ยังมีพระปรางค์ และฐานวัด ทรุดโทรมด้วย
เจดีย์บรรจุพระอัฐิเจ้าฟ้ากุ้ง เกิดรอยเเตก สไลด์จากด้านขวา
นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ กล่าวถึงเจดีย์บรรจุพระอัฐิเจ้าฟ้ากุ้งควรมีการบูรณะอันดับแรกของวัดไชยวัฒนาราม ว่า สามารถใช้วิธีเสียบเหล็กมุมทะแยง เพื่อหยุดการสไลด์ของเจดีย์ หรือเลือกใช้วิธีดึงกลับให้ตรงเหมือนเดิมได้ ส่วนดึงแล้วจะพังถล่มลงมาหรือไม่ เราต้องยอมเสียบางส่วนไป ดังเช่น ฐานเจดีย์ ส่วนจะเลือกใช้วิธีใดมากที่สุด ต้องมีการศึกษาวิเคราะห์ต่อไป
ด้านข้างองค์พระปรางค์วัดไชยวัฒนาราม
ขณะที่ รศ.ดร.นคร ภู่วโรดม กล่าวว่า วัดไชยวัฒนารามตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ซึ่งน้ำใต้ดินมีผลทำให้ความแข็งแรงของดินเปลี่ยนแปลงไป ดินแห้ง ดินอ่อน ดินแห้งสลับดินอ่อน ล้วนทำให้อาคารตั้งอยู่ไม่มั่นคง ซึ่งจะพบว่า ซุ้มประตูบางส่วนของพระปรางค์มีการแยกตัวออกมาจากกำแพงวัด อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาได้จ้างบริษัทเข้ามาดึงให้อยู่ที่เดิมเรื่อย ๆ แต่ปัญหาก็ยังเกิดอยู่
ในอนาคตเพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ นักวิจัย สกว. ระบุว่า ควรมีการบันทึกข้อมูล ณ ปัจจุบัน ไว้ มิฉะนั้นจะตอบคำถามอะไรในอนาคตไม่ได้ แต่ปัญหา คือ กรมศิลปากรมีบุคลากรน้อย และรับผิดชอบพื้นที่กว้าง ทำให้การดำเนินงานติดขัด จึงต้องใช้งบประมาณจ้างบริษัทภายนอกแทน ส่งผลให้มีงบประมาณสูง และขาดความต่อเนื่องในการศึกษา ดังนั้น ต้องหาวิธีการให้กรมศิลปากรทำเองได้ ภายใต้เทคนิค และงบประมาณไม่สูง หรือร่วมมือกับนักวิชาการที่มีความรู้ เป็นต้น .
ซุ้มประตูบางส่วนของพระปรางค์เเยกออกจากกำเเพงวัด ซึ่งปัจจุบันได้รับการบูรณะบางส่วนเเล้ว