สภาอุตฯจ.ตากแนะรัฐเดินหน้าส่งเสริมการค้าชายแดน
ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก พูดชัดไม่ต้องการนิคมอุตสาหกรรม ซัดเขตเศรษฐกิจพิเศษเอื้อทุนใหญ่ ด้านรองประธานหอการค้า ระบุ นโยบายรัฐบาลไม่ตรงตามความต้องการคนในพื้นที่แนะส่งเสริมการค้าชายแดนเพราะเป็นสิ่งที่ท้องถิ่นมีความถนัดอยู่แล้ว
เมื่อวันที่16 ตุลาคม 2558 ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมจัดเวทีพูดคุยข้อเท็จจริงเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ อ.แม่สอด จ.ตาก โดยทั้งหมดแสดงความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันคือสนับสนุนนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่ไม่ต้องการให้นิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้นในพื้นที่
นายชัยวัฒน์ วิทิตธรรมวงศ์ ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ตาก เปิดเผยว่า จุดยืนของสภาอุตสาหกรรมฯ คือไม่เอานิคมอุตสาหกรรม ซึ่งดำเนินการโดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และอุตสาหกรรมที่จะเข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษจะต้องเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานอย่างเข้มข้น ที่สำคัญต้องไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม
"แม่น้ำเมยเป็นแม่น้ำสายเดียวที่อำเภอแม่สอดใช้เป็นวัตถุดิบผลิตน้ำปะปา ถามว่ามันเหมาะสมหรือไม่ที่จะเอานิคมอุตสากรรมไปตั้งอยู่ประชิด และในฤดูแล้งแม่น้ำเมยก็ไม่พอสำหรับทำการเกษตร เมื่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมแล้วจะเกิดปัญหาแย่งน้ำชาวบ้านใช้หรือไม่"
นายชัยวัฒน์ กล่าวถึงวัตถุประสงค์หลักของการประกาศนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ เนื่องจากรัฐบาลต้องการส่งเสริมการค้าชายแดน แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นคือกระบวนการดำเนินการกลับมุ่งเน้นไปที่การลงทุนขนาดใหญ่เพียงอย่างเดียว รัฐบาลประกาศพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษใน 3 อำเภอ รวม 14 ตำบล แต่กลับส่งเสริมการลงทุนและให้สิทธิประโยชน์เฉพาะกับผู้ที่เข้ามาลงทุนใหม่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเท่านั้น
ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นทุนที่มาจากนอกพื้นที่
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า จนถึงขณะนี้เขตเศรษฐกิจพิเศษ อ.แม่สอด ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ไม่มีเนื้องาน ไม่มีนักลงทุน มีแต่ภาพลักษณ์ที่นำเสนอออกไปเท่านั้น ไม่มีนักลงทุนรายใดตัดสินใจเข้ามาลงทุน มีเพียงแค่เข้ามาหาข้อมูล เข้ามาสอบถามว่าสิทธิประโยชน์เป็นอย่างไร ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องปกติของนักลงทุน แต่ที่จะตัดสินใจว่าเข้ามาลงทุนแน่ๆ ยืนยันว่ายังไม่มี
“ขณะนี้ปัญหาเรื่องความขัดแย้งเรื่องที่ดินยังไม่จบ กฎหมายผังเมืองก็ยังไม่เสร็จ ไม่มีการแบ่งพื้นที่ที่อยู่อาศัย เขตอุตสาหกรรม พื้นที่เกษตรกรรม ถามว่าใครจะกล้าเข้ามาซื้อที่ดินเมื่อยังไม่มีความชัดเจนใดๆ นักลงทุนจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเมื่อซื้อที่ดินไปแล้วจะสามารถดำเนินกิจการได้จริงๆ”
ด้านนายภราดร กานดา รองประธานหอการค้า จ.ตาก กล่าวว่า แม้รัฐบาลมีความหวังดีที่จะพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่หากการจัดการไม่ดีประโยชน์ที่ได้รับก็จะน้อย ที่สำคัญหากสิ่งที่ข้างบนกำหนดลงมาไม่ตรงตามความต้องการของพื้นที่ปัญหาก็จะเกิดขึ้น ดังนั้นรัฐบาลจึงควรเข้ามาส่งเสริมเรื่องที่ท้องถิ่นมีความถนัดอยู่แล้ว คือการค้าชายแดน ควรให้ภาคเศรษฐกิจซึ่งมีความเป็นมืออาชีพเป็นผู้ดำเนินนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ ขณะที่รัฐบาลหรือข้าราชการควรทำหน้าที่เป็นผู้กำกับเพื่อรักษาผลประโยชน์ประชาชน ไม่ให้การดำเนินการใดๆ มาสร้างผลกระทบต่อประชาชน แต่ปัจจุบันรัฐกลับเข้ามาดำเนินการเอง กลไกการถ่วงดุลเหล่านี้จึงหายไป
ขณะที่นายพนม แสงแปง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าสายลวด อ.แม่สอด กล่าวว่า ต.ท่าสายลวด มีด้วยกัน 7 หมู่บ้าน ประชากรประมาณ 4,000 ราย ส่วนใหญ่ทำการเกษตร โดยขณะนี้ชาวบ้านต้องการความชัดเจนว่าเมื่อเอาที่ดินของชาวบ้านไปแล้วจะให้เขาเหล่านั้นไปอยู่ที่ไหน และคุ้มค่ากับที่เขาต้องสูญเสียที่ดินไปหรือไม่ ส่วนตัวเชื่อว่าจะเกิดปัญหาแน่ เนื่องจากชาวบ้านประกาศจุดยืนชัดเจนว่าจะไม่ยินยอมออกจากพื้นที่
"ผมอยากให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนการท่องเที่ยวมากกว่าที่จะสร้างนิคมอุตสาหกรรม"