รายแรกใน 44 คดี!ศาลฎีกาฯ‘ยกคำร้อง’ เลขาฯปธ.สภา กทม.จงใจไม่ยื่นบัญชีฯ
ศาลฎีกาฯยกคำร้องคดี ‘สมยศ ’ เลขาฯปธ.สภา กทม.จงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สิน วินิจฉัยข้อ กม.ชัด ไม่มีหน้าที่-ไม่เป็นเป็น ‘ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง’ตามประกาศ ป.ป.ช. แม้เจ้าตัวรับสารภาพก็ลงโทษไม่ได้ พบเป็นรายแรกใน 44 คดี
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 16 ต.ค.58 ที่ผ่านมา สำนักงานศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้เผยแพร่คำพิพากษาคดีคดีหมายเลขแดงที่ 56/2558 ระหว่าง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ผู้ร้อง กับ นายสมยศ วัฒนมงคล ผู้คัดค้าน
คณะกรรมการ ป.ป.ช.ร้องว่านายสมยศ ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน กรณี เข้ารับตำแหน่งเลขานุการประธานสภากรุงเทพมหานคร วันที่ 1 ก.พ.55 และกรณีพ้นตำแหน่ง 7 ต.ค.55 แต่ไม่ยื่นกรณีพ้นตำแหน่งมาแล้วครบ 1 ปี
ป.ป.ช.เห็นว่า นายสมยศเป็นข้าราชการการเมือง ตาม พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 และเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. กรณีรับตำแหน่ง พ้นตำแหน่ง และพ้นตำแหน่งมาแล้ว 1 ปี ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 (กฎหมาย ป.ป.ช.) มาตรา 4 (5) มาตรา 32 และมาตรา 33 ป.ป.ช.ได้แจ้งให้นายสมยศมายื่นบัญชีฯจำนวน 3 ครั้ง และนายสมยศเพิกเฉย ขอให้ศาลวินิจฉัยว่าผู้ร้องจงใจไม่ยื่นบัญชีฯ ห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดใดเป็นเวลา 5 ปี ตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช.มาตรา 34 และ ลงโทษ ตามกฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา 119 (จำคุก)
ผู้คัดค้านให้การรับสารภาพ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลฎีกาฯวินิจฉัยสรุปว่า
1.ตำแหน่งเลขานุการประธานสภากรุงเทพฯไม่ได้อยู่ในความหมายของคำว่า ‘ข้าราชการการเมืองอื่น’ ตามกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 4 (5)
2. คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ประกาศกำหนดตำแหน่ง ผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2554 เมื่อวันที่ 26 ก.ค.54 ในส่วนของกรุงเทพมหานคร กำหนดตำแหน่งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เฉพาะ ผู้ว่าฯกรุงเทพฯ รองผู้ว่าฯ ประธานที่ปรึกษา ที่ปรึกษา เลขานุการ ผู้ช่วยเลขาฯผู้ว่าฯ และสมาชิกสภากรุงเทพฯ มิได้กำหนดตำแหน่ง เลขาฯประธานสภากรุงเทพฯ รวมอยู่ด้วย จึงถือว่า ผู้ร้องมิได้ประกาศให้ตำแหน่ง ‘เลขานุการประธานสภาฯ’ เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
3.การที่ผู้คัดค้านเคยยื่นบัญชีทรัพย์สินมาแล้วกรณี รับตำแหน่ง และ พ้นตำแหน่งต่อผู้ร้อง 2 ครั้ง ก็มิได้ทำให้ผู้คัดค้านกลายเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน กรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้วครบ 1 ปีด้วยแต่อย่างใด
ศาลฯมีมติเอกฉันท์ว่าผู้คัดค้านมิได้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีฯ ตาม กฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา32 และ มาตรา 33 ไม่เป็นความผิดฐานจงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สิน ตาม กฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา 34 และ ไม่มีความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ จงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สิน ตามกฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา 119 แม้ผู้คัดค้านให้การรับสารภาพ ก็ลงโทษผู้คัดค้านไม่ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนายสมยศ วัฒนมงคล เป็นคดีที่ 44 ที่มีการเผยแพร่ผลคำวินิจฉัยในรอบปี 2558 ในคดีความผิดเกี่ยวกับจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. และ เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรายแรกที่ศาลฯวินิจฉัย ‘ยกคำร้อง’ด้วยเหตุผลข้างต้น
ก่อนหน้านี้ มีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 42 รายถูกศาลฎีกาฯพิพากษามีความผิดคดีจงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. และ กรรมการรัฐวิสาหกิจ 1 ราย
ทั้งนี้ ผู้ที่ศาลฯวินิจฉัยให้มีความผิดฐานจงใจไม่ยื่นบัญชีฯ รายที่ 43 คือ นายสุวิทย์ ผิวเหลือง นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บ้านบาก อ.ดอนตาล จ.มุกดาหาร
อ่านประกอบ:
ศาลฎีกาฯฟันรายที่ 43 นักการเมือง จ. มุกดาหาร จงใจซุกทรัพย์สิน