อดีตสปช.แนะตั้งสภาประกันสุขภาพแห่งชาติปฏิรูประบบการคลังสร้างความเท่าเทียมบริหารกองทุน
นพ.สุวัฒน์ วิริยพงษ์สุกิจ อดีตรองประธานกรรมาธิการปฏิรูประบบสาธารณสุข สภาปฏิรูปแห่งชาติ ชงดัน พ.ร.บ.จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ ใน 3 ระดับ หนุนออก พ.ร.บ.จัดตั้งคณะกรรมการประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สภาประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นหน่วยงานกลางในการบริหารจัดการกองทุนสุขภาพต่างๆ
การบริหารจัดการโรงพยาบาลของรัฐยังไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนได้ทั้งปัญหาระบบบริการปฐมภูมิที่ยังไม่เข้มแข็ง และยังขาดประสิทธิภาพในการบริการสุขภาพที่จำเป็น สำหรับปัญหาสุขภาพใหม่ๆ รวมไปถึงการส่งต่อผู้ป่วยมีรอยต่อ การขาดแคลนแพทย์และบุคลากรทางสาธารณสุข รวมไปความเหลื่อมล้ำ ระหว่างกองทุนในด้านค่าใช้จ่ายต่อหัวต่อปี ปัญหาเหล่ากลายเป็นโจทย์สำคัญในการปฏิรูประบบสุขภาพ ที่ถูกบัญญัติอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป แม้ว่าจะไม่ผ่านการพิจารณาของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ก็ตาม
นพ.สุวัฒน์ วิริยพงษ์สุกิจ อดีตรองประธานกรรมาธิการปฏิรูประบบสาธารณสุข สภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปว่า ในร่างที่ไม่ผ่านสปช.นั้น มีหัวใจสำคัญ คือ การลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในการรับบริการ สาธารณสุข และ การกระจายอำนาจให้องค์กรบริหารท้องถิ่น ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ มีจุดคานงัดในระบบบริการสุขภาพ ที่ให้ความสำคัญกับการให้บริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ ซึ่งใกล้ชิดประชาชน ถือเป็นจุดเชื่อม และเป็นประตูด่านแรกในระบบบริการสุขภาพ เช่น ศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้าน คลินิก ร้านขายยา ซึ่งหากประชาชนไม่สบายเกินกว่าที่หน่วยบริการระดับปฐมภูมิให้การรักษาได้ จะส่งต่อไปยังระดับทุติยภูมิ หรือโรงพยาบาลต่อไป
“หากหน่วยบริการระดับปฐมภูมิแข็งแรง หรือ ฐานแข็งแรง ประชาชนจะดูแลตัวเองมากขึ้น แต่จะต้องมีกลไกการจัดการในระดับพื้นที่ หรือ คณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ หรือ ระดับอำเภอ ที่มีองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ ตัวแทนท้องถิ่น ตัวแทนประชาชน และ ตัวแทนผู้ประกอบวิชาชีพ ในการให้บริการระบบสาธารณสุข ซึ่งทั้งสามส่วนจะต้องมาเป็นหุ้นส่วนกัน มีอำนาจจัดการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที”
นพ.สุวัฒน์ กล่าวถึงการเพิ่มเครือข่ายการให้บริการสุขภาพด้วยว่า เป็นอีกหนึ่งข้อเสนอ เพราะหากไม่ป่วยหนักจะได้ไม่ต้องไปแออัดอยู่ในโรงพยาบาลรัฐ เพราะประชาชนบางคนไม่มีเงินเพียงพอที่จะไปรักษาโรงพยาบาลเอกชน แต่สามารถไปหาหมอที่คลินิกหน้าบ้านที่เป็นเครือข่ายได้ ซึ่งเครือข่ายจะได้งบประมาณสนับสนุนภายใต้กติกาของคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่/อำเภอ ที่จะมีมติว่าให้สนับสนุนเท่าใด เช่น ให้คลินิก70บาท ต่อหัว โดยประชาชนออก10บาท ซึ่งขึ้นอยู่กับการออกแบบของคณะกรรมการแทนที่จะต้องเสียค่าเดินทางไปโรงพยาบาลเป็นหลัก100บาท
ทั้งนี้การปฏิรูประบบบริการสุขภาพ อดีตรองประธานกรรมาธิการปฏิรูประบบสาธารณสุข กล่าวว่า จะสอดคล้องกับการปฏิรูประบบบริหารจัดการ โดยสาระสำคัญ คือ การผลักดัน พ.ร.บ.จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ ใน 3 ระดับ คือ 1) คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ 2) คณะกรรมการสุขภาพเขต และ 3) คณะกรรมการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคระดับจังหวัด ซึ่งคณะกรรมการทั้ง 3ระดับนี้ จะหนุนเสริมการทำงานคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่/อำเภอตามที่กล่าวข้างต้น
นพ.สุวัฒน์ กล่าวอีกว่า การปฏิรูประบบการเงิน การคลัง จะต้องมีกลไกการบริหารจัดการให้กองทุนสุขภาพ 3 กองทุนมีความเท่าเทียมกัน โดยออก พ.ร.บ.จัดตั้งคณะกรรมการประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สภาประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นหน่วยงานกลางในการบริหารจัดการกองทุนสุขภาพต่างๆ โดยเฉพาะชุดสิทธิประโยชน์พื้นฐาน เช่น การให้บริการตามกลุ่มวัย การเข้าถึงวัคซีน การส่งเสริมพัฒนาการ การดูแลผู้สูงอายุ แม้กระทั่งการล้างไตทางหน้าท้อง รวมทั้งให้จัดตั้งสำนักมาตรฐานและการจัดการสารสนเทศระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเป็นศูนย์กลางบริหารจัดการข้อมูลสารสนเทศการประกันสุขภาพ สำหรับปัญหาการแบกรับภาระค่าใช้จ่ายสุขภาพมีสัดส่วนที่สูงขึ้นมีข้อเสนอให้สร้างความยั่งยืนของการเงินการคลัง อาทิ โดยเพิ่มภาษีอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นภัยต่อสุขภาพ การประกันสุขภาพในกลุ่มประชากรต่างๆ เช่น แรงงานต่างด้าว นักท่องเที่ยว การพัฒนาแพทย์แผนไทยคู่ขนานกับแพทย์แผนปัจจุบัน และการส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชน เข้าถึงยาแผนไทยและยาสมุนไพร ในการดูแลสุขภาพอย่างทั่วถึง