42 ปี 14 ตุลา 16 ‘เอนก เหล่าธรรมทัศน์’ ฝันให้ไทยโชติช่วงในยุคบูรพาภิวัฒน์
“14 ตุลาคม 2516 เป็นระเบิดครั้งใหญ่ของโลก ส่วน 14 ตุลาคม 2558 จะเป็นระเบิดเวลาหรือไม่ แต่อย่างน้อย การเคลื่อนไหววันนี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นในการใช้ความคิด สติปัญญาที่สุกงอม นำประเทศไทยให้เดินไปข้างหน้าอย่างสร้างสรรค์ เกิดโอกาส และทางเลือกใหม่”
วันที่ 14 ตุลาคม 2558 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา 16 ‘ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์’ อธิการวิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวปาฐกถา 14 ตุลา ประจำปี 2558 หัวข้อ ‘ไทยในยุคบูรพาภิวัฒน์:โลกที่เปลี่ยนไปจาก 14 ตุลาคม 2516 ถึง 14 ตุลาคม 2558’ ตอนหนึ่งระบุถึงช่วง 14 ตุลาคม 2516 ไม่ได้อยู่ในยุคที่ตะวันตกเป็นใหญ่ และเข้มแข็งผู้เดียว แต่เป็นยุคที่ตะวันออกเข้มแข็ง เปลี่ยนภาพพจน์ และมีสำนึกของตนเอง
จีนกับสหรัฐฯ จึงเป็นคู่ขับเคี่ยวแห่งศตวรรษแน่นอน! อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ยังเข้มแข็งกว่าจีน เพราะมียุโรปและญี่ปุ่นเป็นพันธมิตร แต่จีนก็สร้างพันธมิตรใหม่กับแอฟริกา ละตินอเมริกา และอาเซียน อย่างรวดเร็ว จึงกล่าวได้ว่า จีนเป็นประเทศที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เพราะเป็นประเทศคู่ค้าหมายเลขหนึ่งของ 120 ประเทศ
ส่วนสหรัฐฯ เป็นประเทศคู่ค้าหมายเลขหนึ่งเพียง 60 ประเทศ นั่นหมายถึงประเทศที่มีจีนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งมีมากกว่าประเทศที่มีสหรัฐฯ เป็นคู่ค้าอันดับหนึ่ง
ขณะที่ ‘บราซิล’ เขาบอกว่า มีพื้นที่ใกล้สหรัฐฯ เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีความสำคัญ อย่างไรก็ตาม เวลานี้ได้ค้าขายกับจีนเป็นอันดับหนึ่ง มิใช่ค้าขายกับสหรัฐฯ เป็นอันดับหนึ่ง
ไม่เว้นแม้แต่ ‘แคนาดา’ กับ ‘เม็กซิโก’ ที่มีพื้นที่ติดกับสหรัฐฯ ซึ่งเดิมจีนไม่ได้เป็นคู่ค้าที่สำคัญเลย แต่ปัจจุบันจีนกลับกลายเป็นคู่ค้าหมายเลขสองของประเทศดังกล่าวรองจากสหรัฐฯ
ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ว่า ในอนาคตจีนอาจกลายเป็นคู่ค้าหมายเลขหนึ่งของเม็กซิโกและแคนาดา
ขณะที่ ‘ญี่ปุ่น’ เคยมีความสัมพันธ์แนบชิดกับสหรัฐฯ แต่เวลานี้ได้จีนเป็นคู่ค้า ไม่ใช่สหรัฐฯ อีกต่อไป เช่นเดียวกับ เกาหลีใต้ ไทย และอาเซียน ที่มีจีนเป็นคู่ค้าหมายเลขหนึ่งด้วย
แล้วไทยควรจะทำอย่างไรในยุคบูรพาภิวัฒน์? นักวิชาการ ม.รังสิต ตั้งคำถามขึ้น ก่อนให้คำตอบว่า จะต้องปรับระยะไกล-ใกล้จากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศอยู่ไกลมาก แต่ไทยกลับใกล้ชิดมากเกินไป ที่สำคัญ ต้องไม่พยายามตามสหรัฐฯ อย่างไม่รู้จักคิด หรือตามเพียงเป็นประเทศสากลที่มีความศิวิไลซ์
“ผมบอกให้ระมัดระวัง เพราะสหรัฐฯ มักจะขยับนโยบายต่างประเทศที่ผิดพลาดเป็นประจำ” เขากล่าว
ก่อนอธิบายว่า 10 ปีหลัง สหรัฐฯ อ่อนกำลังลง เพราะความผิดพลาดทางนโยบาย เช่น สงครามอัฟกานิสถาน สงครามอิรัก และสงครามซีเรีย ดังนั้นถ้าสหรัฐฯ ต้องการขยับนโยบายต่างประเทศอะไร และชวนให้ไทยไปร่วมด้วย เราต้องคิดให้มาก
หากส่วนใดที่สหรัฐฯ ขยับและเป็นไปในทางบวก ไทยต้องรีบวิ่งและทำก่อน เช่น สหรัฐฯ จะคืนความสัมพันธ์กับอิหร่าน ไทยจึงต้องชิงดำเนินความสัมพันธ์แบบพิเศษกับอิหร่าน
ภายหลังก่อนหน้านี้เคยต่อต้านตามสหรัฐฯ อยู่ 20-30 ปี โดยไม่มีเหตุอันควร ทั้งที่ อิหร่านสามารถให้ประโยชน์แก่ไทยอีกมากมาย
สำหรับจีนมีพื้นที่ใกล้ไทย ศ.พิเศษ ดร.เอนก เสนอแนะจะต้องเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากจีนให้มากกว่านี้ แต่ไม่ใช่แบบไม่รู้จักคิด หรือไม่คิดอะไรเลย
“สิ่งที่เป็นหัวใจมากที่สุด เรื่องบูรพาภิวัฒน์ คือ ความสัมพันธ์กับอาเซียน ซึ่งไทยต้องใช้อย่างสร้างสรรค์ ในฐานะผู้ก่อตั้งอาเซียน” นักวิชาการ ม.รังสิต กล่าว และว่า เราเล็กเกินไปที่จะเดินทางการทูตอย่างเดียวได้ ดังนั้น เราจะต้องนำอาเซียนเป็นส่วนขยาย และสร้างพันธมิตรใกล้ชิด หมายความว่า ไทยไม่สามารถขัดแย้งกับลาว กัมพูชา และเมียนมาร์ได้อีก
ยุคบูรพาภิวัฒน์ กรุงเทพฯ โตน้อยลง-เขตชายเเดนโตมากขึ้น
เขากล่าวต่อว่า ไทยเป็นประเทศใหญ่ของอาเซียน และคนอื่นมองไทยเป็นแบบอย่างมากว่าที่คิด โดยเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ส่งผลกระทบถึงมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ทำให้ทุกประเทศแถบเพื่อนบ้านรู้จักข่าว คนในข่าว และสาระข่าวของไทยดีมาก
“คนลาวฟังและพูดไทยได้เกือบทั้งประเทศ ขณะที่คนกัมพูชารู้ภาษาไทยไม่ต่ำกว่าครึ่งประเทศ ส่วนคนพม่าตามแนวชายแดนก็พูดภาษาไทยได้”
แต่ไทยไม่เคยคิดเป็นประเทศใหญ่ของอาเซียน ทั้งที่ ดนตรีไทย ภาพยนตร์ไทย มวยไทย สินค้าไทย ล้วนมีอิทธิพลในอาเซียนทั้งสิ้น ดังนั้นไทยต้องเชื่อมโยงกับทุกประเทศในอาเซียนให้มากขึ้น สร้างสนามบินให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มความสะดวก และเชื่อมโยงแต่ละภูมิภาค
ศ.พิเศษ ดร.เอนก เน้นย้ำว่า ยุคบูรพาภิวัฒน์ต้องไม่พัฒนาเฉพาะ ‘กรุงเทพฯ’ เพราะอนาคตความเจริญที่มาจากกรุงเทพฯ จะค่อย ๆ ลดน้ำหนักลง แต่ความเจริญจากภูมิภาคและแนวชายแดน จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จึงกล่าวได้ว่า ‘ลมบูรพาภิวัฒน์’ มาจากแนวชายแดน
“ยุคตะวันตกเป็นใหญ่ ความเจริญจะถาโถมมาจากกรุงเทพฯ เพราะเป็นจุดเชื่อมประเทศเข้ากับโลกตะวันตกและญี่ปุ่น” เขากล่าว และว่า แตกต่างจากยุคบูรพาภิวัฒน์ การเชื่อมโยงทางบกและชายแดนมีสำคัญมากขึ้น และสิ่งที่ต้องตระหนักคือ ประเทศเพื่อนบ้านมีอัตราการเติบโตสูงกว่าไทย
เมียนมาร์เติบโต 13.5% ต่อปี ติดต่อกัน 10 ปี ลาวเติบโต 7% ต่อปี ติดต่อกัน 10 ปี กัมพูชา เติบโต 8.5% ต่อปี ติดต่อกัน 10 ปี มาเลเซีย เติบโต 5-6% ต่อปี ติดต่อกันมา 10 ปี เช่นนี้แล้วไทยต้องนำพื้นที่แนวชายแดนและภูมิภาค เข้าไปรับคลื่นลมใหม่ของบูรพาภิวัฒน์ และให้อาเซียนเชื่อมโยงกับจีนจงได้
“ไทยต้องคิดเชิงยุทธศาสตร์ คือ ต้องนำเออีซีต่อเชื่อมกับจีน เพราะจีนมีกำลังและไปได้อีกไกล นอกจากนี้ต้องให้ความสำคัญกับอินเดียด้วย”
ส่วนยุโรป ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เขาบอกว่า ให้รักษาความสัมพันธ์ที่ดีไว้ แต่การทำยุทธศาสตร์ เราไม่สามารถปฏิบัติต่อทุกพื้นที่ ทุกแผ่นดิน หรือทุกประเทศเท่ากันหมดได้ มิเช่นนั้นจะไม่เรียกว่า ‘ยุทธศาสตร์’ แต่เรียกว่า ‘หารเฉลี่ย’
ศ.พิเศษ ดร.เอนก ยังพูดถึงการเชื่อมความสัมพันธ์กับตะวันออกกลาง อิหร่าน และตุรกี จะต้องให้ความสำคัญ แต่ไทยเป็นโรคแก้ยาก จะเอาตะวันตกเป็นศูนย์กลางอย่างเดียว
“ดูงานอะไรที่ไหน หากบอกว่าดูงานที่ตะวันออกกลาง อิหร่าน ตุรกี ไม่อยากไป แต่หากบอกว่า ไปออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ดีจัง ถ้าไปแคนาดา ไม่เลว และไปยุโรป ยอดที่สุด” เขากล่าว และเสนอให้หาวิธีทำให้ไทยใช้ความสัมพันธ์ที่มีต่อตะวันออกกลาง อิหร่าน และตุรกี เป็นความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจให้มากขึ้น
ไทยต้องทำให้จีน-สหรัฐฯ ร่วมมือกัน
ย้อนกับมาที่ความสัมพันธ์กับจีน เขากล่าวว่า จะชอบหรือไม่ แต่ยืนยันจีนมาแน่นอน และไทยก็ต้องการจีน แม้ปากอาจบอกว่า คนจีนมาเยอะ เสียงดัง ไปที่ไหนราบเรียบหมด หรือเข้าห้องน้ำไม่สะอาด แต่เรื่องเหล่านี้เล็กน้อย
เราต้องการเขามากกว่าเขาต้องการเรามาก เนื่องจากไทยต้องการนักท่องเที่ยว ทุน โครงสร้างพื้นฐาน เพราะฉะนั้นชอบหรือไม่ก็ต้องสร้างความสัมพันธ์กับจีน
ศ.พิเศษ ดร.เอนก บอกด้วยว่า ความสัมพันธ์ที่จะเกิดขึ้นกับจีนต้องเป็นไปอย่างชาญฉลาด ทั้งนี้ รวมถึงความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านด้วย เพราะไทยต้องการแรงงานจากประเทศเหล่านี้ ส่วนยุโรปอาจไม่สำคัญเท่าสหรัฐฯ แต่เรายังต้องการเทคโนโลยี วิทยาการ และความรู้ หลายด้าน
แล้วสหรัฐฯ กับจีน ใครจะแพ้ชนะในศตวรรษที่ 21 เขาระบุเคยมีการวิเคราะห์มากมาย แต่นั่นไม่ใช่เรื่องของเรา และไม่ควรไปสนใจมากนัก อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า จีนกับสหรัฐฯ คงไม่ต่อสู้จนเกิดความขัดแย้งอย่างเดียว แต่จะสร้างความสัมพันธ์ด้านการลงทุนด้วย
จนถึงขนาดถ้าจีนล้ม สหรัฐฯ ล้มด้วย ถ้าสหรัฐฯ ล้ม จีนล้มด้วย เพราะฉะนั้นความขัดแย้งยังมีอยู่ แต่ความร่วมมือก็มีความสำคัญ ทั้งนี้ หากไทยสามารถช่วยให้ตะวันตกกับจีนหรือตะวันออกกับจีน หรือจีนกับสหรัฐฯ ร่วมมือกันได้ก็ควรทำ
ศ.พิเศษ ดร.เอนก กล่าวอีกว่า ไทยไม่ควรยั่วยุให้สหรัฐฯ กับจีนขัดแย้งกัน หรือให้ตะวันตกกับตะวันออกขัดแย้งกัน แต่ไทยต้องการให้ตะวันตกและตะวันออกปรับตัวเข้าหากัน พร้อมกันนี้ ต้องพยายามเผยแพร่วัฒนธรรมตะวันออกและวัฒนธรรมไทยด้วย มิฉะนั้นคนไทยจะคุ้นชินกับการรับอิทธิพลอารยธรรมตะวันตก โดยไม่สนใจเผยแพร่อารยธรรมตะวันออก
“วัฒนธรรมธรรมไทยและอาเซียน ต้องเผยแพร่ให้ได้มากขึ้น ที่สำคัญต้องหยุดคิดตั้งรับอย่างเดียว แต่ต้องคิดรุก และเลิกพร่ำพรรณนาว่า วัฒนธรรมไทยกำลังถูกทำลาย หรือตะวันตกกำลังเปลี่ยนไทย”
สำหรับนักท่องเที่ยว เขากล่าวว่า ต้องไม่คิดนักท่องเที่ยวต่างชาติจะมาเปลี่ยนวัฒนธรรมไทย แต่ต้องคิดเปลี่ยนวัฒนธรรมของนักท่องเที่ยวให้มาคิดและชื่นชมแบบไทยให้มากขึ้น และร่วมสร้างประชาธิปไตยแบบไทยที่ไม่ได้หมายถึงคำสุภาพแทนคำว่า ‘เผด็จการ’
หนุนไทยเปิดโลกทัศน์ใหม่ ดันเป็นชาติมหาอำนาจระดับกลาง
สิ่งทั้งหมดข้างต้นเป็นภารกิจของชาว 14 ตุลา ซึ่งวันนี้เป็นคนในวัยใกล้เกษียณหรือเกษียณใหม่ๆ ทั้งสิ้น โดยพบว่า คนที่จะมาเป็นกำลังหลักของบ้านเมืองล้วนมีวัยใกล้เคียงกับพวกเรา ซึ่งเป็นรุ่นที่ผิดแปลกประหลาด เพราะทำเรื่องใหญ่ตั้งแต่เด็ก
เขาบอกด้วยว่า เราต้องตำหนิตนเองให้น้อยลง ตำหนิประเทศเราให้น้อยลง วิพากษ์ตนเองให้น้อยลง และวิพากษ์ประเทศให้น้อยลง แล้วสร้างสรรค์และทำให้มากขึ้น เพื่อสมกับที่ผ่านโลกมาถึง 42 ปี
“14 ตุลาคม 2516 เป็นระเบิดครั้งใหญ่ของโลก ส่วน 14 ตุลาคม 2558 จะเป็นระเบิดเวลาหรือไม่ แต่อย่างน้อย การเคลื่อนไหววันนี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นในการใช้ความคิด สติปัญญาที่สุกงอม นำประเทศไทยให้เดินไปข้างหน้าอย่างสร้างสรรค์ เกิดโอกาส และทางเลือกใหม่”
สิ่งที่สำคัญ ไทยต้องหยุดเป็นประเทศลูกไล่ หรือพันธมิตรของประเทศมหาอำนาจ ควรสลัดโลกทัศน์แบบนี้ไป และคิดโลกทัศน์ใหม่แทน โดยการทำให้ตนเองเป็นชาติมหาอำนาจระดับกลาง และเลิกคิดว่าความสำเร็จขึ้นอยู่กับการเลือกเจ้านายที่ถูกต้อง
เขายืนยันว่า มิได้ชี้นำให้ไทยต้องเลือกจีนเป็นเจ้านายแทนสหรัฐฯ แต่ไทยควรต้องเป็นชาติมหาอำนาจระดับกลาง เหมือนอินโดนีเซีย ตุรกี บราซิล และกลายเป็นประเทศที่มีคนรักและนับถือ .