รำลึก 42 ปี วันมหาวิปโยค ‘ม.ล.ปนัดดา’ รับปากญาติวีรชนจ่ายเยียวยาย้อนหลัง
มูลนิธิ 14 ตุลา จัดรำลึก 42 ปี วันมหาวิปโยค ทำบุญ 3 ศาสนา ญาติวีรชนวอน ‘บิ๊กตู่’ จัดเงินยังชีพช่วยเหลือ 7 พันบาท/เดือน ตามมติ ครม. 19 พ.ย. 56 ‘ม.ล.ปนัดดา’ รับปากเร่งรัดตามคำขอ ระบุรัฐบาลจะเมินเฉยไม่ได้
วันที่ 14 ตุลาคม 2558 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา 16 มีการจัดกิจกรรมรำลึกและปาฐกถา 14 ตุลา ประจำปี 2558 (วันประชาธิปไตย) เพื่อรำลึกเหตุการณ์การชุมนุมครั้งใหญ่ครบรอบ 42 ปี โดยมี ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ร่วมด้วย นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานกรรมการมูลนิธิ 14 ตุลา, น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ, ผู้แทนญาติวีรชน 14 ตุลา, ผู้แทนฝ่ายประชาธิปไตยและแรงงาน, ผู้แทนชาวบ้านนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน, ผู้แทนเยาวชน นิสิตนักศึกษา และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเช้ามีการตักบาตรพระสงฆ์ 14 รูป บริเวณด้านหน้าอาคารอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา 16 พร้อมกับพิธีกรรม 3 ศาสนา และพิธีวางพวงมาลาและกล่าวสดุดี อย่างไรก็ตาม ญาติวีรชนได้เรียกร้องให้รัฐบาล ภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เร่งดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 19 พฤศจิกายน 2556 จ่ายเงินเบี้ยยังชีพแก่ญาติวีรชนรายละ 7,000 บาท/เดือน
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การพัฒนาประชาธิปไตยของไทยจะเกิดขึ้นได้ ต้องอยู่ภายใต้บริบทความรักสมัครสมาน ความพอเพียง ความไม่กล่าวคำเท็จ ให้ร้ายใครที่ไม่เป็นความจริง และไม่ทุจริตคดโกง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญนำพาประชาธิปไตยที่อยากเห็นให้เกิดขึ้น และดำรงรักษาประเทศชาติได้
สำหรับการขอเงินเบี้ยยังชีพแก่ญาติวีรชน 14 ตุลาคม 2516 จำนวน 7,000 บาท/เดือน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ข้อเรียกร้องดังกล่าวค้างมาหลายสมัย ซึ่งญาติวีรชนอยากให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อช่วยเหลือครอบครัว แม้จะผ่านมาหลายปีก็ตาม ซึ่งรับปากจะนำเรื่องเข้าหารือกับคณะทำงาน เพื่อสอบถามความต้องการรับช่วยเหลือ โดยมองเป็นกรณีคล้ายกับเหตุการณ์ทางการเมืองระยะหลัง ซึ่งรัฐบาลจะเมินเฉยไม่ได้
ด้าน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า การสืบทอดจิตวิญญาณของ 14 ตุลาคม 2516 ยังไม่สิ้นสุด โดยสิ่งต้องตราไว้มีเบื้องต้น 3 ประการ คือ
1.จิตวิญญาณประชาธิปไตย ต้องประกอบด้วยสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาค โดยเฉพาะเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แม้จะเป็นความคิดเห็นต่าง ไม่ว่าจะเป็น ทางการเมือง นโยบาย หรือการพัฒนาด้านต่าง ๆ แต่ก็เป็นการใช้อำนาจของประชาชน เพื่อบอกให้รัฐบาลรับรู้ และเป็นกระจกสะท้อนในการตัดสินใจนโยบายสาธารณะ
2.สิทธิชุมชน ขณะนี้กำลังถูกละเมิดเกี่ยวกับอำนาจการใช้ประโยชน์และจัดการทรัพยากร ทั้งกรณีเหมืองแร่ทองคำ การสำรวจปิโตรเลียม หรือเขตเศรษฐกิจพิเศษ ล้วนไม่อยู่บนพื้นฐานการพัฒนาที่สมดุล ฉะนั้น การพัฒนาที่มั่นคงไม่เฉพาะรัฐฝ่ายเดียว แต่เป็นความมั่นคงของประชาชน ซึ่งเป็นอำนาจที่แท้จริงด้วย
3.สิทธิทางวัฒนธรรม เหตุการณ์ระเบิดแยกราชประสงค์ ตอกย้ำให้เห็นว่า ปัญหาการจัดการด้านวัฒนธรรม ซึ่งขณะนี้ถูกกระแสโลกาภิวัฒน์ ทำให้ข้ามคน ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ข้ามวัฒนธรรม และชาติ ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ การเมือง ฉะนั้นวิกฤตทางวัฒนธรรมมีความสำคัญ รัฐจึงต้องยอมรับวัฒนธรรมมีความหลากหลาย สังคมไม่ใช่รัฐชาติเดียว แต่สังคมเป็นรัฐที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม