กฤษฎีกาชี้นายกฯบางเมือง-สมุทรปราการลาออกได้แม้ถูก ม.44 ระงับปฏิบัติหน้าที่
กฤษฎีกาตีความ "นายกเทศมนตรีตำบลบางเมือง" ลาออกได้ หลังถูก คสช. ใช้ ม.44 ระงับการปฏิบัติหน้าที่ ชี้ไม่เกี่ยวข้องกับการถูกสอบสวน ผู้ว่าฯยับยั้งไม่ได้
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เผยแพร่ความเห็นทางกฎหมายกรณีสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี มีหนังสือขอความเห็นทางกฎหมาย กรณี นายประทีป ยั่งยืน นายกเทศมนตรีตำบลบางเมือง อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ซึ่งถูกสั่งให้ระงับการปฏิบัติราชการชั่วคราว ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 16 /2558 (อ่านประกอบ : นายกฯใช้ ม.44 เชือดยกลอต"บิ๊กขรก. ล้าง ก.ท่องเที่ยว-นักการเมืองท้องถิ่น 45 ราย)ได้ยื่นหนังสือลาออกจากแหน่งต่อผู้ว่าราชการ จ.สมุทรปราการ แต่ถูกยับยั่งการลาออก โดยผู้ว่าราชการ จ.สมุทรปราการ เห็นว่า ไม่เป็นไปตามข้อ 3 แห่งคำสั่งดังกล่าว ประกอบกับนายประทีป อยู่ระหว่างการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวน ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุป
อย่างไรก็ตาม ปลัดกระทรวงมหาดไทย เห็นว่า ตาม พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496 เมื่อได้ยื่นหนังสือลาออกต่อผู้ว่าราชการจังหวัดแล้ว การลาออกย่อมมีผลสมบูรณ์ และในคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 16/2558 ไม่ปรากฎว่ามีหลักเกณฑ์ในการยับยั้ง
คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้พิจารณาข้อหารือของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยมีผู้เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง เห็นว่าข้อ 3 แห่งคำสั่งคสช. ที่ 16/2558 ที่กำหนดให้ผู้มีรายชื่อตามบัญชีแนบท้ายคำสั่งนี้ระงับการปฏิบัติราชการในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ดำรงตำแหน่งอยู่เป็นการชั่วคราวโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนจนกว่านายกฯ จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น เป็นการกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีรายชื่อตามบัญชีแนบท้ายคำสั่งระงับการปฏิบัติราชการเป็นการชั่วคราวแต่เพียงประการเดียว เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบของสำนักงาน ป.ป.ช., ป.ป.ท. และ สตง. โดยไม่มีบทกำหนดอื่นใดให้ดำเนินการ
นอกเหนือจากนี้สำหรับความตอนท้ายที่ว่า "จนกว่านายกรัฐมนตรีจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น" นั้น มีความหมายเพียงใด ส่วนที่เกี่ยวกับการระงับการปฏิบัติราชการ และการไม่ได้รับค่าตอบแทนเท่านั้น มิได้มีข้อความใดที่จะให้อำนาจนายกรัฐมนตรีมีอำนาจไปจำกัดสิทธิใดๆ ของบุคคลใด
กรณีจึงเป็นผลเพียงว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นต้องหยุดการปฏิบัติราชการในหน้าที่เดิมเท่านั้น หากเจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าวประสงค์จะลาออกจากการดำรงตำแหน่งย่อมต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น โดยกรณีการพ้นจากตำแหน่งของนายกเทศมนตรี เพราะการลาออกนั้น มาตรา 46 ปัญจทศ (3) แห่งพ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2546 กำหนดให้มีผลเมื่อได้ยื่นหนังสือขอลาออกต่อผู้ว่าราชการจังหวัด โดยมิได้ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดจะยับยั้งการลาออกนั้นได้
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่า นายประทีปฯ ได้ยื่นหนังสือขอลาออกจากตำแหน่งต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการแล้ว การลาออกนั้นจึงสมบูรณ์และมีผลให้นายประทีปฯ พ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลบางเมือง
สำหรับข้อกังวลของผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการที่เกรงว่าหากยอมให้นายประทีปลาออกแล้ว จะมีผลต่อการดำเนินการสอบสวนที่กำลังดำเนินการอยู่นั้น เห็นว่าการลาออกจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีดังกล่าว ไม่มีผลเป็นการตัดอำนาจการดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงหรือตรวจสอบเพื่อพิจารณาเหตุพ้นจากตำแหน่งแต่อย่างใด
(อ่านประกอบ : http://web.krisdika.go.th/data/comment/comment2/2558/c2_1531_2558.tif)