ความท้าทายของแม่ทัพภาค 4 คนใหม่
ผ่านไปหลายวันแล้ว สำหรับพิธีรับ-ส่งหน้าที่ "แม่ทัพภาคที่ 4" ระหว่าง พลเอกปราการ ชลยุทธ อดีตแม่ทัพ ที่ขยับขึ้นไปเป็นรองเสนาธิการทหาร กองทัพไทย กับ พลโทวิวรรธน์ ปฐมภาคย์ แม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่
พิธีจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ที่ลานหน้าศาลาพิณประเสริฐ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี โดยมีกำลังพล ผู้นำส่วนราชการทุกหน่วย และกลุ่มพลังมวลชนจำนวนมากเข้าร่วม
หลังเสร็จพิธี พลเอกปราการ พร้อมด้วย พลโทวิวรรธน์ ได้ไปพบปะกับกลุ่มพลังมวลชนที่มาร่วมแสดงความยินดีอย่างเป็นเอง โดยกลุ่มพลังมวลชนได้มอบดอกไม้และกระเช้าดอกไม้ ทั้งเพื่อแสดงความยินดีกับแม่ทัพคนใหม่ และร่ำลาอาลัยแม่ทัพคนเก่า
พลเอกปราการ กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนตำแหน่ง จริงๆ แล้วเป็นเรื่องปกติ แต่เนื่องจากพื้นที่นี้เป็นพื้นที่พิเศษที่พี่น้องประชาชนมีความเอ็นดูและให้ความสำคัญในการปรับเปลี่ยนผู้บังคับหน่วย ทำให้เห็นว่าสิ่งที่ดำเนินการในห้วงที่ผ่านมา ทำให้พี่น้องประชาชนมีความมั่นใจและเข้าใจตามแนวทางการเมืองนำการทหาร เชื่อมั่นว่าจากความร่วมมือของพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วนจะทำให้แม่ทัพภาค 4 คนใหม่สามารถนำความสันติสุขกลับคืนสู่พื้นที่ได้ในเร็ววัน
ขณะที่ พลโทวิวรรธน์ กล่าวสั้นๆ ว่า จะดำเนินการตามนโยบายที่แม่ทัพท่านเก่าได้วางเอาไว้
ประวัติแม่ทัพวิวรรธน์
สำหรับประวัติโดยละเอียดของ พลโทวิวรรธน์ เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 16 (ตท.16) นักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ารุ่นที่ 27 (จปร.27) เกิดเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2499 เป็นบุตรของ นายเปล่ง และ นางจันทร์ฉาย ปฐมภาคย์ สมรสกับ นางศรีกฤษ ปฐมภาคย์ มีบุตรด้วยกัน 2 คน
เมื่อ พลโทวิวรรธน์ สำเร็จการศึกษาเมื่อปี 2523 ได้เลือกรับราชการในเหล่าทหารราบ ในตำแหน่งผู้บังคับหมวดปืนเล็ก กองร้อยอาวุธเบา กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 5 จังหวัดปัตตานี จึงนับว่าเป็น "ลูกหม้อ" และ "คนใน" ของกองทัพภาคที่ 4 อย่างแท้จริง
ผลงานเด่นด้านยุทธการ พลโทวิวรรธน์ เมื่อครั้งครองยศร้อยตรี เมื่อปี 2524 เคยนำกำลังเข้าปราบปรามขบวนการโจรก่อการร้ายคอมมิวนิสต์มลายา (จคม.) และขบวนการโจรก่อการร้าย (ขจก.) ซึ่งมีฐานที่มั่นใหญ่ในพื้นที่ป่าเขา มีการเคลื่อนไหวอย่างเข้มแข็ง และสร้างความเดือดร้อนให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่
ปี 2546 ได้ปะทะกับกลุ่มกองกำลังโจรก่อการร้ายในขณะนั้นถึง 54 ครั้ง ทำให้สมาชิกกลุ่มโจรเสียชีวิต 29 คน ยึดอาวุธสงครามได้ 30 กระบอก ยึดค่ายพัก 2 แห่ง และสามารถชักชวนผู้หลงผิดเข้าเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยได้เป็นจำนวนมาก
พลโทวิวรรธน์ ยังได้รับการยอมรับจากภาคส่วนต่างๆ โดยมีผลงานเชิงประจักษ์ที่สำคัญ เช่น ผู้บังคับกองร้อยทหารราบดีเด่น เมื่อปี 2529 ข้าราชการดีเด่น สาขาความมั่นคงของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้รับพระราชทานเกียรติบัตรจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อปี 2541 นอกจากนั้น ยังได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้บังคับการกรมทหารพรานดีเด่น เมื่อปี 2543 และได้รับรางวัลบุคคลตัวอย่างแห่งปี สาขาส่งเสริมพัฒนาความมั่นคง ประจำปี 2548
ในขณะที่เส้นทางรับราชการก็มีความเจริญก้าวหน้ามาตามลำดับ โดยได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ อาทิ ผู้บังคับกองพันพัฒนาที่ 4 เมื่อปี 2538 ผู้บังคับการกรมทหารพรานที่ 43 เมื่อปี 2540 ผู้อำนวยการกองกิจการพลเรือน กองทัพภาคที่ 4 เมื่อปี 2546 ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกปัตตานี เมื่อปี 2547 และขึ้นครองยศเป็นพลตรีในตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15 เมื่อปี 2555
จากนั้นได้เลื่อนตำแหน่งเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 4 เมื่อปี 2557 โดยขณะปฏิบัติหน้าที่ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในภารกิจสำคัญ ทั้งในเรื่องการถวายความปลอดภัย งานพัฒนาคุณภาพชีวิตตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้วางรากฐานการจัดตั้งกองกำลังทหารพรานให้มีความเข้มแข็งภายใต้แนวคิด "คุณธรรม อุดมการณ์ คือหัวใจทหารพรานเพื่อประชาชน"
นอกจากนั้น ยังได้เสริมสร้างความพร้อมรบให้กองพลทหารราบที่ 15 ให้มีศักยภาพในการปฏิบัติงานและรับผิดชอบพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพในปัจจุบัน
พลโทวิวรรธน์ ใช้หลักคิดในการปฏิบัติงานภายใต้ยุทธศาสตร์พระราชทาน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา และรู้รักสามัคคี ทำให้เข้าใจปัญหา เข้าใจประชาชน และเข้าใจระบบการทำงานอย่างลึกซึ้ง จนเป็นที่ยอมรับจากทุกภาคส่วน ซึ่งผลจากการดำเนินการดังกล่าว ส่งผลให้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558
ความท้าทายของแม่ทัพคนใหม่
การขึ้นดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 ของ พลโทวิวรรธน์ ในห้วงที่สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังจะครบ 12 ปีเต็ม นับว่าท้าทายอย่างมาก เพราะภูมิทัศน์ของปัญหาและแนวทางการแก้ไข เปลี่ยนแปลงไปพอสมควร กล่าวคือ
1.ห้วงเวลานี้ เป็นจังหวะเวลาของการเดินหน้ากระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นการพูดคุยแบบ "เปิดหน้า-เปิดตัว" รอบที่ 2 ในระยะเวลา 3 ปี แม้จะไม่ต่อเนื่องกัน เพราะรอบแรกเปิดโต๊ะพูดคุยในเมื่อปี 2556 ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขณะที่รอบปัจจุบันเปิดโต๊ะพูดคุยภายใต้รัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่เมื่อการพูดคุยเริ่มต้น สิ่งที่จะเกิดตามมาก็คือ
- แรงกดดันในทางยุทธการ เพราะการใช้กำลังและอาวุธในบางบริบทอาจนำไปสู่การขยายผลบนโต๊ะพูดคุย จนอาจทำให้ฝ่ายรัฐบาลเสียเปรียบได้ ฉะนั้นการประสานงานระหว่างคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯฝ่ายรัฐบาล กับแม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (ผอ.รมน.ภาค 4) จึงสำคัญมาก หากประสานกันไม่ดี ไม่มีความเป็นเอกภาพ โอกาสที่การพูดคุยจะถูกใช้เพื่อยุติความรุนแรง อาจกลายเป็นชนวนการสร้างความรุนแรงให้ขยายวงมากขึ้นได้
- เมื่อการพูดคุยเดินหน้าไป ย่อมมีการก่อเหตุรุนแรงมากขึ้นจากกลุ่มที่คัดค้านกระบวนการพูดคุย หรือแม้แต่กลุ่มคนที่ได้ประโยชน์จากความรุนแรง
- แม่ทัพอาจไม่มีอิสระในการดำเนินนโยบายแก้ไขปัญหาในพื้นที่มากนัก เพราะถูกคุมทิศทางด้วยนโยบายจากส่วนกลาง ทั้งการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ และนโยบายด้านอื่นๆ
2.การดำรงตำแหน่งแม่ทัพต่อจาก พลเอกปราการ ซึ่งสร้างผลงานไว้จนเป็นที่ยอมรับ โดยเฉพาะจากภาคประชาสังคม และมีจุดเด่นเรื่องการสร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชนในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบ ผ่านแนวคิด "ทุ่งยางแดงโมเดล" ซึ่งประสบความสำเร็จพอสมควร อาจกลายเป็นแรงกดดันในการทำงานของ พลโทวิวรรธน์ ได้เหมือนกันว่าจะสานต่อความสำเร็จได้มากน้อยแค่ไหน
ขณะที่อดีตแม่ทัพอีกท่านหนึ่งที่มีบทบาทโดดเด่น คือ พลเอกอุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ ก็มีโครงการ "พาคนกลับบ้าน" ที่เป็นดั่ง "จุดขาย" หรือ "ผลงานชิ้นโบแดง" ทำให้หลายคนเฝ้ารอว่า พลโทวิวรรธน์ จะมีโครงการหรือผลงานเด็ดๆ อะไรของตนเองออกมาบ้าง เพื่อสร้างภาพจำในฐานะแม่ทัพภาคที่ 4
ที่สำคัญยังเป็นแม่ทัพภาคที่ 4 ลูกหม้อของกองทัพภาคใต้ตัวจริงเสียงจริง ซึ่งดำรงตำแหน่งต่อจากแม่ทัพที่มาจากนอกพื้นที่ต่อเนื่องกันถึง 3 คน นโยบายหรือจุดขายของแม่ทัพวิวรรธน์ จึงกำลังถูกเฝ้ามองอย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ดี ในอีกมุมหนึ่งก็มีบางฝ่ายมองว่า เป็นความได้เปรียบของแม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่ ที่ได้ร่วมงานกับอดีตแม่ทัพที่เก่งๆ มาแล้วหลายคน ซึ่งหากหยิบจุดเด่นและโครงการดีๆ ของอดีตแม่ทัพแต่ละคนมาต่อยอดอย่างมียุทธศาสตร์ ก็น่าจะทำให้สภาพปัญหาโดยรวมดีขึ้นได้ไม่ยาก
3.การปรับกำลังของหน่วยยุทธการในพื้นที่ จากเดิมที่ใช้กำลังพลจากกองทัพภาคที่ 1 กองทัพภาคที่ 2 และกองทัพภาคที่ 3 รับผิดชอบพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้กองทัพละจังหวัด กล่าวคือ กองทัพภาคที่ 1 รับผิดชอบจังหวัดนราธิวาส (ร่วมกับนาวิกโยธินกองทัพเรือ) กองทัพภาคที่ 2 รับผิดชอบจังหวัดปัตตานี และกองทัพภาคที่ 3 รับผิดชอบจังหวัดยะลา
ปัจจุบันได้มีการถอนกำลังจากกองทัพภาคอื่นไปมากแล้ว โดยเฉพาะกองทัพภาคที่ 2 แล้วส่งมอบให้กองทัพภาคที่ 4 ดูแลพื้นที่จังหวัดปัตตานีแบบ 100% โดยใช้กำลังพลจากกองพลทหารราบที่ 15 (พล.ร.15) แม้จะมีกรมทหารพรานที่ 22 จากกองทัพภาคที่ 2 ร่วมรับผิดชอบพื้นที่ด้วย แต่ก็ขึ้นทางยุทธการกับทัพภาค 4
การรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่จังหวัดปัตตานี จึงเป็นความท้าทายที่สำคัญยิ่งของ พลโทวิวรรธน์ ในฐานะแม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.รมน.ภาค 4
ขณะเดียวกัน กำลังของทัพ 4 ยังมีกระจายอยู่ในทุกพื้นที่ คือ กองกำลังทหารพรานเลข 2 ตัวที่ขึ้นต้นด้วย 4 ทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันมีถึง 9 กรม คือ กรมทหารพรานที่ 41-49 และยังมีกรมทหารพรานจากกองทัพภาคที่ 1-3 อีกกองทัพละกรม (กรมทหารพรานที่ 11-22-33) แต่ขึ้นทางยุทธการกับกองกำลังทหารพรานจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมมีกำลังถึง 12 กรมทหารพราน 172 กองร้อย กับอีก 9 หมวดทหารพรานหญิง
จะเห็นได้ว่าความรับผิดชอบของกองทัพภาคที่ 4 แทรกลงไปในทุกอณูของพื้นที่อย่างแท้จริง ฉะนั้นความสำเร็จของงานยุทธการจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นสำคัญ ซึ่งแตกต่างจากยุคก่อนๆ อย่างชัดเจน
ณ วันนี้ สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ดำเนินมาถึง 12 ปี ความสำเร็จของการแก้ปัญหาในสายประชาชนจึงเหลือเพียงคำตอบเดียว คือ "พื้นที่ต้องสงบ" เท่านั้น
จึงนับเป็นงานยากและท้าทายอย่างยิ่งของแม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่นาม พลโทวิวรรธน์ ปฐมภาคย์
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : พลโทวิวรรธน์ ปฐมภาคย์ (ขวา) ในพิธีส่งมอบหน้าที่แม่ทัพภาคที่ 4 จาก พลเอกปราการ ชลยุทธ (ซ้าย)