ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด เปิด 6 มาตรการเพื่อพลิกโฉมการบริหารจัดการน้ำไทย
กฏหมายทรัพยกรน้ำ ควรเป็นกฏหมายของผู้ใช้น้ำ ไม่ใช่เป็นกฏหมายของกระทรวงใด กระทรวงหนึ่ง หรือกรมใดกรมหนึ่ง โดยที่ผ่านมากฏหมายน้ำมักจะถูกเขียนเพื่อเป็นการแก้ไขระหว่างหน่วยราชการ ไม่ใช่แก้ปัญหาของประชาชน
เมื่อไม่นานมานี้ ในที่ประชุมสัมมนา "วิกฤติน้ำท่วม-น้ำแล้ง: พลิกโฉมการบริหารจัดการน้ำของไทย" จัดโดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ร่วมกับ International Development Research Centre (IDRC) ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ประธานมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ กล่าวถึงนโยบายการจัดการน้ำของไทย ส่วนใหญ่เป็นนโยบายเน้นไปที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นส่วนใหญ่ เพราะหัวจิตหัวใจประเทศอยู่จุดนั้น ตัวเลขจีดีพีอยู่ที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา อันนี้เราพอเข้าใจได้
"เเต่ถ้าเราเขียน พ.ร.บ.ทรัพยกรน้ำขึ้นมา แล้วเรามาจัดการทำให้คนที่มีสภาพที่ไม่เหมือนคนในลุ่มน้ำเจ้าพระยาทำตาม แบบนั้นไม่ได้ เพราะพื้นที่ ปัญหา บริบท ต่างกัน น้ำเป็นเรื่องใหญ่ ควรมีโปรแกรมวิจัยเรื่องน้ำ เรามีการวิจัยเรื่องน้ำเยอะแยะมาก แต่เป็นของบริษัท เป็นเรื่องของการก่อสร้างหมดเลย ถึงเวลาเเล้วที่เราจะมามองใหม่ และเปิดเวทีให้ผู้ใช้น้ำเข้ามามีส่วนร่วมให้มากขึ้น"
น้ำท่วมดินถล่ม การกัดเซาะแม่น้ำ คือหนังเรื่องเดียวกัน ประธานมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ ชี้ว่า เราจำเป็นต้องบูรณาการ ไม่ใช่เราแยกหนังมาดูตอนต้นแล้วไม่รู้ว่าตอนจบเป็นอย่างไร หรือดูแต่ตอนจบไม่รู้ว่าเรื่องราวที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ก็ไม่ได้ ดูเเล้วต้องดูทั้งกระบวนการ ปัญหาคือหนังเรื่องนี้มันจบอยู่ในตำบลเดียวกัน นั่นแสดงว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีบทบาท
"ถ้าเราไปเขียนกฏหมายว่าเรื่องนี้กรมทรัพยกรน้ำต้องดูแลทั่วประเทศ เขาจะไปเข้าใจหมู่บ้านห่างไกลได้อย่างไร ชาวกะเหรี่ยง เขาก็มีลำธารสายน้ำใช้ ต่างกับคนที่ราบลุ่มภาคกลางที่ใช้น้ำจากเขื่อน ฉะนั้น ท้องถิ่นต้องมีบทบาท"
แต่ปัญหาของประเทศไทย ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ เห็นว่า เวลาต้องการกรรมการเข้ามาจัดการเรื่องทรัพยกรน้ำ เราชอบเอารัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ มาเป็นกรรมการจัดการน้ำ ทำไมไม่ไปเอาผู้ใช้น้ำมาทำงานยึดผู้ใช้น้ำเป็นหลัก และปลัด รัฐมนตรี อยู่อีกชุดที่เป็นชุดดำเนินการ ไม่เช่นนั้น ก็แก้กันอยู่ที่เดิม
พร้อมกันนี้ ประธานมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ เสนอ 6 มาตรการเพื่อพลิกโฉมการบริหารจัดการน้ำไทย
1.การจัดการน้ำจะเสร็จสมบูรณ์ได้ต้องบูรณาการกับการจัดการที่ดิน เราต้องให้ชาวบ้านรู้ว่า บ้านเขาตั้งอยู่ตรงจุดไหน เสี่ยงต่อภับพิบัตหรือไม่ เมื่อเขารู้เเล้ว ก็มีหน้าที่ที่ต้องป้องกัน ดูเเลตัวเองก่อน รัฐบาลจะไม่ไปชดเชยให้ทุกเรื่อง ไม่ใช่รัฐบาลไปช่วยทุกเรื่อง ในเมื่อเราบอกเขาให้ทราบแล้ว แต่ถามว่ารัฐช่วยได้ไหม ช่วยได้ในกรณีเข้าไปช่วยเหลือชดเชยด้านมนุยธรรมได้ รัฐบาลต้องเปลี่ยนความคิดตัวเองที่ว่า ทุกอย่างต้องชดเชย เพราะสิ่งที่รัฐต้องทำคือไปให้ความรู้กับชุมชน ให้ความรู้ชาวบ้าน
2.กระจายอำนาจ เพราะท้องถิ่นมีปัญหาต่างกัน ท้องถิ่นไม่ใช่ท้องที่ ท้องที่คือภูมิภาค ท้องถิ่นคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งดูเเลพื้นที่เล็กกว่า"
ดร.มิ่งสรรพ์ กล่าวย้ำเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม เราเรียก Area Base Problem คือปัญหากับพื้นที่เราจะไปเหมารวมว่า ทุกพื้นที่เหมือนกันไม่ได้ พื้นที่ต่างกัน การจัดการทรัพยกรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องจัดการตามลักษณะระบบนิเวศ ท้องถิ่นต้องออกเทศบัญญัติกำกับการใช้ที่ดิน
ยกตัวอย่างเช่น ท้องถิ่นรู้อยู่เเล้วว่า จุดไหนเป็นจุดเสี่ยงต่อภัยพิบัติซ้ำซาก แล้วแจ้งให้ชาวบ้านรับทราบ และพูดคุยทำความเข้าใจกันแล้วออกเทศบัญญัติ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความสำคัญมากในการจัดการทรัพยกรธรรมชาติ เพราะเขาเป็นเจ้าพื้นที่
"ฉะนั้นเวลารัฐจะจัดการเรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เราจะเอาแม่ฮ่องสอนไปจัดการเหมือนกับยโสธรได้อย่างไร"
3. ส่วนกลางมีหน้าที่ยกระดับความรู้และการจัดการของท้องถิ่น ท้องถิ่นต้องเป็นหนึ่งในข้อต่อระหว่างผู้ใช้น้ำกับกรรมการลุ่มน้ำ ขณะที่กระทรวงยังไม่หายไปไหน กระทรวงยังอยู่ ส่วนกลางยังอยู่ แต่อยู่อย่างลมใต้ปีกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ใช่อยู่เเบบไปบอกให้เขาทำอะไร แบบนั้นสามารถทำได้ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ไม่ใช่ที่อื่น ท้องถิ่นเป็นนิติบุคคล เขาสามารถรับเงินได้ ถ้าอยากให้ประชาชนมีอำนาจมีส่วนร่วม ก็ต้องส่งไปที่ท้องถิ่น ให้ท้องถิ่นควบคุม เจดีย์จะสร้างได้ ต้องเริ่มจากฐาน ไม่ใช่ก่อสร้างมาจากยอด
4.เตรียมแหล่งน้ำสำหรับอุปโภค บริโภคให้กับเมืองและชุมชน มองกันใหม่ น้ำบนดินหรือน้ำใต้ดิน เป็นน้ำเดียวกันหมด เราต้องมองว่าคือน้ำ เวลามองเราคิด เรามักจะคิดเฉพาะน้ำบนดิน แต่ลืมการดูเเลน้ำใต้ดิน หน่วยงานที่ดูเรื่องนี้ หน้าที่คือต้องไปดูเเลคุณภาพน้ำใต้ดิน ต้องรู้ว่าจุดไหนเป็นอย่างไรและรักษาแหล่งน้ำใต้ดินเอาไว้
5.ลดพลังงานในการดึงน้ำมาใช้จากแม่น้ำ เช่น มีจังหวัดหนึ่งริมโขง ชาวบ้านสูบน้ำจากแม่น้ำขึ้นมาใช้ ทั้งๆ ที่มีประปาประจำหมู่บ้าน มีแหล่งน้ำที่สะอาดอยู่บนภูเขา แต่ขาดการพัฒนาจุดนี้
"ถ้าเราจะพลิกโฉม เราต้องดูว่าในเรื่องทรัพยกรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่วนกลางได้ ให้บทบาทความสำคัญกับท้องถิ่นมากน้อยขนาดไหน และที่ยากมากที่สุดคือ บทบาทที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ตามศักยภาพ เราจะทำอย่างไรให้พระราชบัญญัติต่างๆ ที่มี เป็นไปตามศักยภาพของแต่ละพื้นที่"
6.ใช้เครื่องมือให้มากขึ้น นอกจากการกำกับและการควบคุม ปัจจุบัน มีแต่สั่งไป แต่ไม่มีการควบคุม
อาจารย์ มิ่งสรรพ์ กล่าวอีกว่า ทุกวันนี้ที่เรากำลังทำคือ เราใช้เครื่องมือทางกฏหมายซึ่งหลายอย่างรุนแรง และหลายอย่างก็หย่อนหย่าน และเครื่องมือทางสังคม เริ่มมีการนำมาใช้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น เหมือง ฝาย หรือผู้ใช้น้ำ สุดท้ายเครื่องมือที่เราไม่ค่อยได้ใช้คือเครื่องมือทางเศรษฐศาตร์ ยกตัวอย่างเช่น
Tranferable Development Right เราบอกว่า เราไม่มีเงินให้ชาวบ้าน แต่จริงๆ แล้วเราสามารถให้สิทธิเขา ให้เขาสามารถหาเงินได้ในอนาคต เช่น ทำเขื่อนมาแห่งหนึ่ง ใช้เงินไปหมื่นล้านบาท แล้วบอกชาวบ้านว่า ที่ดินมีเท่าไร เอาเงินไปเท่านั้น แล้วให้ชาวบ้านย้ายไปอยู่ที่อื่น แบบนี้ไม่ได้ เขื่อนจะสร้างรายได้ทั้งชีวิตให้ประเทศ แล้วทำไมชาวบ้านที่ถูกย้ายถึงได้เงินเเค่นั้น ซึ่งต้องคิดใหม่ เราจะให้ทีละแสนสองแสนต่อไป ไม่ได้ สามารถให้ผลประโยชน์อย่างอื่นได้ ที่เกิดจากเขื่อน
"โครงการที่ดีต้องไม่ใช่ให้ใครมาเสียสละ เพราะเวลาจะให้เสียสละ ชาวบ้านต้องเสียสละทุกที แบบนี้มันไม่ถูก"
Payment of Eco system services บางทีเราอาจจะต้องเปลี่ยนความคิดใหม่เพื่อการจัดการบางอย่าง พื้นที่ไม่เหมือนกันทำเหมือนกันไม่ได้ ยกตัวอย่างที่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เทศบาลแห่งหนึ่งอยู่ปลายน้ำ บอกให้เทศบาลต้นน้ำดูเเลน้ำจากต้นน้ำให้สะอาดจนถึงปลายน้ำ แล้วยินดีจ่ายเงินค่าดูเเลให้ แต่ศาลบอกทำไม่ได้ เพราะสิ่งแวดล้อมสาธารณะเป็นของทุกคน จะมาเก็บเงินไม่ได้ บางทีเราอาจต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ คือสิ่งแวดล้อมจะให้ดูฟรีๆ ใครจะดู ฉะนั้นการดูแลสิ่งแวดล้อม มีราคาค่างวดเช่นกัน
ช่วงท้าย ดร.มิ่งสรรพ์ แสดงความเห็นในเพิ่มเติมส่วนของ พ.ร.บ.น้ำ ว่า วันนี้ดีใจที่เราจะมีกฏหมายทรัพยกรน้ำ แต่ก็แอบวิตกกังวลไม่ได้ เพราะเวลารัฐจะจัดการทำอะไร รัฐก็จะจัดการเอาสมบัติของชาติ มาไว้ที่ส่วนกลางทั้งหมด เพราะฉะนั้น เรื่องพ.ร.บ.น้ำเราไม่ต้องรีบร้อนได้ไหม เรามาคุยกันก่อน มาเปิดเวทีแลกเปลี่ยนกันก่อน
"กฏหมายทรัพยกรน้ำ ควรเป็นกฏหมายของผู้ใช้น้ำ ไม่ใช่เป็นกฏหมายของกระทรวงใด กระทรวงหนึ่ง หรือกรมใดกรมหนึ่ง โดยที่ผ่านมากฏหมายน้ำมักจะถูกเขียนเพื่อเป็นการแก้ไขระหว่างหน่วยราชการ ไม่ใช่แก้ปัญหาของประชาชน เราต้องเข้าใจกันใหม่ว่า กฏหมายทรัพยกรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต้องเป็นกฏหมายของประชาชน"