น้ำท่วม-ไฟใต้...หนึ่งประเทศ ไร้ระบบ
ผมต้องขออภัยที่หายตัวไปจากคอลัมน์นี้ 1 สัปดาห์เนื่องจากติดปัญหาน้ำท่วม ผมต้องอพยพคุณพ่อคุณแม่ซึ่งมีบ้านอยู่ในพื้นที่รับน้ำเขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร (ตอนหลังกลายเป็นพื้นที่รับม็อบด้วย) หลังจากมวลน้ำบุกเข้าประชิดกำแพงบ้าน และรุกคืบเข้าไปถึงตัวบ้านจน "เอาไม่อยู่" ไม่อาจอาศัยอยู่ต่อไปได้...ไม่ใช่เพราะน้ำสูง แต่เป็นเพราะน้ำเน่า
นานกว่า 1 เดือนเต็มแล้วนับจากวันที่รัฐบาลเริ่มตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ที่ข่าวคราวในสื่อทุกแขนงอัดแน่นไปด้วยข่าวน้ำท่วม แทบไม่มีพื้นที่เหลือให้กับข่าวอื่นๆ เลย ทั้งๆ ที่น้ำท่วมหนักรอบหลังนี้ครอบคลุมพื้นที่ไม่ถึงครึ่งประเทศ หนำซ้ำกระแสข่าวยังพุ่งความสนใจไปที่น้ำท่วมกรุงเทพฯมากกว่าจังหวัดอื่นๆ อีกต่างหาก
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทุกคนจะพากันสนใจกรุงเทพฯ เพราะเป็นเมืองหลวงของประเทศ เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการบริหารราชการทั้งระบบ แต่การที่สื่อใช้เวลาและหน้ากระดาษเกือบทั้งหมดไปกับข่าวน้ำท่วม กลายเป็นการสะท้อนภาพการ "รวมศูนย์อำนาจและทรัพยากร" ทุกอย่างของประเทศนี้ไว้ที่ส่วนกลางอย่างชัดแจ้ง เพราะข่าวอื่นๆ หรือเรื่องราวชีวิตอื่นๆ ในพื้นที่อื่นๆ ดูจะถูกลดทอนความสำคัญลงอย่างจงใจ
ที่น่าตกใจก็คือ "มวลข่าวสาร" (นึกภาพเทียบกับมวลน้ำ) ก้อนใหญ่ที่มีแต่เรื่องน้ำท่วมนั้น ส่วนใหญ่เป็นการรายงานถึงปัญหาความไม่เอาไหนของภาครัฐในการบริหารจัดการน้ำและคลี่คลายสถานการณ์วิกฤติ ตลอดจนความล้มเหลวในการช่วยเหลือดูแลประชาชน
ข่าวใหญ่ในแต่ละวันเมื่อพิจารณาในภาพรวมจะพบว่าสะเปะสะปะไร้ทิศทาง สะท้อนความจริงที่ว่ารัฐบาลและหน่วยงานใต้บังคับบัญชาไม่ได้มี "ทิศทาง" ในการลดปริมาณน้ำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนได้อย่างชัดเจนเลย
นี่พูดแค่ "ทิศทาง" เท่านั้น อย่าไปพูดถึง "แผนงาน" หรือ "แผนปฏิบัติ" ให้เสียเวลา เพราะชัดเจนว่าแก้ปัญหากันแบบวันต่อวัน เวลาที่เหลือก็เอาไปคิดหาวาทกรรมเพื่อโยนบาปศัตรูทางการเมือง
ผู้คนจำนวนมากต้องมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความตื่นผวา หวาดกลัว แห่ไปซื้อของกักตุน ขณะที่สินค้าก็สบโอกาสขึ้นราคา สะท้อนความล้มเหลวด้านการ "สื่อสารในภาวะวิกฤติ" ของผู้กุมอำนาจรัฐ เพราะปล่อยให้ชาวบ้านร้านตลาดกวาดซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคจนเกลี้ยงชั้นวางของตั้งแต่ห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่จนถึงร้านขายของชำหน้าหมู่บ้าน
ผู้คนจำนวนไม่น้อยตั้งคำถามถึง "ภาวะผู้นำ" ของคนที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่ามีความสามารถเพียงใดในการนำพาประเทศให้ก้าวพ้นวิกฤติ นี่ยังไม่นับเงื่อนงำการทุจริตแม้กระทั่ง "ของบริจาค" ที่ประชาชนเสียสละทุนทรัพย์ช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติ แต่กลับถูกนักการเมืองเบียดบังเอาไปใช้เพื่อผลประโยชน์ส่วนตน
ขณะที่บรรดานักการเมืองที่มีอยู่เกลื่อนกล่นก็ทะเลาะ แย่งซีน สาดโคลนกันรายวัน หามุมสร้างสรรค์แทบไม่ได้ ทิ้งผู้ประสบภัยส่วนใหญ่ให้ต้องช่วยเหลือตัวเอง ด้านเครดิตความเชื่อมั่นก็ดิ่งลงเหว เพราะแม้แต่ที่ตั้งของ ศปภ.ยังโดนน้ำท่วม แล้วชาวบ้านจะไปเหลืออะไร
ในแง่สังคมนั้นเล่า ก็มีแต่ข่าวความขัดแย้งที่นั่นที่นี่ ผู้มีอิทธิพลซึ่งบางคนอยู่ในคราบผู้แทนราษฎรพาพวกไปพังพนังกั้นน้ำ ทั้งๆ ที่พรรคการเมืองต้นสังกัดของตนเองก็ยังนั่งหัวโด่เป็นรัฐบาล การประสานงานระหว่างรัฐบาลกลางกับผู้บริหารท้องถิ่นทุกระดับล้มเหลวสิ้นเชิง ทุกพื้นที่คิดแค่ขอให้ตัวเองไม่ท่วมเป็นพอ ส่วนที่อื่นท่วมช่างหัวมัน หลายพื้นที่เกิดเหตุไล่ยิงไล่ฟันเจ้าหน้าที่กรมชลประทานหรือพนักงานของกรุงเทพมหานครที่เข้าไปจัดการมวลน้ำซึ่งแน่นอนว่าต้องกระทบกับบางกลุ่ม บางชุมชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ข่าวผู้คนเห็นแก่ตัว แย่งชิง ผลักภาระ ไปจนถึงปัดสวะ มีมากพอๆ กับข่าวคนที่มีจิตสาธารณะลงแรงทำเพื่อคนอื่น...
นี่คือความเหลวแหลกเละเทะทุกระบบของประเทศไทยที่พิสูจน์ทราบกันได้ในยามที่วิกฤติมาเยือน
จากปัญหาน้ำท่วมซึ่งเป็นปัญหาระดับชาติ ลองมองย่อส่วนลงมาถึงปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้กันบ้าง ซึ่งแม้จะเป็นวาระแห่งชาติเหมือนกัน แต่วงของปัญหาก็ยังจำกัดอยู่เฉพาะพื้นที่
ทว่าเกือบ 8 ปีที่ผ่านมา หมดงบประมาณที่เป็นภาษีอากรชาวบ้านไปเกือบ 1 แสน 5 หมื่นล้าน วันนี้หน่วยงานราชการยังนั่งคิดเรื่อง "บูรณาการ" กันไม่จบ และยังไม่สามารถสรุปสมมติฐานได้ว่า "กลุ่มก่อความไม่สงบ" คือใครกันแน่ มีผู้ใดเป็นแกนนำ คนไหนเป็นหัวหน้า และฝ่ายไหนเป็นแหล่งทุนสนับสนุน
หน่วยงานความมั่นคงไม่เคยมี "แผนงาน" มาแสดงต่อสาธารณะให้ได้อุ่นใจว่าอีกกี่ปีภาคใต้ถึงจะสงบ และภาพของจังหวัดชายแดนภาคใต้ในตอนจบจะเป็นอย่างไร คือ จบลงที่โต๊ะเจรจาแบบ "วิน-วิน" ทุกฝ่าย หรือจะกลายเป็นเขตปกครองพิเศษภายใต้รัฐไทย หรือไม่ได้ปรับเปลี่ยนอะไรนอกจากยกเครื่องเรื่อง "ความเป็นธรรม" ทุกคนก็พอใจแล้ว ฯลฯ
ขณะที่อีกด้านหนึ่งเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองกว่า 6 หมื่นนาย รวมทั้งกองกำลังภาคประชาชน อาสาสมัครรวมแล้วนับแสนนายยังแทบป้องกันตัวเองไม่ได้ ถูกยิง ถูกฆ่า ถูกระเบิดไม่เว้นแต่ละวัน แล้วชาวบ้านจะดำเนินชีวิตปกติสุขได้อย่างไรกัน เพราะความเชื่อมั่นหดหายไม่มีเหลือ
เกือบ 8 ปีที่ผ่านมาแทบไม่เคยมีข่าวอื่นใดจากชายแดนใต้นอกจากเหตุร้ายรายวัน ส่วนความคืบหน้างานด้านอื่นๆ ของรัฐนอกจากการสับเปลี่ยนกำลังทหารลงไปยืนเฝ้าฐาน ถนน โรงเรียนยังแทบไม่เคยได้เห็น ไม่ว่าจะเป็นการชำระประวัติศาสตร์ร่วมกับท้องถิ่นเพื่อปลดล็อคความเชื่อผิดๆ หรือการสร้างหลักสูตรที่สอดรับกับอัตลักษณ์และวัฒนธรรม หรือแม้แต่ยกระดับการใช้ภาษามลายูถิ่นให้กลายเป็น "โอกาส" ในการที่ประเทศไทยกำลังก้าวสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งมีหลายประเทศใช้ภาษามลายู
ท่ามกลางเสียงปืน เสียงระเบิด และผู้คนล้มตาย ก็ยังมีพวกกระหายหาผลประโยชน์ ทั้งจากเม็ดเงินงบประมาณ และเงินจากองค์กรต่างประเทศ ขณะที่กลไกตรวจสอบนอกภาคราชการต่างง่อยเปลี้ยเสียขา ถูกตั้งคำถามถึงความโปร่งใสเสียเอง บ้างก็มุ่ง "กินรวบ" เพื่อผลักดันวาระของตนเองโดยไม่ได้สนใจว่าภาพรวมของปัญหาจะเป็นเช่นไร ต่างฝ่ายต่างอ้างว่าเป็นเสียงของประชาชนด้วยกันทั้งนั้น
หลายคนไม่อยากเชื่อว่าประเทศไทยจะเป็นไปได้ถึงเพียงนี้ แค่เจอปัญหาน้ำท่วมในช่วงปลายฝนต้นหนาว ประเทศก็แทบจะล่มสลาย ผมอยากบอกว่าไม่แปลกอะไรหรอกหากลองมองย้อนกลับไปดูปัญหาภาคใต้ที่แก้กันมาเกือบ 10 ปีก็ยังพายเรือวนในอ่าง สรรหาตัวย่อชื่อคณะกรรมการกันยังไม่เสร็จ
น้ำท่วมยังแห้งไม่หมด แต่สัปดาห์นี้สภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 โดยรัฐบาลตั้งงบกลางสำหรับฟื้นฟูหลังน้ำท่วมเอาไว้ถึง 1.2 แสนล้านบาท งบยุทธศาสตร์ป้องกันอุทกภัยอีก 4.5 หมื่นล้านบาท ส่วนงบดับไฟใต้เฉพาะของ กอ.รมน.6.1 พันล้านบาท กองทัพบกกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หน่วยละ 1.5 พันล้านบาท ขณะที่ ศอ.บต.อีก 1.4 พันล้านบาท เมื่องบผ่านก็ได้เวลาใช้จ่าย โดยไม่เห็นมีการประเมินว่าที่ผ่านมาสร้างผลงานอะไรไว้ ประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด ประชาชนดูเหมือนไม่มีทางเลือกหรือส่วนร่วมอะไร นอกจากหย่อนบัตรเลือกตั้งแล้วก็นั่งดู
เขียนมาถึงตรงนี้ทำให้นึกถึงคำพูดของ พล.อ.ไวพจน์ ศรีนวล อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม และอดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ที่เคยให้สัมภาษณ์ "ศูนย์ข่าวอิศรา" เอาไว้ว่า รัฐบาลหรือแม้แต่กองทัพไม่สามารถแก้ปัญหาใหญ่ๆ ของประเทศได้สักปัญหามาเนิ่นนานแล้ว...
นี่คือวิกฤติของจริงที่กำลังซ้อนวิกฤติของประเทศ ทั้งน้ำท่วมและไฟใต้
ประเทศไทย ณ วันนี้คือหนึ่งประเทศที่กำลังเผชิญกับหลายปัญหา แต่ไร้ระบบที่จะเดินหน้า จัดการ และแก้ไข ได้แต่ยืนดูความล่มสลายของตัวเองไปวันต่อวัน!
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เจ้าหน้าที่ทหารตั้งด่านรักษาความปลอดภัยในวันเปิดภาคเรียนที่ชายแดนใต้ (ภาพโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์)