อธิบดีอัยการ หนุนระบบเกลือจิ้มเกลือ แก้ค้ามนุษย์ธุรกิจประมง-อพยพข้ามชาติ
ไม่ถึง 10 ปี ค้ามนุษย์แตกหน่อใหญ่ขึ้น อธิบดีอัยการเผยทำเป็นองค์กร ลามสู่ธุรกิจประมง โรงงาน อพยพคนข้ามประเทศ แนะหน่วยงานรัฐใช้ระบบเกลือจิ้มเกลือ ประสานความร่วมมือเข้มแข็ง ผู้บริหารศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์พ้อ แก้ปัญหาไม่สำเร็จ เหตุเจ้าหน้าที่ในพื้นที่สนิทผู้ประกอบการ เอื้อผลประโยชน์ ทำล้ำเส้น
วันที่ 15 ตุลาคม 2558 สำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมกับ จัดประชุม เรื่อง ทิศทางการดำเนินคดีค้ามนุษย์ของสำนักงานอัยการสูงสุด ณ โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ
โดยในเวทีเสวนา หัวข้อ ‘การประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง’ นายสิทธิพงศ์ ตัญญูพงศ์ปรัชญ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา กล่าวว่า การค้ามนุษย์เป็นคดีลึกลับ ซับซ้อนไม่เหมือนกับคดีอาญาอื่น ๆ ที่มีจำเลยหรือผู้เสียหายคนเดียว ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ ทำได้ โดยไม่ต้องอาศัยความร่วมมือใด ๆ แต่คดีค้ามนุษย์ต้องเกี่ยวพันกับหลายหน่วยงาน ทำให้แนวความคิดการดำเนินการกับผู้เสียหายในคดีนี้แตกต่างจากคดีอาญา เพราะมีเฉพาะผู้เสียหายเท่านั้นที่ใกล้ชิดกับขบวนการค้ามนุษย์มากที่สุด และต้องกลับมาเป็นพยานในคดี หากผู้เสียหายไม่กล้ากลับมาเป็นพยานก็ไม่มีโอกาสลงโทษผู้กระทำความผิด
สำหรับการรับมือกระบวนการพิจารณาคดีเหล่านี้ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลฯ ระบุว่า ความร่วมมือเน้นให้มีกระบวนการดำเนินไปได้อย่างราบรื่น มิใช่เน้นการหาพยานหลักฐานมาลงโทษจำเลย โดยคดีค้ามนุษย์ต้องเสร็จสิ้นภายใน 6 เดือน นับแต่วันนัดสืบพยาน ทั้งนี้ ปัจจุบันมีการเปิดแผนกคดีค้ามนุษย์ ในศาลอาญาขึ้นแล้ว พร้อมลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการพัฒนาระบบงานยุติธรรมทางอาญาในคดีค้ามนุษย์ 5 หน่วยงาน ได้แก่ ศาลอาญา สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
นายสิทธิพงศ์ ยังกล่าวถึงความร่วมมือในการดำเนินคดีค้ามนุษย์จะเน้นเรื่องการจัดตั้งศูนย์ประสานงานคดีค้ามนุษย์ในแต่ละหน่วยงาน ทำหน้าที่คอยเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงาน เพื่อส่งข้อมูลต่อกัน เช่น ขณะนี้พยานพร้อมแล้วที่จะมาศาล หรือมีข้อขัดข้องเกี่ยวกับการมาของพยาน เป็นต้น และหากไม่สามารถให้พยานเบิกความต่อศาลได้ ด้วยเกรงความหวาดกลัว ซึ่งจะมีผลทำให้คดีถูกยกฟ้อง ดังนั้นต้องรักษาพยาน โดยอนุญาตให้สืบพยานผ่านการประชุมทางจอภาพหรือวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ซึ่งวิธีดังกล่าวช่วยแก้ปัญหาคดีค้ามนุษย์ได้ หากพยานเดินทางออกนอกประเทศ
“เราไม่เปิดศาลแผนกคดีค้ามนุษย์ทุกจังหวัด เพราะคดีมนุษย์ไม่ได้เกิดขึ้นทุกจังหวัด หากจัดตั้งทุกจังหวัด แม้จะมีกำลังคนพร้อม แต่ไม่ได้ทำงานก็สิ้นเปลือง ดังนั้น เบื้องต้น จึงจัดตั้งที่กรุงเทพฯ แทน หากในต่างจังหวัดเป็นคดีเล็กน้อยว่ากันไป แต่หากไม่มีกำลังสามารถถ่ายโอนมาได้” ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลฯ กล่าว และว่า ปัจจุบันศาลจังหวัดนาทวี จ.สงขลา ไม่มีกำลังแล้ว เพราะมีผู้พิพากษาประมาณ 10 ท่าน และมีคดีประจำจำนวนมาก ทำให้คดีโรฮีนจาต้องสืบพยาน 300 ปาก จำเลยอีก 70 คน ต้องสืบพยานล่วงหน้าในวันเสาร์ เพื่อให้เสร็จภายใน 6 เดือน เมื่อมีข้อจำกัดจึงโอนเข้ามาที่กรุงเทพฯ โดยขณะนี้แผนกคดีค้ามนุษย์มี 6 คณะ คณะละ 2 ท่าน
นายสิทธิพงศ์ ยังกล่าวว่า หากโจทย์ไม่ร้องขอ จำเลยคัดค้าน จะทำอย่างไร เราจึงเตรียมขอเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 26 ให้สามารถอ้างว่า ถ้าเป็นคดีที่มีผลกระทบต่อประโยชน์สำคัญของรัฐสามารถถ่ายโอนได้ และให้ศาลพิจารณาเสนอถ่ายโอนคดีได้เอง ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.)เพื่อเดินหน้าต่อไป
ด้านนายพีรยุทธ์ ประดิษฐ์กุล อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีค้ามนุษย์ กล่าวว่า คดีค้ามนุษย์มีการกระทำเป็นกระบวนการ เครือข่าย และองค์กร มีลักษณะไม่ปกติกับคดีธรรมดา จึงสำคัญมากในผู้กระทำความผิดเหล่านี้ต้องทำงานเป็นทีม มีความเชื่อมั่น ศรัทธา มิฉะนั้นทำงานลักษณะองค์กรไม่ได้ ขณะเดียวกันหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ถ้าไม่สอดประสานงานกันหรือเข้มแข็งพอ เราจะสู้ไม่ได้ ดังนั้น ในฐานะหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ปราบปราม คงหนีไม่พ้นระบบเกลือจิ้มเกลือ หรือตาต่อตา ฟันต่อฟัน มิฉะนั้นจะต่อต้านองค์กรเหล่านี้ไม่ได้
“ไม่ถึง 10 ปี การค้ามนุษย์มีวิวัฒนาการจากการหลอกคนมากักขัง ซึ่งมีความผิดไม่มาก ขยายไปสู่การประมง โรงงาน หรืออพยพคนข้ามประเทศ ในลักษณะเครือข่าย จึงเป็นความท้าทายในอนาคตต้องอาศัยความร่วมมือกันเพื่อรับมือกับปัญหาได้” อธิบดีอัยการ กล่าว
ขณะที่ พ.ต.ท.คมวิชช์ พัฒนรัฐ ผอ.ส่วนป้องกันและปราบปราม 1 ศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์ กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ไม่ได้ว่า มีสาเหตุจากเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่รู้จักกับผู้ประกอบการที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ทราบแม้กระทั่งคนนั่งขอทานในพื้นที่ แต่บางคนเข้าใจเป็นแรงงานข้ามชาติ ไม่ใช่การค้ามนุษย์ ซึ่งการสนิทสนมในเชิงผลประโยชน์ที่เคยได้ ทำให้เกิดการดูแลกัน และไม่ล้ำเส้น แต่ปรากฏว่า ผู้ประกอบการหลายคนจ่ายเงินแล้ว มักนึกตนเองมีพรรคพวกก็จะล้ำเส้น ทั้งนี้ มิได้กล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐทุกคนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ อย่างไรก็ตาม นโยบายของรัฐบาลในปัจจุบันสร้างความตื่นตัวให้เจ้าหน้าที่มากขึ้นแล้ว .