วิกฤติภัยแล้งใกล้เข้ามา ดร. เสรี ศุภราทิตย์ ชี้ 6 เดือนไม่มีน้ำใช้!
นักวิชาการม.รังสิต เปิดตัวเลขน้ำต้นทุนเขื่อนหลัก พบเหลือน้อย 6 เดือนข้างหน้าขึ้นอยู่กับโชคชะตาฟ้าลิขิต เสี่ยงเกิดการแย่งชิงน้ำ จี้รัฐเร่งทำแบบไต้หวัน ประกาศกฎหมายการปันส่วนน้ำ บังคับผู้ใช้น้ำรายใหญ่ ผู้ใช้น้ำรายย่อย สร้างความตระหนักรู้
วันที่ 19 ตุลาคม ศาลปกครอง ร่วมกับมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ฯ จัดโครงการสัมมนาทางวิชาการ ในหัวข้อ “ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบจากการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย” ณ ห้องวายุภักษ์ 4 ชั้น 4 ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ถนนแจ้งวัฒนะ เพื่อหาแนวทางบรรเทาปัญหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจส่งผลกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน ในทางกระบวนการยุติธรรม นายชาญชัย แสวงศักดิ์ รองเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง และ Mr. Michael Winzer ผู้แทนมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ฯ กล่าวเปิดงาน
จากนั้น รศ.ดร. เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวตอนหนึ่งถึงภาวะโลกร้อน ภัยแล้ง และการแปรปรวนของสภาพอากาศ โดยเฉพาะวิกฤตภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ว่า ปัจจุบันยังไม่มีการจัดสรรน้ำที่เป็นเป็นธรรม แม้จะมีมาตรการห้ามใช้น้ำเพื่อการเกษตรกรรม แต่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็กลับไปกลับมา
รศ.ดร. เสรี กล่าวถึงความไม่แน่นอนของปริมาณฝน ประกอบกับอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ทำให้เกิดการสูญเสียน้ำวันละ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร ปีนี้ประเทศไทยมีน้ำเข้าอ่างน้อย ขณะที่ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านจากภาคเหนือก็ถูกใช้ไปกับภาคเกษตรกรรมมากถึง 80% เช่น เรารับรู้กันว่า การปลูกข้าวใช้น้ำมาก แต่เราก็ต้องกินข้าว
“ปริมาณน้ำกักเก็บในเขื่อนหลักวันนี้ยังน้อยกว่าปริมาณน้ำกักเก็บเมือ 3 ปีที่แล้ว ฝนไม่ตกไปเหนือเขื่อนให้มีน้ำกักเก็บและเพื่อใช้ในการบริโภคในอนาคตอีก 6 เดือนข้างหน้า ซึ่งมีการคาดการณ์เดือนตุลาคม ไม่มีฝนทางภาคเหนือ กระทั่งถึงปลายเดือนตุลาคม มีทางเดียวขอให้มีพายุเข้ามา และฝนตกเหนือเขื่อน”
ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต กล่าวถึงช่วงปี 2554 ที่เกิดภัยพิบัติน้ำท่วม ประเทศไทยมีน้ำต้นทุนเป็นเกือบ 2 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร แต่หลังจากนั้นเราปล่อยน้ำทิ้งทะเล คำถามเราใช้น้ำกันอย่างไร ขณะที่แผนการใช้น้ำเราก็ใช้เกินแผน แสดงให้เห็นว่า เราต้องปฏิรูปการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ การจัดสรรน้ำ
“ปี 2557 เป็นปีแรกในประวัติศาสตร์ไทย มีมติครม.ห้ามเกษตรกรทำนาปรัง ปี 2558 ไม่ประกาศห้าม แต่ประกาศไม่มีน้ำให้ ปลูกก็ปลูกไป”รศ.ดร. เสรี กล่าว และว่า คาดการณ์อีก 6 เดือนข้างหน้าจะมีปัญหา ไม่มีน้ำต้นทุน ถือว่าเป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นนี้แรงที่สุด ที่เราเห็นภาพน้ำในแม่น้ำมี น้ำในบึงมี เพราะมีน้ำฝนตกในพื้นที่ ฉะนั้น ขอให้ประชาชนเตรียมตัวรับสถานการณ์จะเกิดการแย้งชิงน้ำในอนาคต
รศ.ดร. เสรี กล่าวถึงตัวเลขของกรมชลประทาน ประกาศตัวเลขเกษตรกรทำนาปรัง 2 ล้านไร่ ดังนั้นหนีไม่พ้นใช้น้ำมากกว่า 3 พันล้านลูกบาศก์เมตร อีก 6 เดือนข้างหน้า ในส่วนของคนกรุงเทพฯ ใช้น้ำวันละ 6 ล้านลูกบาศก์เมตร ตกเดือนละประมาณ 180 ลูกบาศก์เมตร 6 เดือนพันล้านลูกบาศก์เมตร นี่คือตัวเลขจะทำอย่างไรกันเมื่อมีน้ำต้นทุนมีน้อย
“วันนี้จึงขึ้นอยู่กับฟ้าจะปราณีประเทศไทยหรือไม่ ขึ้นกับโชคชะตาฟ้าลิขิต ขณะที่มีการคาดการณ์ว่า ปรากฎการเอลนิโญกำลังยกระดับขึ้น ไต่สูงสุดถึงสิ้นปี กลางปีหน้าเริ่มลง ปัญหาคือว่า ถ้าปีนี้รูปแบบของฝน ตกเหมือนปีที่แล้วนั่นคือจะซ้ำเติมวิกฤตภัยแล้ง ข้อมูลทางภูมิศาสตร์บ่งชี้ให้เห็นว่า อนาคตประเทศไทยมีความเปราะบางมากที่จะเกิดการแย่งชิงน้ำกัน จำเป็นที่ภาครัฐต้องสร้างความเข้าใจเรื่องความเสี่ยง สร้างความตระหนักรู้ให้เกิดขึ้นกับประชาชน และให้เอกชนกับรัฐมาลงทุนร่วมกันในท้องถิ่น มาตรการลดผลกระทบจากวิกฤติภัยแล้งมากยิ่งขึ้น”
ส่วนมาตราการเร่งด่วน นักวิชาการม.รังสิต กล่าวด้วยว่า ต้องเร่งสร้างความเข้าใจเรื่องความเสี่ยงอย่างจริงจัง การสำรองน้ำในแปลงนา ลดพื้นที่ทำนาปรัง เปลี่ยนรอบการเพาะปลูก รวมถึงการแบ่งปันส่วนน้ำให้รัฐบาลประกาศเป็นกฎหมายปันส่วนน้ำ เหมือนเช่นที่ไต้หวัน เมื่อมีน้ำต้นทุนเหลือ 30% ไต้หวันประกาศกฎหมายปันส่วนน้ำ โดยบังคับผู้ใช้น้ำรายใหญ่ห้ามใช้น้ำเกินเท่านี้ ผู้ใช้น้ำรายเล็กประหยัดคนละ 15% ใครทำผิดชาร์ทค่าน้ำเพิ่ม แต่ของไทยแค่ขอความกรุณา ทั้งๆที่มีน้ำต้นทุนในอ่าง 9%
นอกจากนี้ มาตรการเร่งด่วนต้องหามาตรการแย่งชิงน้ำ ไม่ส่งน้ำทำเกษตรช่วงแล้ง เกษตรกรรับความเสี่ยงเอง จัดจ้างงาน แจกจ่ายแท็งก์น้ำ แจกจ่ายเสบียงอาหารสัตว์ เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และลดหย่อนค่าใช้จ่ายค่าไฟค่าน้ำ เป็นต้น
ส่วนในระยะยาวต้องดูที่ประสิทธิผลการใช้น้ำ ลดความสูญเสียในแปลงนา ปรับปรุงการใช้น้ำในภาคส่วนต่างๆ ทำได้เราแทบไม่ต้องสร้างเขื่อนใหม่ๆ เลย บริหารความเสี่ยง ติดตามสภาพภูมิอากาศ