สมศ. ประเมินพบการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่ผ่านรับรอง 12,468 แห่ง
ผอ.สมศ.เผยผลการศึกษาทั่วประเทศทุกระดับ ทุกประเภท ตลอด15 ปี พบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่ผ่านการรับรองมากสุด 37.96% ชี้ปัญหามาจากการขาดความต่อเนื่องเชิงนโยบาย กำกับเชิงปริมาณ และขาดการควบคุมคุณภาพ
วันที่ 14 ตุลาคม 2558 สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือสมศ. จัดงานประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ประจำปี พ.ศ.2558 ภายใต้หัวข้อ "ก้าวข้ามขีดจำกัด สู่สหัสวรรษแห่งคุณภาพ" เพื่อรายงานผลการดำเนินงานในรอบ 15 ปี ของสมศ. ณ ห้อง EH103 ศูนย์ประชุมไบเทคบางนา
พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน ซึ่งการศึกษาจะเป็นส่วนสำคัญที่จะพัฒนาศักยภาพของคนและเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้จะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการประเมินเพื่อลดภาระให้กับครูในสถาบันการศึกษา โดยจะคุยกับกระทรวงศึกษาธิการและสถานศึกษาต้นสังกัดเพื่อกำหนดกรอบ KPI ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด พร้อมทั้งพัฒนาเกณฑ์การประเมินคุณภาพภายในและภายนอกให้สอดคล้องกัน อย่างไรก็ตามการประเมินรอบที่ 4 ที่จะมีขึ้น เกณฑ์การประเมินน่าจะออกมาเร็วๆนี้ และยืนยันว่าจะไม่สร้างภาระให้กับโรงเรียนหรือครูผู้สอนจนเกินไปแน่นอน
ด้านศาสตราจารย์ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสมศ. กล่าวถึงการประเมินคุณภาพการศึกษาตลอดระยะเวลา 15 ปี ว่า ในสถานศึกษาทุกระดับ ทุกประเภท กว่า 60,000 แห่งทั่วประเทศ พบว่า การศึกษาขั้นพื้นฐานมีสถานศึกษาที่รับการรับรองมาตรฐาน จำนวน 20,376 แห่ง หรือคิดเป็น 62.04% ไม่ผ่านการรับรอง 12,468 แห่ง หรือ 37.96% อาชีวศึกษาผ่านการรับรอง 622 แห่ง หรือ 79.54% ไม่ผ่านการรับรอง 160 แห่ง หรือ 20.46% และระดับอุดมศึกษาผ่านการรับรอง 253 แห่ง คิดเป็น 66.92% ไม่ผ่านการรับรอง 4แห่ง หรือ1.54% โดยทางสมศ.ได้จัดส่งผลการประเมินทั้งหมดให้สถานศึกษาต้นสังกัด และรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย เพื่อสะท้อนปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
ดร.ชาญณรงค์ กล่าวถึงปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาในระบบการศึกษาไทยจากที่ทำการประเมินมานั้น มีสาเหตุดังนี้ คือ1.การขาดความต่อเนื่องเชิงนโยบาย ที่ระบบการบริหารประเทศยึดหลักตามผู้บริหาร รูปแบบการศึกษาของไทยจึงถูกปรับเปลี่ยนตามแนวคิดของผู้บริหารในแต่ละช่วง ส่งผลให้นโยบายด้านการศึกษาไม่ได้รับการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ขาดโรดแมพ การบริหารการศึกษาในระยะยาว 2.การขาดการกำกับเชิงปริมาณ เช่นเปิดหลักสูตรเพื่อตอบสนองความต้องการขอองผู้เรียนมากกว่าความจำเป็นและความต้องการของสังคม และ3.การขาดการควบคุมคุณภาพ การจัดการศึกษามุ่งเน้นไปในเชิงธุรกิจ การศึกษากลายเป็นสินค้าเพื่อตอบสนองผู้เรียน คุณภาพอาจารย์และหลักสูตรไม่เอื้อต่อการผลิตบัณฑิตอุดมศึกษาที่มีคุณภาพ
สำหรับแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าว ผอ.สมศ. กล่าวว่า สถานศึกษาต้องทำให้การประกันคุณภาพกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร โดยมี3 แนวทาง คือ 1.การพัฒนาคุณภาพการศึกษา 2.การส่งเสริมตุณภาพการศึกษา 3.กรอบการประกันคุณภาพการศึกษา หากครู หรือสถานศึกษาสามารถทำได้ ทั้ง 3 ข้อ ก็จะสามารถก้าวข้ามขีดจำกัด จากปัญหาก็จะกลายเป็นประสบการณ์และข้อค้นพบที่ดี