นักวิชาการ-เอ็นจีโอ ค้าน “แผนลงทุนคอนแทร็คฟาร์มมิ่งในประเทศเพื่อนบ้าน”
นักวิชาการ มช.ค้านแผนให้นักลงทุนไทยไปทำเกษตรพันธะสัญญา ปลูกพืช 9 ชนิดในประเทศเพื่อนบ้าน นำเข้ามาขายในไทย ระบุทำร้ายทั้งเพื่อนบ้าน-ไทย แนะรัฐแก้โครงสร้างไม่เป็นธรรม เครือข่ายเกษตรพันธะสัญญาวางแผนฟ้องศาลเลิกสัญญาไม่เป็นธรรม
เมื่อเร็วๆนี้ คณะกรรมการจัดทำแผนการลงทุนเกษตรแบบมีสัญญา(คอนแทรคฟาร์มมิ่ง)กับประเทศเพื่อนบ้าน ภายใต้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิระวดีเจ้าพระยาและแม่โขง(แอดเมคส์) มีมติให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาอนุมัติให้ดำเนินการภายใต้แผนการลงทุนดังกล่าว ทั้งนี้แผนดังกล่าว เป็นการอนุญาตให้นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนเพาะปลูกพืชเกษตร 9 ชนิดในประเทศเพื่อนบ้าน และให้นำเข้ามาใช้ประโยชน์ในไทย
ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา ได้สัมภาษณ์ นายทศพล ทรรศนกุลจันทร์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ในฐานะทีมวิจัยด้านข้อมูล เครือข่ายเกษตรกรพันธะสัญญา ซึ่งแสดงความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวว่า การทำเกษตรพันธะสัญญา หรือ คอนแทร็คฟาร์มมิ่ง มีผลกระทบต่อเกษตรกรอย่างหนัก เช่น บริษัทที่ลงทุนจะบอกให้เกษตรกรปลูกพืชชนิดนั้นๆ โดยให้สัญญาจะรับซื้อทั้งหมดในราคาดี แต่ในทางปฏิบัติเกษตรกรมักถูกลอยแพ เช่น หากราคาตลาดของสินค้าเกษตรชนิดนั้นๆตก บริษัทก็จะไม่รับผิดชอบ จนเกษตรกรบางรายต้องดิ้นหาตลาดเอง
อ.ทศพล ยังกล่าวว่า หากมีการทำพันธะสัญญากับประเทศเพื่อน โดยการให้บริษัทไทยเข้าไปตั้งฐานการผลิต ผลกระทบก็จะเกิดกับเกษตรกรในประเทศเพื่อนบ้านเหมือนที่เกษตรกรไทยในระบบพันธะสัญญาต้องเผชิญ นอกจากนี้ยังมีการนำเข้าสินค้าเกษตรที่ผลิตดังกล่าวเข้ามาทำให้ราคาในประเทศตก ส่งผลต่อเกษตรกรไทยด้วย
“มีเสียงสะท้อนจากลาว กัมพูชา และประเทศที่บริษัทไทยไปลงทุนว่าเป็นการไปรุกราน ไปรังแก ไปแย่งชิงทรัพยากรเขา รวมถึงทำลายพื้นที่ป่า แต่เรื่องนี้คนทั่วไปจะรับรู้น้อยมาก ขณะที่เกษตรกรไทยก็ต้องเสียเปรียบบริษัทยักษ์ใหญ่ในทุกด้าน ทั้งในเรื่องราคาและอำนาจการต่อรอง”
อาจารย์นิติศาสตร์ มช. กล่าวอีกว่า เครือข่ายเกษตรกรพันธะสัญญาและกลุ่มนักวิชาการ-เอ็นจีโอที่ทำงานด้านนี้ กำลังเคลื่อนไหวเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในระบบดังกล่าว ประเด็นแรกคือ จะติดตามเรื่องสัญญาที่ไม่เป็นธรรม โดยจะสนับสนุนการรวมตัวกันของเกษตรกรฟ้องศาลให้ยกเลิกสัญญาที่บริษัทเข้ามาหลอกให้ทำ ส่วนระยะยาวจะผลักดันให้รัฐบาลกำหนดเป็นนโยบายแก้ปัญหาในเชิงระบบที่ไม่เป็นธรรมนี้ โดยเข้ามาเป็นตัวกลางเสริมอำนาจต่อรองให้เกษตรกร รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ควรเข้ามามีบทบาทตรงนี้ รวมทั้งการให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือกับเกษตรกร
“เกษตรกรเสียเปรียบบริษัทยักษ์ใหญ่ รัฐบาลไม่ควรดูเพียงผิวเผิน แต่จะต้องมองภาพรวมนโยบาย ขณะที่ผู้บริโภคก็ควรมองเห็นว่าสิ่งที่คุณซื้อมาจากบริษัทในระบบดังกล่าวอาจเต็มไปด้วยสารเคมีหรือการตัดต่อพันธุกรรมที่เป็นอันตรายร่างกาย อยากให้คนทั่วไปได้ตระหนักรับรู้ข้อมูลอีกด้านที่ซ่อนอยู่และพิจารณาด้วยใจที่เป็นธรรม” นายทศพล กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พืชเกษตร 9 ชนิดที่ให้บริษัทนักลงทุนเกษตรไทยเข้าไปปลูกในประเทศเพื่อนบ้านและนำเข้ามาขายในประเทศไทย ตามแผนการลงทุนเกษตรพันธะสัญญากับประเทศเพื่อนบ้านดังกล่าว ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 400,000 ตัน ถั่วเหลือง 100,000 ตัน ถั่วเขียวผิวมัน 12,000 ตัน ถั่วลิสง 6,500 ตัน งา 10,200 ตัน ข้าวโพดหวาน 22,000 ตัน ลูกเดือย 50,000 ตัน ละหุ่ง 2,500 ตัน มันสำปะหลัง (มันสดและมันเส้น) 355,000 ตัน
แผนดังกล่าว ยังให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรนำเข้าในอัตรา 0% เหมือนการนำเข้าสินค้าเกษตรภายใต้เขตการค้าเสรี(อาฟต้า) และเพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้าหรือนำเข้ามากเกินปริมาณที่กำหนด จึงกำหนดให้ผู้นำเข้าต้องมีหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า ใบรับรองสุขอนามัยพืช และรายงานปริมาณการนำเข้า การใช้ การจำหน่าย และสต็อกคงเหลือต่อกรมการค้าต่างประเทศ หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดและต้องนำเข้าเฉพาะด่านที่กำหนดเท่านั้น
ทั้งนี้จากข้อมูลของเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน ซึ่งคัดค้านระบบเกษตรพันธะสัญญา ระบุว่าเกษตรกรไทยที่อยู่ในระบบดังกล่าว มักถูกเอารัดเอาเปรียบหลายด้าน เพราะต้องอยู่ในระบบสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ขาดอำนาจต่อรองกับบริษัทธุรกิจเกษตรครบวงจรยักษ์ใหญ่ เช่น ถูกผูกขาดให้ซื้อปัจจัยการผลิตทั้งหมดกับบริษัท เช่น เมล็ดพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และต้องขายผลผลิตทั้งหมดให้บริษัท ในขณะที่ไม่สามารถกำหนดราคาเองได้ จึงต้องแบกรับภาระขาดทุนหากราคาตลาดต่ำลง อีกทั้งยังต้องเสี่ยงต่อสุขภาพเพราะเป็นการทำเกษตรในระบบที่ใช้สารเคมีเข้มข้น .