ครม.ไฟเขียวมาตรการช่วยแรงงานน้ำท่วม 661 ลบ. กว่า 8 แสนคน 32 จว.
ครม.ไฟเขียว 2 มาตรการช่วยแรงงานชะลอเลิกจ้าง-จ่าย 2 พันบาทให้ 3 เดือน'เผดิมชัย' เผยแรงงานกว่า 8 แสนรับผลกระทบน้ำท่วม ปทุมฯอ่วมสุด 4 แสนคน เตรียมให้ผู้ประกันตนกู้เงินได้ไม่เกิน 50,000 บาท ซ่อมบ้าน เล็งลดเงินสมทบ 1-2 เปอร์เซ็นต์ช่วยนายจ้าง
วันที่ 8 พ.ย.54 นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ 2 มาตรการประกอบด้วย 1.มาตรการรักษาสภาพการจ้างงานของผู้ประกอบการโดยช่วยจ่ายค่าจ้างแทนนายจ้าง 2,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน งบประมาณกว่า 600 ล้านบาท โดยนำร่องแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมประมาณ 1 แสนคน ทั้งนี้มีเงื่อนไขให้นายจ้างจะต้องทำเอ็มโอยูที่จะไม่เลิกจ้างลูกจ้างเป็นเวลา 3 เดือนและต้องจ่ายค่าจ้างไม่น้อยกว่า 75% ของค่าจ้างเดิม
2. มาตรการฝึกอบรมลูกจ้างที่หยุดงานชั่วคราว งบประมาณไว้ 61 ล้านบาทและตั้งเป้าหมายอบรมแรงงาน 1.5 หมื่นคน โดยแรงงานที่เข้าอบรมจะได้รับเบี้ยเลี้ยงวันละ 120 บาทเป็นเวลา 10 วัน ซึ่งการอบรมเน้นการพัฒนาทักษะการทำงานและอุปนิสัยอุตสาหกรรม 9 พฤติกรรม เช่น ความรับผิดชอบ ความปลอดภัย การทำงานที่มีคุณภาพ ลดการสูญเสียชิ้นงาน
รมว.แรงงาน กล่าวว่าทั้งสองมาตรการนี้จะเริ่มดำเนินการทันทีในเดือน พ.ย. และเปิดให้ผู้ประกอบการและแรงงานยื่นความประสงค์เข้าร่วมได้ตั้งแต่บัดนี้
นายเผดิมชัย ยังเปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำท่วมที่กระทบต่อผู้ใช้แรงงานล่าสุดว่านับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.จนถึงขณะนี้พบว่า สถานประกอบการทั่วประเทศได้รับผลกระทบแล้ว 21,257 แห่งใน 32 จังหวัด มีผลกระทบต่อลูกจ้างหรือผู้ใช้แรงงาน 834,995 คน ซึ่งพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ จ.ปทุมธานี ที่มีสถานประกอบการ 10,982 แห่ง และลูกจ้าง 406,940 คนที่ได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะที่นิคมอุตสาหกรรมนวนครมีลูกจ้าง 270,000 คน จาก 277 โรงงาน
ทั้งนี้กระทรวงได้มีออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาลูกจ้าง เช่น ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ได้ขอความร่วมมือสถานประกอบกิจการร่วมรับผิดชอบในการดูแลลูกจ้าง ซึ่งมีสถานประกอบการจำนวนมากพร้อมจ่ายค่าจ้างทั้งในอัตราเต็มจำนวนหรือ 75 เปอร์เซ็นต์ และได้ขอความร่วมมือในการผ่อนปรนให้ลูกจ้างมาทำงานสาย หยุดงานโดยไม่ถือเป็นวันลา ทั้งยังให้คำปรึกษากฎหมายแรงงานแก่ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดกิจการ ซึ่งได้พยายามผลักดันมาตรการทั้งหมดให้มีการปฏิบัติในทุกพื้นที่ ล่าสุดมีสถานประกอบการให้ความร่วมมือ 20,901 แห่ง มีลูกจ้างได้รับการดูแล 827,618 คน
ส่วนกรณีที่มีความเป็นห่วงว่า ในขณะที่สถานการณ์กำลังคลี่คลายหรือกลับคืนสู่ภาวะปกติ จะมีปัญหาการว่างงานตามมา นายเผดิมชัย กล่าวว่าที่ผ่านมาได้กำชับเจ้าหน้าที่ออกหน่วยเคลื่อนที่ให้บริการรับขึ้นทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน จัดหาตำแหน่งงานว่างรองรับ รวมไปถึงการรับลงทะเบียนเคลื่อนย้ายแรงงาน รวมทั้งประสานงานให้มีการยืมตัวลูกจ้างจากบริษัทที่มีความพร้อมในการรับลูกจ้างตามโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน ซึ่งขณะนี้มีสถานประกอบการเสนอตัวเข้าร่วมโครงการแล้ว 465 แห่ง มีตำแหน่งงานรองรับกว่า 57,692 อัตรา
ขณะที่กรณีการถูกเลิกจ้างหรือมีแนวโน้มในการเลิกจ้างนั้น กระทรวงได้เตรียมความพร้อมจัดเตรียมตำแหน่งงานว่างไว้รองรับทั่วประเทศ 126,638 อัตรา ซึ่งจะมีการเข้าไปเจรจากับสถานประกอบการโดยตรงเพื่อรองรับสถานการณ์การเลิกจ้าง นอกจากนี้ยังมีตำแหน่งงานในต่างประเทศ อาทิ ประเทศอิสราเอล มีตำแหน่งคนงานภาคเกษตร 5,000 อัตรา
“เรายังมีกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ที่ตั้งวงเงินในปีงบประมาณ 55 ไว้ 259 ล้านบาท เตรียมพร้อมรองรับหากถูกเลิกจ้าง โดยจะจ่ายเงินชดเชยบางส่วนแทนนายจ้างที่ไม่สามารถจ่ายได้ไปแทนก่อน เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า” นายเผดิมชัย กล่าว
นายเผดิมชัย กล่าวอีกว่า หลังน้ำลดที่ผู้ใช้แรงงานจำเป็นในการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ได้สั่งการให้เปิดโครงการประกันสังคมเคียงข้างผู้ประกันตนต้านอุทกภัย ที่เปิดให้ผู้ประกันตนกู้เงินรายละไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 2.5 เปอร์เซ็นต์ต่อปีคงที่ 2 ปี ให้แก่ผู้ที่จำเป็นในการซ่อมแซมบ้าน ส่วนผู้ประกอบการที่ต้องการฟื้นฟูกิจการก็ได้กำหนดวงเงินกู้ไม่เกินรายละ1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 3 เปอร์เซ็นต์ คงที่ 3 ปี รวมทั้งยังได้เตรียมเสนอมาตรการลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในอัตรา 1-2 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้าง ซึ่งกำลังส่งเรื่องเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการประกันสังคม เพื่อเป็นมาตรการชั่วคราว 1 - 2 ปี
ทั้งนี้กระทรวงแรงงานได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยผู้ประสบอุทกภัย กระทรวงแรงงาน ณ ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน เพื่อเป็นศูนย์การการรวบรวมข้อมูลและการให้ความช่วยเหลือประชาชน นายจ้าง และลูกจ้าง สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่โทร. 0-2248-2222 หรือสอบถามด้านข้อมูลสิทธิแรงงาน และการบริการของกระทรวงแรงงาน ได้ที่ศูนย์ประสานเพื่อนผู้ใช้แรงงานที่ประสบอุทกภัย โทร.0-2567-5101-2 ต่อ 14-16 หรือที่สายด่วน 1506 .
ที่มาภาพ : http://news.thaipbs.or.th/content/รัฐบาลเตรียมประชุมประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจ