อดีตสปช.หนุนตั้งศาลสิ่งแวดล้อมหวังพิจารณาคดีเร็วขึ้น
ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศชี้ความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสาธารณะ หวังผลักดันจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมสร้างกระบวนการยุติธรรมให้ชาวบ้าน ด้านรสนา โตสิตระกูล ระบุ พิจารณาศาลไหนก็ขอให้รวดเร็วและเป็นธรรม
เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2558 ศาลปกครองร่วมกับมูลนิธิคอนราด อาเนาวร์ฯ จัดโครงการสัมมนาทางวิชาการ ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบจากการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย โดยในช่วงบ่ายเป็นการอภิปรายในหัวข้อ “มุมมองขององค์กรภาคเอกชนต่อการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อม” ณ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชัน เซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กทม.
นางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า ที่ผ่านมาการฟ้องร้องคดีสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยไม่มีการพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม จนกระทั่งต่อมามีศาลปกครองเป็นที่พึ่ง ดังนั้นจึงเป็นความหวังอย่างมากสำหรับคนที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมที่อยากจะเห็นการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมและผลักดันร่างพระราชบัญญัติการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมขึ้นมา การจะพัฒนาประเทศได้นั้นจะก้าวต่อไปไม่ได้หากยังไม่สามารถที่จะจัดการวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในประเทศได้ อย่างไรก็ตามการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมจะเป็นเพียงกลไกอย่างหนึ่งที่จะนำมาซึ่งความยุติธรรมให้กับประชาชน ส่วนจะออกมารูปแบบไหนกระบวนการภายในเป็นอย่างไรจะต้องมาพูดคุยกันในรายละเอียดให้ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง
ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า ความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมเป็นความเสียหายของสาธารณะ ดังนั้นการจะมีหรือไม่มีศาลสิ่งแวดล้อม ด้านผู้บังคับใช้กฎหมายจะต้องมีการให้ความรู้เรื่องการตัดสินคดีให้ประชาชนเข้าใจและต้องหาวิธีการว่าทำอย่างไรชาวบ้านจะเข้าใจขั้นตอนการใช้สิทธิ และวิธีการพิจารณาคดีด้วย รวมไปถึงการเข้าถึงข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมหรือมลพิษ ทุกภาคส่วนต้องมีการปรับไม่ใช่เพียงแค่ผู้ที่อยู่ในระบบยุติธรรมเท่านั้น
ด้านนางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า ปัญหาที่ก่อให้เกิดคดีสิ่งแวดล้อม ต้นสายปลายเหตุต้องเริ่มแก้ที่ฝ่ายบริหาร เพราะหากต้องมาจัดการที่ศาลนั่นเป็นการจัดการที่ปลายเหตุ ในการจะพิจารณาคดีนั้นไม่ได้สนใจว่าการพิจารณาควรจะอยู่ที่ศาลใด แต่สนใจว่าเมื่อเป็นคดีฟ้องร้องแล้วมีการตัดสินและให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้านมากน้อยแค่ไหน
“คดีสิ่งแวดล้อมผู้ที่ได้รับผลกระทบล้วนเป็นคนยากจน การจะให้ชาวบ้านหาหลักฐานพิสูจน์ความถูกต้องของตัวเองบางครั้งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เงิน เช่น การจะพิสูจน์ว่าน้ำมันมีผลต่อต้นยางพาราอย่างไร ต้องมีการวิเคราะห์ใช้ระบบวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย ชาวบ้านเขาทำไม่ได้”
นางสาวรสนา กล่าวด้วยว่า ดังนั้นการพิจารณาคดีที่ผ่านๆมาที่ใช้ระบบการกล่าวหา ควรจะเปลี่ยนมาเป็นระบบไต่สวนแทน เพื่อให้ศาลหาหลักฐานพิสูจน์แทนผู้ร้อง อย่างไรก็ตามการจะมีศาลสิ่งแวดล้อมหรือไม่อาจไม่ใช่ประเด็นหลัก แต่หากคิดว่าจะมีแล้วต้องตอบให้ได้ว่ากระบวนการพิจารณาจะใช้ระยะเร็วขึ้นหรือไม่ ตรงนี้ต้องตอบให้ได้