นพ.อำพล ไขวิวาทะ "สุขภาวะ" แบบไหนสอดคล้องกับบริบทโลก-พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ 2550
“วันนี้การจะกลับมามองกระบวนทัศน์เรื่องสุขภาพเป็นแค่เรื่องเจ็บป่วย หรือมองแบบแคบๆ มองเรื่องเดิมๆ ไม่ได้อีกแล้ว เราก้าวไปไกลมาก องค์การอนามัยโลกก็ยกย่องการทำงานของไทย หากยังยึดติดกับกระบวนทัศน์เดิมๆ จะไม่มีทางเอาชนะเรื่องสุขภาพได้เด็ดขาด เพราะการมีแค่เพียงความรู้ หรือการเข้าถึงบริการที่ดีได้ ไม่เพียงพออีกต่อไป”
จากกรณีมีการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดย"พล.อ.ชาตอุดม ติตถะสิริ ประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ในฐานะ "ฝ่ายตรวจสอบ" ออกมาให้สัมภาษณ์กับสือมวลชน พบมีบางโครงการที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาวะ จนเกิดกระแสว่า สสส.ใช้เงินไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของกองทุน
ขณะที่ทางสสส. ออกมายืนยันการใช้งบประมาณไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ โดยยึดตามวัตถุประสงค์ทั้ง 6 ข้อ และกฎบัตรออตตาวา ซึ่งเป็นการตีความตามหลักสากล
ประเด็นที่มีการมองว่า สสส. ตีความคำว่า สุขภาพ สุขภาวะกว้างเกินไป นำมาซึ่งทำให้ สสส.ให้ทุนผิดวัตถุประสงค์นั้น สำนักข่าวอิศรา สัมภาษณ์ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ถึงกฎบัตรออตตาวา เริ่มขึ้นมาตั้งแต่พ.ศ.2529 ซึ่งเป็นการส่งเสริมสุขภาพที่มีการประชุมต่อเนื่องเป็นระยะๆ เกิดจาการส่งเสริมเรื่องสุขภาพในประเทศแคนนาดา ซึ่งกลุ่มประเทศสมาชิกก็ใช้กฎบัตรนี้มาโดยตลอด
"กฎบัตรออตตาวา เป็นการให้คำนิยามเรื่องสุขภาวะแบบกว้างที่ไม่ได้เจาะจงเฉพาะเรื่องเจ็บไข้ได้ป่วย และเป็นการส่งเสริมนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพไม่ใช่แค่นโยบายสาธารณสุขเพียงอย่างเดียวแต่ต้องคำนึงไปถึงการพัฒนาด้านนโยบายต่างๆด้วย"
นพ.อำพล อธิบายถึงกฎบัตรออตตาวาชาร์เตอร์นั้น มีอยู่ 5 ข้อ
1.การพัฒนานโยบายสาธารณสุขเพื่อสุขภาพ ซึ่งเป็นการส่งเสริมเรื่องการทำงานสร้างเสริมสุขภาพ
2.การสร้างความเข้มแข็งเพื่อชุมชน
3.การสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี ส่งเสริมให้สภาพแวดล้อมเอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดี
4.พัฒนาทักษะด้านสุขภาพส่วนบุคคล
5.ปรับปรุงระบบบริการให้สอดคล้องกับการสร้างเสริมสุขภาพ
"ผมว่า คำกล่าวอ้างของสสส.ถูกต้อง" เลขาธิการสช. ระบุ และเห็นว่า ประเทศไทยได้นำแนวคิดขององค์การอนามัยโลกมาขับเคลื่อนเรื่องสุขภาวะ จนเกิดเป็นพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 และได้เปิดกรอบวิธีคิดใหม่แบบกว้างว่า
"สุขภาพ"หมายถึง สุขภาวะที่สมบูรณ์และเชื่อมโยงกันเป็นองค์รวมอย่างสมดุล ทั้งทางกาย ทางจิต ทางสังคม และทางจิต วิญญาณสุขภาพมิได้หมายถึงเฉพาะความไม่พิการและการไม่มีโรคเท่านั้น
"สุขภาพ"จึงเป็นเรื่องของทุกคนทุกภาคส่วนในสังคม ไม่ใช่เฉพาะด้านการแพทย์และสาธารณสุขเท่านั้นและวางกลไกการทำงานให้ทุกฝ่ายในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมคิด ร่วมทำร่วมผลักดันนโยบายสาธารณะต่าง ๆ ที่มีผลต่อสุขภาพโดยกระทรวงสาธารณสุขยังคงเป็นหน่วยงานหลักของรัฐบาลในการดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขภายใต้การเสนอแนะนโยบายและยุทธศาสตร์จากคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเรียกโดยย่อว่า "คสช."
นพ.อำพล กล่าวอีกว่า การขับเคลื่อนแนวคิดที่เรากำลังทำคือการขับเคลื่อนที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพไปกับทุกนโยบาย ที่ไม่ได้หมายถึงแค่นโยบายทางด้านสาธารณะสุข แต่เป็นทุกนโยบายในสังคม เพราะนโยบายทุกอย่างมีผลพวงต่อสุขภาพทั้งสิ้น
"เรื่องที่ถกเถียงกันวันนี้จึงเป็นการมองกระบวนทัศน์คนละแบบ”
นพ.อำพล ยังเห็นด้วยว่า วันนี้จะกลับมามองกระบวนทัศน์เรื่องสุขภาพเป็นแค่เรื่องเจ็บป่วย หรือมองแบบแคบๆ มองเรื่องเดิมๆไม่ได้อีกแล้ว เราก้าวไปไกลมากแล้ว และองค์การอนามัยโลกก็ยกย่องการทำงานของเรา หากยังยึดติดกับกระบวนทัศน์เดิมๆ จะไม่มีทางเอาชนะเรื่องสุขภาพได้เด็ดขาด เพราะการมีเพียงความรู้ หรือการเข้าถึงบริการที่ดีได้ไม่เพียงพออีกต่อไป
"ปัญหาสุขภาพเกิดจากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่อยู่รอบๆ ตัวมนุษย์ เช่นนโยบายด้านการลงทุน หรือการพัฒนาประเทศ เมื่อมีนโยบายเหล่านี้ย่อมมีผลกระทบเกิดขึ้นต่อสุขภาพของคนในสังคม ฉะนั้นการส่งเสริมจึงต้องเป็นการส่งเสริมแนวใหม่ คือจัดให้เป็นนโยบายสาธารณะของการมีส่วนร่วม ทำนโยบายให้ดี ทำสภาพแวดล้อมให้ดี การปฏิบัติงานของสสส.จึงเป็นการปฏิงานที่เดินมาถูกทาง ซึ่งไม่ใช่การทำงานที่สอดคล้องกับกฎบัตรออตตาวาชาร์เตอร์อย่างเดียว แต่การทำงานของสสส.ยังสอดคล้องกับพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติพ.ศ.2550 อีกด้วย"