ม.ศิลปากรเปิดตัวกราฟีตี้สร้างศิลปะค้านโครงการริมน้ำเจ้าพระยา 20 เมตร
มหาวิทยาลัยศิลปากรติดตั้งภาพกราฟีตี้ถ่ายทอดความสูญเสียของโครงการริมน้ำเจ้าพระยาเป็นระยะทาง 20 เมตร บริเวณกำแพงวังท่าพระ หวังกระตุ้นสังคมสร้างการมีส่วนร่วมในการออกแบบ เล็งอีก 2 สัปดาห์พานักศึกษาลงพื้นที่ใช้ศิลปะแขนงอื่นจัดนิทรรศการ รณรงค์ต่อเนื่อง
วันที่ 12 ตุลาคม 2558 มหาวิทยลัยศิลปากร จัดงานเปิดบ้านศิลปากร ทั้งนี้ในช่วงบ่ายมีการติดตั้งภาพกราฟีตี้ของนักศึกษาคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร เพื่อแสดงออกกับการไม่เห็นด้วยกับโครงการริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีผศ.ชัยชาญ ถาวรเวช อธิการบดีม.ศิลปากร และอาจารย์อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ คณบดีจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มาร่วมติดตั้งภาพกราฟฟีตี้ด้วย บริเวณกำแพงหน้ามหาวิทยาลัย
ผศ.ชัยชาญ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยศิลปากรมีชื่อเสียงในด้านศิลปะจึงอยากใช้ศิลปะเป็นแนวคิดในการสื่อสารต่อสังคมว่าหากมีการสร้างโครงการริมน้ำเจ้าพระยาทัศนียภาพใดจะหายไปบ้าง โดยจะตั้งภาพกราฟีตี้ผลงานของนักศึกษาที่มาร่วมกันวาดประมาณ 10 คน ตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม ยาวไปจนถึงช่วงปีใหม่ การทำกิจกรรมในครั้งนี้ทำในฐานะที่มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นมหาวิทยาลัยที่ส่งเสริมและสนับสนุนด้านศิลปวัฒนธรรม หากนิ่งเฉยต่อโครงการนี้ก็อาจจะใช้ชื่อมหาวิทยาลัยว่าศิลปกรไม่ได้
อธิการบดีม.ศิลปากร กล่าวอีกว่า การคัดค้านโครงการริมน้ำเจ้าพระยานั้น ส่วนใหญ่บุคคลากรทางด้านสถาปัตยกรรมล้วนไม่เห็นด้วยกับรูปแบบของโครงการ ที่สำคัญคือจำนวนเงินที่นำมาลงทุนตลอดระยะทาง 14 กิโลเมตร ที่ไม่มีความชัดเจน หากรัฐบาลมีความจริงใจก็ต้องกล้าที่จะบอกว่าประโยชน์ตลอดระยะทาง 14 กิโลเมตรมีอะไรบ้าง นอกจากนี้แม้โครงการดังกล่าวจะอ้างว่าเป็นโครงการที่ไม่อยู่ในขอบข่ายที่จะต้องทำรายงานด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่เมื่อโครงการดังกล่าวกำลังจะสร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นกับคนในชุมชน แม้จะไม่อยู่ในขอบข่ายเนื้อหาก็ควรจะต้องทำ
“การที่เราให้เด็กนักศึกษามาร่วมกันคิด ร่วมกันวาดภาพสะท้อนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเพื่อต้องการชี้ให้เห็นว่า ทุกมหาวิทยาลัยจะต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบสังคม การสร้างสังคมเป็นบทบาทหนึ่งของมหาวิทยาลัยยิ่งเราอยู่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยายิ่งต้องทำ”
ส่วนข้อเรียกร้องที่ต้องการจะให้สถาปนิกเข้าไปมีบทบาทร่วมในการออกแบบโครงการริมน้ำเจ้าพระยามีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดหลังจากมีการเรียกร้องแต่ยังไม่มีท่าทีตอบรับจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ ผศ.ชัยชาญ กล่าวว่า ขณะนี้เหมือนทางรัฐบาลเองจะเริ่มเข้าใจและพยายามคุยกันอยู่ ซึ่งก็มีหลายกลุ่ม ทั้ง 9 คณะสถาปัตยกรรมที่ทำงานร่วมกัน มีแนวโน้มว่าอาจจะเป็นไปได้ที่ตัวแทนจากสถาปัตยกรรมหรือสถาปนิกจะได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ
อย่างไรก็ตามการถ่ายทอดโครงการริมน้ำเจ้าพระยาผ่านภาพศิลปะน่าจะเป็นอีกแรงกระตุ้นหนึ่งที่ทำให้สังคมตื่นตัว เนื่องจากเป็นมหาวิทยาลัยแรกๆที่ออกมาทำกิจกรรมลักษณะนี้ ทั้งนี้ในช่วงมีการคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม การใช้ภาพวาดค่อนข้างได้รับความสนใจจากสังคมพอสมควร ดังนั้นคิดว่าแคมเปญนี้ก็น่าจะได้รับความนิยมด้วยเช่นกัน
ด้านอาจารย์อำมฤทธิ์ กล่าวถึงภาพศิลปะกราฟีตี้ได้รับความร่วมมือจากนักศึกษาในคณะจิตกรรมฯ เป็นอย่างดี เพียงให้ข้อมูลบอกเล่าแล้วให้นักศึกษาไปตั้งโจทย์ภาพวาดว่าจะสื่อสารกับคนดูอย่างไรให้เขาเข้าใจผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากโครงการ ซึ่งงานศิลปะที่มีความยาวตามแนวกำแพง 20 เมตร จะสะท้อนถึงเรื่องราวและประวัติศาสตร์ตลอดระยะทาง 14 กิโลเมตรที่จะหายไป ส่วนความคาดหวังว่าการออกมาแสดงสัญลักษณ์ในลักษณะนี้จะได้ผลมากน้อยเพียงใดนั้น ก็อาจจะไม่ได้ผลมาก เพราะการให้ข้อมูลจะทำอย่างต่อเนื่อง โดยใน 2 สัปดาห์ต่อไปนักศึกษาจะล่องเรือริมแม่น้ำเจ้าพระยาในระยะทาง14 กิโลเมตรที่จะมีการสร้างถนนขึ้น เพื่อถ่ายภาพ และใช้ศิลปะแขนงอื่นๆร่วม และนำมาจัดเป็นนิทรรศการกาลอีกครั้ง
“การบอกกล่าวเรื่องราว รณรงค์ หรือให้ข้อมูล จะทำครั้งเดียวไม่ได้ เราต้องทำอย่างต่อเนื่อง หลายคนในมหาวิทยาลัยติดตามข่าวก็ล้วนไม่เห็นด้วยกับรูปแบบของโครงการ ยิ่งตัวท่านอธิการบดีในฐานะที่อยู่คณะสถาปัตยกรรมยิ่งมีความเข้าใจและทราบผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นจึงต้องการกระตุ้นให้นักศึกษาออกมาใช้ความรู้และศิลปะซึ่งเป็นชื่อเสียงมหาวิทยาลัยมาช่วยสังคม”