ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กับภารกิจสานต่องานปฏิรูป เน้นลดเหลื่อมล้ำ ปฏิรูปโครงสร้าง-คลัง
กอบศักดิ์ ตั้งเป้า สานต่อปฏิรูป ลดเหลื่อมล้ำ- วางโครงสร้างกลไกต่อเนื่อง – ระบุโชคดีมีต้นทุนเดิมจากการวางกรอบของสปช. ย้ำสปท.ต้องเลือกเรื่องหลักขึ้นมาดำเนินการ โดยศึกษาจากบทเรียนครั้งที่แล้ว
แม้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปจะสะดุดไปหลังสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงมติไม่เห็นชอบ จนต้องกลับมาตั้งต้นเดินหน้ากันใหม่อีกรอบ หากพิจารณาในรายละเอียดจะเห็นว่าหลายสิ่งที่ทั้ง สปช. และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้สังเคราะห์จนตกผลึกเอาไว้แล้วนั้น ล้วนแต่เป็นสิ่งดีๆ ที่ไม่ควรปล่อยให้สูญเปล่า
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวถึงการกลับมาทำงานเพื่อจะสานต่อภารกิจปฏิรูปที่ได้เริ่มต้นไว้แล้วให้สำเร็จลุล่วงให้ได้
ดร.กอบศักดิ์ มองว่า นี่เป็นโอกาสดีของ สปท. ที่ไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ เพราะ สปช.ได้วางกรอบสำคัญสำหรับการปฏิรูปไว้หลายเรื่องแล้ว โดยที่ผ่านมา สปช. ได้ใช้เวลาคิดวิสัยทัศน์หลายอย่าง คิดวาระปฏิรูป วาระพัฒนา ครั้งนี้เราจึงเห็นว่า วิสัยทัศน์จะไปในทิศทางใด เรามีต้นทุนแล้ว
สำหรับรัฐธรรมนูญที่ได้ร่างมาแล้ว เขาเห็นว่า มีมาตราต่างๆ ที่สำคัญ ทั้งเรื่องการปฏิรูป และเศรษฐกิจ ล้วนแต่เป็นต้นทุนที่มีอยู่ในเวลานี้
ดร.กอบศักดิ์ กล่าวถึงเรื่องสำคัญที่ต้องทำ 3 เรื่องหลักๆ ได้แก่ 1. เรื่องความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่ได้รับความสนใจอย่างเต็มที่ในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมา ซึ่งจะต้องหาทางแก้ไข โดยรอบที่แล้วเรามีคำตอบพอสมควรทั้งแผนปฏิรูปและตัวรัฐธรรมนูญ กฎหมายต่างๆ ที่เราเตรียมไว้ ว่าทำอย่างไรถึงจะลดความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยได้
2. ทำกลไกโครงสร้างให้เกิดการปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง อย่างในภาคธุรกิจจะมีหน่วยงานที่ เรียกว่า change management unit ทำหน้าที่ดูแลการจัดการการเปลี่ยนแปลงขององค์กร ซึ่งในเมืองไทยเรามีความก้าวหน้าของการปฏิรูปที่ช้าเกินไป จนกระทั่งเมื่อเทียบกับคู่แข่งหรือประเทศเพื่อนบ้านแล้ว เขาเปลี่ยนแปลงเร็วกว่ามาก หากไม่มีองค์กรนี้ ใครคิดอะไรได้ก็ทำ การขับเคลื่อนก็ไม่มีแรง ไม่มีพลัง หากมีองค์กรนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้
“นี่คือหัวใจที่จะทำอย่างไรให้เกิดการปฏิรูป เรื่องของการเปลี่ยนแปลงในประเทศให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ครั้งที่แล้วเราเสนอเป็นคณะกรรรมการเพื่อการปฏิรูป เพราะหากอยู่ในภาครัฐ จะมองแค่ระยะสั้น ไม่สนใจระยะยาว หรือหากไปฝากให้รัฐบาลดูแล สุดท้ายก็จะไม่เกิดอะไรขึ้นมา ดังนั้น ต้องเป็นหน่วยงานแยกออกมาจากภาครัฐ เป็นอิสระ ขับเคลื่อนนโยบายตามกรอบการปฏิรูปที่ตั้งใจ แต่ว่าต้องประสานกับภาครัฐ และทำงานใกล้ชิดกับประชาชน”
สำหรับเรื่องที่ 3 ที่จะต้องทำ สมาชิกสปท.กล่าวว่า คือเรื่องการคลัง โดยช่วงที่ผ่านมามีช่องโหว่มาก เห็นชัดว่าเรามีเงินน้อยลงเรื่อยๆ กับภารกิจที่ต้องทำ ดังนั้น จึงต้องใช้จ่ายเงินงบประมาณกับโครงการที่เหมาะสม มีความสูญเสียน้อยที่สุดเท่าที่ทำได้ ตรงนี้เป็นเรื่องที่ต้องหารือกันพอสมควร ที่ผ่านมาในร่างรัฐธรรมนูญ มีข้อเสนอดีๆ ทั้งเรื่อง ภาษี ที่จะมาช่วยเรื่องงบประมาณประเทศไทย ซึ่งทั้งสามเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องเดินไปข้างหน้า
ส่วนกระบวนการรับไม้ต่อของ สปท. นั้น ดร.กอบศักดิ์ กล่าวด้วยว่า การทำงานกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ต้องคิดว่ามีหลายเรื่องที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นคำที่เขียนสวยๆ อาทิ ต้องมีการกระจายที่ดินอย่างเป็นธรรม แต่ว่าหมายความว่ายังไง ตรงนี้ยังไม่ชัด หรืออยากมีธนาคารแรงงาน ซึ่งหน้าที่สภาขับเคลื่อน หรือรัฐบาล คือ ทำเรื่องเหล่านี้ให้เห็นผล ธนาคารแรงงานต้องมี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ มีรายละเอียดที่จะนำไปสู่การเป็นธนาคารแรงงานอย่างแท้จริง เพราะชื่อเดียวกันแต่เขียนคนละอย่างก็กลายเป็นคนละเรื่อง
“รัฐธรรมนูญไม่ลงมาถึงจุดนี้ รัฐธรรมนูญครั้งนี้ยิ่งจะทำน้อยกว่าครั้งที่แล้วที่ตั้งใจไว้ คือ ทำตัวรัฐธรรมนูญเป็นหลัก แต่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ไม่มีใครทำ ต้องเตรียมการที่จะทำให้เกิดกฎหมายเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ การคลัง การปฏิรูป อาจจะเป็นคนทำรายละเอียดให้มากขึ้น และทำให้เกิดผลที่แท้จริง เพื่อจะไปสอดรับกับรัฐธรรมนูญที่กำลังจะเขียน”
ดร.กอบศักดิ์ กล่าวว่า รอบนี้รู้อยู่แล้วว่ารัฐธรรมนูญจะเขียนอะไร จากโจทย์เดิม คำตอบเดิม รู้ว่าคำตอบที่เขาจะเขียนต้องมีการลดความเหลื่อมล้ำ การกระจายที่ดินอย่างเป็นธรรม ต่างจากครั้งที่แล้วที่ยังลอยๆ ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น จึงเขียนไปก่อน แต่ครั้งนี้เริ่มรู้แล้วว่าคำตอบของปัญหาเมืองไทยเป็นอย่างไร ครั้งนี้หน้าตาก็คงไม่ต่างกัน ก็เอาแนวความคิดหลักๆ เรื่องกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญไปก่อน อาทิ ธนาคารแรงงาน ธนาคารที่ดิน สิทธิชุมชน แม้เรื่องเศรษฐกิจในรัฐธรรมนูญจะมีไม่กี่มาตรา แต่ก็จำเป็นต้องต่อสู้พ.ร.บ.ต่างๆให้เกิดขึ้นให้ได้ โดยเฉพาะเรื่องการคลัง
“สปท.ต้องเลือกว่าจะทำอะไรบ้าง เพราะได้บทเรียนจากครั้งที่แล้วพอสมควรว่า ไม่อาจทำได้ทุกเรื่อง ดังนั้น ต้องมีเรื่องหลัก 4-5 เรื่อง เช่น ความเลื่อมล้ำ ทุจริตคอรัปชั่น การศึกษา ตำรวจ โครงสร้างราชการ แต่ละคนก็มี 4-5 เรื่องหลักแตกต่างกัน ก็ต้องมาคุยกันว่าเรื่องใดเป็นเรื่องหลัก หากบริหารจัดการเหมือนเดิมเวลาอาจไม่พอ ต้องเอาสิ่งที่เรียนรู้จากครั้งที่แล้วมาปรับ เช่น โครงสร้างการทำงาน ต้องประชุมน้อยลงและทุ่มเทเวลาให้กับการลงไปทำงานให้เต็มที่”